เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  สุสิมสูตร -การรู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่เกี่ยวกับการบรรลุ อภิญญา เลยก็ได้ 332  
 
 


สูตรที่ ๑๐ มหาวรรค อภิสมยสังยุต์ นิทาน. สํ. ๑๖/๑๕๑/๒๙๐ - ๓๐๔.


สุสิมสูตร
การรู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่เกี่ยวกับการบรรลุอภิญญาเลยก็ได้

(สุสิม..เข้ามาบวชกับพระศาสดาก็ต้องการมีฤทธิ์เพื่อให้ผู้คนนับถือ แต่หลังได้ฟัง คำตถาคตแล้ว รู้แจ้งแล้ว ก็เปลี่ยนใจ พร้อมกราบขอโทษพระศาสดาที่หลงผิด)

           ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่เวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ มีประชาชนเคารพ นับถือ บูชา สมบูรณ์ด้วย จีวรบิณฑบาตเสนาสนะคิลานเภสัช. ส่วนพวกปริพพาชกผู้เป็นอัญญเดียรถีย์อื่น ไม่มีประชาชนเคารพนับถือบูชา

ปริพพาชก ผู้หนึ่งชื่อสุสิมะ ได้รับคำแนะนำจากศิษย์ให้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเรียนธรรมมาสอนประชาชน โดยหวังจะให้พวกตนมีประชาชนเคารพนับถือ และสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะบ้าง

สุสิมปริพพาชกนั้น จึงเข้าไปขอบวชกะพระอานนท์ พระอานนท์ได้พาไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคเจ้า ๆ ทรงรับสั่งให้บวชให้แล้ว

สมัยนั้นภิกษุจำนวนมาก พากันพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักพระพุทธเจ้า
พระสุสิมะ ได้ยินข่าว จึงเข้าไปถามพวกภิกษุเหล่านั้น ถึงเรื่องการพยากรณ์ความเป็น พระอรหันต์ เมื่อภิกษุเหล่านั้นรับแล้ว จึงได้ถามภิกษุเหล่านั้นต่อไปถึงการบรรลุ อภิญญาต่าง ๆ คือ อิทธิวิธี ทิพพโสต เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ และอารุปปวิโมกข์

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ไม่ต้องบรรลุอภิญญาเหล่านี้ด้วย ก็บรรลุความเป็นพระ อรหันต์ได้ ด้วยปัญญาวิมุตติ พระสุสิมะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลเล่า เรื่องที่ตนสนทนากับภิกษุทั้งหลายให้ทรงสดับ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า

ดูก่อนสุสิมะ ธัมมัฏฐิติญาณ เป็นสิ่งที่เกิดก่อน ญาณในนิพพาน เป็นสิ่งที่เกิด ภายหลัง

พระสุสิมะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่รู้อย่างทั่วถึง ซึ่งเนื้อความแห่งภาษิต ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานโอกาสขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสซึ่งเนื้อความนั้น โดยประการที่ ข้าพระองค์จะพึงรู้อย่างทั่วถึง ซึ่งเนื้อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อ นี้เถิด พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เธอจะรู้อย่างทั่วถึงหรือไม่ก็ตาม ธัมมัฏฐิติญาณก็ยังเป็นสิ่งที่เกิด ก่อน และญาณในนิพพานเป็นสิ่งที่เกิดภายหลัง อยู่นั่นเอง

ดูก่อนสุสิมะ เธอจะสำคัญความข้อนี้ ว่าอย่างไร

รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

ก็สิ่งใด ไม่เที่ยง, สิ่งนั้น เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

ก็สิ่งใด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรแลหรือที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่น เป็นของเรา นั่น เป็นเรา นั่น เป็นตัวตนของเรา
ข้อนั้น ไม่สมควรเห็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า
(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร ทั้งหลาย วิญญาณ ก็มีการถามและตอบอย่างเดียวกัน).

ดูก่อนสุสิมะ เพราะเหตุนั้นแหละ ในเรื่องนี้ รูปชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีอยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้น อันเธอพึงเห็น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ ตัวตนของเรา ดังนี้
(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ ก็ได้ตรัสทำนองเดียวกันกับกรณีแห่งรูปนี้ ต่างกันเพียงชื่อเท่านั้น.)

ดูก่อนสุสิมะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป, ย่อม เบื่อหน่าย แม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในสังขาร ทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อันเราอยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้

ดูก่อนสุสิมะ เธอเห็นว่า
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ ดังนี้ใช่ไหม
อย่างนั้น พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เธอเห็นว่า
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ” ดังนี้ใช่ไหม
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
(ในกรณีแห่งอาการต่อ ๆ ไป ก็ได้ตรัสถามเช่นเดียวกันนี้ จนตลอด ปฏิจจสมุปบาท, ทั้งฝ่ายสมุทยวาร และนิโรธวาร; ล้วนแต่ได้รับคำตอบว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” จนตลอดทั้งยี่สิบสอง).

ดูก่อนสุสิมะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีมีประการต่าง ๆ เหล่านี้บ้างหรือ คือผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำที่กำบัง ให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่าง ๆ ผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินได้ เหมือนในน้ำ เดินได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งขัด สมาธิ คู้บัลลังก์ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ อันมีฤทธิ์อานุภาพมากอย่างนี้ได้ ด้วยฝ่ามือ และแสดงอำนาจทางกาย เป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้
ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียง ทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ เกินกว่า โสตของมนุษย์บ้างหรือ
ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจว่า “จิตของเขามีราคะ หรือว่าไม่มีราคะ ...ฯลฯ... จิตพ้นวิเศษ หรือไม่พ้นวิเศษ ดังนี้ บ้างหรือ
ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อน มีอย่างต่าง ๆ คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ...ฯลฯ... คือระลึกถึงขันธ์ที่ เคยอยู่ในภพก่อนมีอย่างต่าง ๆ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ บ้างหรือ
ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติอยู่... ฯลฯ...ซึ่งกำลังเป็นไปตามกรรม ด้วยจักษุอันเป็นทิพย์อันบริสุทธิ์ เกินกว่าจักษุ ของมนุษย์บ้างหรือ
ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ เธอย่อม ถูกต้องด้วยนามกาย ซึ่งอารุปปวิโมกข์ อันสงบ อันก้าวล่วงซึ่งรูปทั้งหลายเสียได้ บ้างหรือ
ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ คราวนี้ คำพูดอย่างโน้นของเธอกับการที่ (เธอกล่าวบัดนี้ว่า) ไม่ต้องมี การบรรลุถึงอภิญญาธรรมทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้ ในกรณีนี้ นี้เรา จะว่าอย่างไรกัน

ลำดับนั้นเอง ท่านสุสิมะหมอบลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้าแล้วได้กล่าวถ้อยคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ท่วมทับข้าพระองค์แล้ว ตามที่เป็นคนพาลอย่างไร ตามที่เป็นคนหลงอย่างไร ตามที่มีความคิดเป็นอกุศลอย่างไร คือข้อที่ข้าพระองค์บวชแล้วเพื่อขโมยธรรมวินัย ที่พระองค์ตรัสดีแล้วอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรับซึ่ง โทษโดยความเป็นโทษของข้าพระองค์ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด พระเจ้าข้า

เอาละ สุสิมะ โทษได้ท่วมทับเธอ ผู้เป็นคนพาลอย่างไร ผู้เป็นคนหลงอย่างไร ผู้มีความคิดเป็นอกุศลอย่างไร คือข้อที่เธอบวชแล้วเพื่อขโมยธรรมในธรรมวินัย ที่ตถาคตกล่าวดีแล้วอย่างนี้

ดูก่อนสุสิมะ เปรียบเหมือนราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแสดงแก่พระราชาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ โจรนี้ประพฤติผิดแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงอาชญา แก่โจรนี้ ตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด ดังนี้ พระราชาทรงรับสั่งกะราชบุรุษ เหล่านั้นดังนี้ว่า

ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านทั้งหลาย จงไป จงมัดบุรุษนี้ให้มีแขนในเบื้องหลัง ให้มีการ ผูกมัดที่แน่นหนาด้วยเชือก อันเหนียว แล้วโกนศีรษะเสีย พาเที่ยวตระเวนตามถนน ต่างๆ ตามทางแยกต่าง ๆ ด้วยกลองปณวะเสียงแข็ง พาออกทางประตูด้านทักษิณ แล้วจงตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของนคร ราชบุรุษมัดโจรนั้นกระทำตามที่ พระราชาได้รับสั่งแล้วอย่างไร ดูก่อนสุสิมะ เธอจะสำคัญความข้อนี้ ว่าอย่างไร บุรุษนั้นต้องเสวยทุกขโทมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ไหนหนอ
อย่างนั้น พระเจ้าข้า

ดูก่อนสุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกขโทมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ เพียงใด, แต่การ บวชของเธอเพื่อขโมยธรรม ในธรรมวินัยที่ตถาคตกล่าวดีแล้วอย่างนี้ นี้ยังมีวิบาก เป็นทุกข์ยิ่งกว่า มีวิบากเผ็ดร้อนยิ่งกว่า แล้วยังแถมเป็นไปเพื่อวินิบาต (ความฉิบหาย) อีกด้วย

ดูก่อนสุสิมะ แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญในอริยวินัยของผู้นั้น ดังนี้ แล.

 

 


   
 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์