ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ ๑๑๓
มหาราหุโลวาทสูตร
เรื่องพระราหุล
[๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ครอง อันตราวาสก แล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถี เวลาเช้า.
แม้ท่านพระราหุลก็ครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรและจีวรตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์.
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกะท่านพระราหุลว่า
ดูกรราหุล
รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง
(๑) เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน
(๒) เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี
(๓) หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี
(๔) เลวก็ดี ประณีตก็ดี
(๕) อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี
รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้.
พระราหุลทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่พระสุคต รูปเท่านั้นหรือ ?
พ. ดูกรราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ.
[๑๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาค ทรงโอวาท ด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์ แล้วจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า ดังนี้แล้ว กลับจากที่นั้นแล้วนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง.
ท่านพระสารีบุตร ได้เห็นท่านพระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วบอกกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคล เจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์?
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ธาตุ ๕ (ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสธาตุ)
[๑๓๕] ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตนเป็นของ หยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็น ภายใน. (ธาตุดิน-ของแข็ง) ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็น ปฐวีธาตุ เหมือนกัน.
ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้.
เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญา อันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดใน ปฐวีธาตุ.
[๑๓๖] ดูกรราหุล ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? (ธาตุน้ำ-ของเหลว ) อาโปธาตุเป็นภายใน ก็มี เป็นภายนอกก็มี.
ก็อาโปธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็น ภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะ เอิบอาบอันกรรม และกิเลสเข้าไป ยึดมั่น คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมันน้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโปมีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไป ยึดมั่น นี้เราเรียกว่า อาโปธาตุเป็นภายใน. ก็อาโปธาตุเป็น ภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อาโปธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ เหมือนกัน.
อาโปธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญา อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัด ในอาโปธาตุ.
[๑๓๗] ดูกรราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน?(ธาตุไฟ-ความร้อน) เตโชธาตุ เป็นภายใน ก็มี เป็นภายนอกก็มี.ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อนอันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกาย ให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกาย ให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหาร ที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่า เตโชธาตุ เป็นภายใน.
ก็เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดีอันใด เตโชธาตุนั้น เป็น เตโชธาตุ เหมือนกัน.
เตโชธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญา อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อม เบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดใน เตโชธาตุ.
[๑๓๘] ดูกรราหุล วาโยธาตุเป็นไฉน? (ธาตุลม) วาโยธาตุเป็นภายใน ก็มี เป็นภายนอกก็มี.ก็วาโยธาตุเป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็น วาโย มีลักษณะ พัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตนเป็นวาโย พัดไปมา อันกรรมและ กิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าวาโยธาตุเป็นภายใน. ก็วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ เหมือนกัน.
วาโยธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้.
เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญา อันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดใน วาโยธาตุ.
[๑๓๙] ดูกรราหุล ก็อากาสธาตุเป็นไฉน?(ช่องว่างในรางกาย)อากาสธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี. อากาสธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็น ภายใน อาศัยตนเป็น อากาศ มีลักษณะว่างอันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กินที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่างหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะไม่ทึบ เป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อ และเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรม และ กิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่า อากาสธาตุ เป็นภายใน.
ก็อากาสธาตุเป็นภายใน ก็ดี เป็นภายนอกก็ดีอันใด อากาสธาตุนั้น เป็นอากาศธาตุ เหมือนกัน.
อากาสธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้.
เพราะบุคคล เห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอากาสธาตุ.
-
|