เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นกายในกาย 6 นัยยะ 721
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นกายในกาย

นัยยะที่ 1. อานาปานบรรพ (ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกคือกายหนึ่งในกายทั้งหลาย)

นัยยะที่ 2. อิริยาปถบรรพ (รู้อิริยาบถ เดินก็รู้ว่าเดิน คือพิจารณาเห็นกาย)

นัยยะที่ 3. สัมปชัญญบรรพ (มีสัมปชัญญะ รู้การกระทำของกายทุกขณะ ในการก้าว การถอย)

นัยยะที่ 4. ปฏิกูลบรรพ (เห็นความไม่งาม ในกาย เช่น ตับ เสลด เอ็น เลือดว่า เป็นของไม่สะอาด)

นัยยะที่ 5. ธาตุบรรพ (พิจารณาเห็นความเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม )

นัยยะที่ 6. นวสีวถิกาบรรพ (เห็นเป็นของเน่า เป็นซากศพ เป็นกองกระดูกในป่าช้า เป็นของธรรมดา ที่สุดเราก็จะเป็นเช่นนี้)
           6.1) เปรียบเหมือนภิกษุ เห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง ผีสีเขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองไหลน่าเกลียด
           6.2) เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระในป่าช้า อันฝูงกาจิกกิน อยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุม จิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัข จิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง
           6.3) เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด เรี่ยรายไปในทิศน้อยทิศ ใหญ่ คือกระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทาง
                 เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็น อย่างนี้ไปได้
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๗๓ – ๗๗

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นกายในกาย

อานาปานบรรพ (ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกคือกาย)


                [๑๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไร เล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า.

เธอมีสติ หายใจออก มีสติ หายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว.
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจ เข้าสั้น.

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก.
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก. ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า.

นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ฉลาด
เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว.
เมื่อชักเชือกกลึงสั้นก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด.

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว.
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว.
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น.
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น.

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก.
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า.

ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
จบ อานาปานบรรพ.

..........................................................................................................................

อิริยาปถบรรพ (รู้อิริยาบถ คือพิจารณาเห็นกาย)

[๑๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่า เรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัด ว่า เรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัด อาการอย่างนั้นๆ. ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม พิจารณาเห็นกาย ในกาย ภายในบ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.

จบ อริยาปถบรรพ.


..........................................................................................................................

สัมปชัญญบรรพ (มีสัมปชัญญะ รู้การกระทำของกายทุกขณะ)

[๑๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้กระทำสัมปชัญญะในการก้าวไปและถอยกลับ ในการ แลไปข้างหน้า และเหลียวซ้ายเหลียวขวา ในการคู้อวัยวะเข้า และเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด นิ่ง. ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
จบ สัมปชัญญบรรพ.

..........................................................................................................................

ปฏิกูลบรรพ (เห็นความไม่งาม ในกายว่า เป็นของไม่สะอาด)


[๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย นี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำและปลายผม ลงมา มีหนังสือเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการ ต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลดหนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วย ธัญญชาติต่างอย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดี แก้ไถ้นั้นแล้ว  พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลืองนี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน ฯลฯ ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
จบ ปฏิกูลบรรพ.

..........................................................................................................................


ธาตุบรรพ (พิจารณาเห็นความเป็นธาตุ)


[๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ โดยความเป็นธาตุ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมคนฆ่าโค หรือ ลูกมือของคนฆ่าโค ผู้ฉลาด ฆ่าแม่โคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วนๆ นั่งอยู่ ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามา ฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
จบ ธาตุบรรพ.

..........................................................................................................................

นวสีวถิกาบรรพ (เห็นเป็นของเน่า เป็นซากศพ เป็นกองกระดูกในป่าช้า)

 

[๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง
เปรียบเหมือนภิกษุพึงเห็น สรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่ง บ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง ผีสีเขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามา สู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดาคงเป็น
อย่างนี้ ไม่ล่วง ความเป็นอย่างนี้ ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกาย ในกายภายใน บ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.


อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกิน อยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัข จิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.


อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่าง กระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ เป็นร่างกระดูก เปื้อนเลือด แต่ปราศจาก เนื้อยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอย่ ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือด แล้ว ยังมีเส้นเอ็น ผูกรัดอยู่ ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศน้อยทิศใหญ่ คือกระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไป ทางหนึ่ง กระดูกข้อสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไป ทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง

เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ดังพรรณนามา ฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณา เห็นกายในกายอยู่.


อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูก มีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์... เป็นกระดูก เป็นกองเรี่ยรายแล้ว เก่าเกินปีหนึ่งไปแล้ว ... เป็นกระดูกผุละเอียดแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอยู่อย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนา มาฉะนี้

ภิกษุย่อม
พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด ขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่า อาศัยระลึก เท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.

จบ นวสีวถิกาบรรพ

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์