|
หลักการทดสอบตัวเองว่าเป็นอรหันต์หรือไม่
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ -ภาคต้น หน้า 700 )
บททดสอบมี ๖ หมวด
หมวด ๑ ผัสสะสี่
หมวด ๒ อุปาทานขันธ์ ๕
หมวด ๓ ธาตุหก
หมวด ๔ อายตนะภายใน
หมวด ๕ อายตนะภายนอก
หมวด ๖ การถอนมานะ (มานานุสัย)
ภิกษุ ท. ! หลักเกณฑ์นั้นมีอยู่ ซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยแล้วไม่ต้องอาศัยความเชื่อ ความชอบใจ
การฟังตามๆกันมา การตริตรึกไปตามอาการ การเห็นว่า
มันเข้ากันได้ กับทิฏฐิของตนเลย ก็อาจพยากรณ์ การบรรลุอรหัตตผลของตนได้ โดยรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! หลักเกณฑ์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูป ด้วยตาแล้ว รู้ชัด ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเกิดมีอยู่ ในภายในว่า เกิดมีอยู่ ในภายใน รู้ชัดราคะ โทสะโมหะอันไม่เกิดมีอยู่ใน ภายใน ว่าไม่เกิดมีอยู่ในภายใน.
ภิกษุ ท. ! เมื่อเธอรู้ชัดอยู่อย่างนี้แล้ว ยังจำเป็นอยู่อีกหรือ ที่จะต้องรู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยอาศัย ความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตามๆ กันมา การตริตรึก ไปตามอาการ การเห็นว่ามันเข้ากันได้กับ ทิฏฐิของตน ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”
ภิกษุ ท. ! ธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่ต้องเห็นด้วยปัญญาแล้วจึงรู้ มิใช่หรือ ?
“ข้อนั้น เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”
ภิกษุ ท. ! นี่แหละ หลักเกณฑ์ ซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยแล้ว ไม่ต้องอาศัยความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตามๆกันมา การตริตรึก ไปตามอาการการเห็นว่ามันเข้ากันได้ กับทิฏฐิของตนเลย ก็อาจพยากรณ์การบรรลุ อรหัตตผลของตนได้ โดยรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่น ที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
(ในกรณีแห่งการ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้อง โผฏฐัพพะ ด้วยผิวกาย และ รู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจ ก็ได้ตรัส ต่อไปอีก โดย นัยอย่างเดียวกัน กับ ในกรณีแห่งการเห็นรูป ด้วยตาทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อ เท่านั้น).
คำถามที่ใช้ทดสอบความเป็นอรหันต์
(มีหกหมวด)
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ มีภิกษุพยากรณ์อรหัตตผลว่า “ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มีอีก’ ดังนี้.” ภิกษุ ท. ! พวกเธอไม่พึงรับรอง ไม่พึงคัดค้านคำกล่าว ของภิกษุนั้น.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมวด ๑ : ผัสสะสี่
(คำถามที่ใช้ทดสอบความเป็นอรหันต์ )
ครั้นพวกเธอไม่ยอมรับไม่ได้คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาว่า
“อาวุโส !โวหารสี่ประการเหล่านี้มีอยู่ อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้เห็นผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธะ ตรัสไว้แล้วโดยชอบ คือ
ความมีปกติกล่าวว่าข้าพเจ้า เห็นแล้ว (ตา) ในสิ่งที่ได้เห็น ๑
ความมีปกติกล่าวว่าข้าพเจ้า ฟังแล้ว (หู) ในสิ่งที่ได้ฟัง ๑
ความมีปกติกล่าวว่าข้าพเจ้า รู้สึกแล้ว (กายสัมผัส) ในสิ่งที่ได้รู้สึก ๑
ความมีปกติกล่าวว่าข้าพเจ้า รู้แจ้งแล้ว (ธรรมารมณ) ในสิ่งที่ได้รู้แจ้ง ๑.
อาวุโส ! ก็ท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จิตของท่าน จึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้ง หลายเพราะไม่ยึดถืด ในโวหารทั้งสี่ประการนั้น? ” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุนั้นเป็น ขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว มีภาระ ปลงลง ได้แล้ว มีประโยชน์ ตนอันตามลุถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบ แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบจริง ธรรมที่ภิกษุนั้น สมควรพยากรณ์ ย่อมมี อย่างนี้ว่า
“อาวุโส ! ในสิ่งที่เห็นแล้ว นั้น ข้าพเจ้าไม่เข้าหา ไม่ถอยหนี ไม่อาศัย ไม่ผูกพัน แต่ข้าพเจ้าพ้นจากอำนาจแห่งมัน ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดอยู่ ด้วยจิตที่ข้าพเจ้า กระทำแล้วให้เป็นจิต ปราศจากเขตแดนอยู่.
อาวุโส ! ในสิ่งที่ฟังแล้ว ก็ดี ในสิ่งที่รู้สึกแล้วก็ดี ในสิ่งที่รู้แจ้งแล้วก็ดีนั้น ข้าพเจ้า ก็ไม่เข้าหา ไม่ถอยหนี ไม่อาศัย ไม่ผูกพัน แต่ข้าพเจ้าพ้นจากอำนาจแห่งมัน ปราศจาก
กิเลสเครื่องร้อยรัด อยู่ด้วยจิตที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ให้เป็น จิตปราศจาก เขตแดนอยู่.
อาวุโส ! เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของข้าพเจ้าจึงหลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ในโวหาร ทั้งสี่เหล่านี้” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! พวกเธอพึงยินดีอนุโมทนาในคำกล่าว ของภิกษุนั้นว่า สาธุ ดังนี้.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมวด ๒ : อุปาทานขันธ์ ๕
(คำถามที่ใช้ทดสอบความเป็นอรหันต์ )
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาดังนั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป ว่า
อาวุโส! อุปาทานขันธ์ห้า เหล่านี้มีอยู่ อันพระผู้มีพระ ภาคผู้รู้ผู้เห็นผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธะ ตรัสไว้แล้วโดยชอบ คือ
รูปูปาทานขันธ์ ๑
เวทนูปาทานขันธ์ ๑
สัญญูปาทานขันธ์ ๑
สังขารูปาทานขันธ์ ๑
วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑.
ก็ท่านผู้มีอายุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จิตของท่านจึงหลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดถือ ในปัญจุปาทานขันธ์เหล่านั้น ? ” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุนั้นเป็นขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว มีภาระปลงลง ได้แล้ว มีประโยชน์ตนอัน ตามลุถึงแล้วมีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบ แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบจริง ธรรมที่ภิกษุนั้น สมควรพยากรณ์ ย่อมมีอย่างนี้ ว่า
“อาวุโส ! ข้าพเจ้ารู้แจ้งว่า ‘รูปเป็นสิ่งที่ไร้กำลัง ไม่น่ากำหนัด ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ’ ดังนี้ แล้วข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ‘จิตของข้าพเจ้า หลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะความ จางคลาย เพราะความดับ เพราะความสละทิ้งเพราะ ความสลัดคืน
ซึ่งความเคยชิน
(อนุสัย) แห่งการตั้งทับ และ การฝังตัวเข้าไป แห่งจิต เพราะความยึดมั่น ด้วยอุปาทาน ในรูปเหล่านั้น’ (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีข้อความโต้ตอบ อย่างเดียวกันกับ ในกรณีแห่งรูปนี้ จนกระทั่ง ถึงคำว่า ... จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้นแล้ว เพราะ ... ความสลัดคืน ซึ่งความ เคยชิน (อนุสัย) แห่งการตั้งทับและการฝังตัวเข้าไป แห่งจิต เพราะความยึดมั่นด้วย อุปาทานในรูป เหล่านั้น’)
อาวุโส ! เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้จิตของข้าพเจ้าจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลายเพราะ ไม่ยึดมั่นใน ปัญจุปาทานขันธ์เหล่านี้”.
ภิกษุ ท. ! พวกเธอพึงยินดีอนุโมทนาในคำกล่าวของภิกษุนั้นว่า สาธุ .
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมวด ๓ : ธาตุหก
(คำถามที่ใช้ทดสอบความเป็นอรหันต์ )
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาดังนั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป ว่า
“อาวุโส ! ธาตุหก อย่างเหล่านี้มีอยู่ อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ผู้เห็นผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธะตรัสไว้ แล้วโดยชอบ คือ
ปฐวีธาตุ ๑
อาโปธาตุ ๑
เตโชธาตุ ๑
วาโยธาตุ ๑
อากาสธาตุ ๑
วิญญาณธาตุ ๑.
ก็ท่านผู้มีอายุรู้อยู่อย่างไรเห็นอยู่อย่างไร จิตของท่านจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ยึด มั่นในธาตุ ทั้งหกอย่างเหล่านี้ ?” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุนั้นเป็นขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว มีภาระปลงลงได้ แล้ว มีประโยชน์ตน อันตามลุถึงแล้วมีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบ แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบจริง ธรรมที่ภิกษุนั้น สมควรพยากรณ์ ย่อมมีอย่างนี้ ว่า
“อาวุโส ! ข้าพเจ้าเข้าถึง ปฐวีธาตุ โดยความเป็นอนัตตา และไม่เข้าถึงธรรมอัน อาศัยปฐวีธาตุ ว่าเป็นอัตตาแล้วและ ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ‘จิตของข้าพเจ้า หลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้น เพราะความจางคลาย เพราะความดับ
เพราะความสละทิ้ง
เพราะ ความสลัดคืน ซึ่งความเคยชิน (อนุสัย) แห่งการตั้งทับและการฝังตัวเข้าไป แห่งจิต เพราะความ ยึดมั่นด้วยอุปาทานอันอาศัยปฐวีธาตุ เหล่านั้น’
(ในกรณีแห่ง อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุอากาสธาตุ และวิญญาณธาตุ ก็มีข้อ ความ โต้ตอบอย่าง เดียวกันกับในกรณีแห่งปฐวีธาตุนี้ จนกระทั่งถึงคำว่า ....จิตของ ข้าพเจ้า หลุดพ้นแล้วเพราะ .... ความสลัด คืน ซึ่งความเคยชิน(อนุสัย)แห่งการตั้งทับ และการ ฝังตัวเข้าไปแห่งจิตเพราะความยึดมั่นด้วยอุปาทาน อันอาศัยปฐวีธาตุ เหล่าเท่านั้น.’)
อาวุโส ! เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของข้าพเจ้าจึงหลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลาย เพราะ ไม่ยึดมั่นในธาตุทั้ง หกอย่างเหล่านี้”.
ภิกษุ ท. ! พวกเธอพึงยินดีอนุโมทนาในคำกล่าวของภิกษุนั้นว่า สาธุ .
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมวด ๔-๕ : อายตนะใน - นอก
(คำถามที่ใช้ทดสอบความเป็นอรหันต์ )
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาดังนั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า
“อาวุโส ! อายตนะภายในและภายนอก อย่างละหกเหล่านี้ มีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น ผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธะตรัสไว้ แล้วโดยชอบ คือ
จักษุ และ รูป ๑
โสตะ และ เสียง ๑
ฆานะ และ กลิ่น ๑
ชิวหา และ รส ๑
กาย และ โผฏฐัพพะ ๑
มโน และ ธรรมารมณ์ ๑.
ก็ท่านผู้มีอายุ รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จิตของท่านจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก อย่างละหก เหล่านี้ ?” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุนั้นเป็นขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระปลงลง ได้แล้ว มีประโยชน์ตน อันตามลุถึงแล้วมีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบจริง, ธรรมที่ภิกษุนั้น สมควรพยากรณ์ ย่อมมีอย่างนี้ ว่า “
อาวุโส ! ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ‘ฉันทะราคะ นันทิ ตัณหา ความเคยชิน (อนุสัย) แห่งการ ตั้งทับและการ ฝังตัวเข้าไป แห่งจิต เพราะความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ใดๆ ใน จักษุ ใน รูป ใน จักขุวิญญาณใน ธรรม ท. อันรู้ได้ ด้วยจักขุวิญญาณ, มีอยู่, เพราะความสิ้นไป เพราะความจางคลาย ความดับ ความละทิ้ง ความส ลัดคืน ซึ่งฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ความเคยชิน (อนุสัย) แห่งการตั้งทับและ การฝังตัวเข้าไป แห่งจิต เพราะ ความยึดมั่นด้วย อุปาทาน นั้น ๆ แล้ว จิตของข้าพเจ้าก็หลุด พ้นแล้ว ดังนี้.
(ในกรณีแห่งโสตะและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและ ธรรมารมณ์ก็มีข้อ ความโต้ตอบอย่างเดียวกัน กับในกรณีแห่งจักษุและโสตะนี้ จนกระทั่งถึงคำว่า...จิตของข้าพเจ้าก็หลุดพ้น แล้ว, ดังนี้.).
อาวุโส ! เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้จิตของข้าพเจ้าจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ ยึดมั่น ในอายตนะทั้งหลายทั้งภายใน และภายนอก อย่างละหกเหล่านี้.”
ภิกษุ ท. ! พวกเธอพึงยินดี อนุโมทนา ในคำกล่าวของภิกษุนั้นว่า สาธุ .
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมวด ๖ : การถอนมานะ (มานานุสัย ความถือตัว)
(คำถามที่ใช้ทดสอบความเป็นอรหันต์ )
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาดังนั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “อาวุโส! เมื่อท่านรู้อยู่อย่างไร
เห็นอยู่อย่างไร ความเคย ชินแห่งการถือตัวว่าเป็นเรา
ว่าเป็นของเรา(อหงฺ การมมงฺการ มานานุสย) ในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้
และ
ในนิมิตทั้งหลายทั้งปวง ในภายนอก จึงจะถูกถอนขึ้นด้วยดี?” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุนั้นเป็นขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว มีภาระ ปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตน อันตามลุถึงแล้วมีสังโยชน์ในภพ สิ้นรอบ แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบจริง ธรรมที่ภิกษุนั้น สมควรพยากรณ์ ย่อมมีอย่าง นี้ว่า
“อาวุโส ! ในกาลก่อน เมื่อข้าพเจ้าครองเรือนอยู่ ยังเป็นผู้ไม่รู้ไม่เห็นอะไร ครั้น พระตถาคตหรือ สาวก ของตถาคต แสดงธรรม แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว กลับได้สัทธาในพระตถาคต แล้ว พิจารณาเห็นอยู่ว่า ‘ชีวิตฆราวาสเป็นของคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี การบรรพชาเป็นโอกาสโล่ง ไม่เป็นการง่ายเลยที่ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดย ส่วนเดียวเหมือนสังข์ ที่เขาขัดดีแล้วได้ ถ้ากระไรเราปลงผม และหนวด ครองผ้ากาสายะแล้ บวชจากเรือนถึงความเป็น ผู้ ไม่มีเรือนเถิด’ ดังนี้.
ครั้นสมัยอื่นอีก ข้าพจ้า ละกองโภคะใหญ่น้อย ละวงศ์ญาติใหญ่น้อย ปลงผม และ หนวดนุ่งห่ม ผ้ากาสายะ บวชจากเรือน ถึงความ เป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว.“ข้าพเจ้านั้น ครั้นบวชแล้วอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสิกขา และ สาชีพ ของภิกษุทั้งหลาย ละ ปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศาสตราเสียแล้ว มีความ ละอายต่อบาป มีความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งหลายแล้ว
ข้าพเจ้า ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ ของที่เจ้า ของให้ หวังอยู่ แต่ใน ของที่เจ้าของเขาให้ เป็นคนสะอาดไม่เป็นคนขโมย แล้ว ข้าพเจ้า ละกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์โดยปกติ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจาก การเสพเมถุน อันเป็นของสำหรับชาวบ้านแล้ว
ข้าพเจ้า ละการกล่าวเท็จ เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง รักษาคำสัตย์ มั่นคงใน คำพูด ควรเชื่อได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลกแล้ว ข้าพเจ้า ละการกล่าวคำส่อเสียด เว้นขาดการ ปิสุณาวาทได้ฟังจาก ฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลาย ฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่าย โน้นแล้ว ไม่เก็บมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น แต่จะสมานชนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อม เพรียงกัน อุดหนุนชนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันแล้ว
ข้าพเจ้า ละการกล่าวคำหยาบ เว้นขาดจากผรุสวาท กล่าวแต่วาจาที่ปราศจากโทษ เสนาะโสต ให้เกิด ความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพ ที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ ที่พอใจของมหาชน แล้ว
ข้าพเจ้า ละคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ใน เวลา สมควรกล่าว แต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นวาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานมีที่อ้างอิง มีเวลาจบ เต็มไปด้วย ประโยชน์ สมควรแก่เวลาแล้ว
ข้าพเจ้าเว้นขาด จาก การล้างผลาญ พืชคาม และภูตคามแล้ว เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียง หนเดียว เว้นจาก การ ฉันในราตรีและวิกาล
(เรื่องควรดูประกอบในขุม.โอ. หน้า๑๓๗ จะระบุว่าวิกาลคือนอกกาลหรือคือกลางวัน ซึ่งจะสอด คล้อง กับคำตรัสนี้)
เป็นผู้เว้นขาดจาก การรำการขับ การร้อง การประโคม และดูการเล่นชนิดที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
เป็นผู้เว้นขาดจาก การประดับ ประดา คือทัดทรงตบแต่งด้วยมาลา และของหอมเครื่องลูบทา
เป็นผู้เว้นขาดจากการ การนอน บนที่นอนสูงใหญ่
เป็นผู้เว้นขาดจาก การรับเงินและทอง
เว้นขาดจาก การรับข้าวเปลือก
เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบการรับหญิงและเด็กหญิง การรับทาสีและทาส การรับแพะแกะ ไก่ สุกร ช้าง ม้า โค ลา
เว้นขาดจาก การรับที่นา ที่สวน
เว้นขาดจาก การรับใช้ เป็นทูตไปในที่ต่างๆ (ให้คฤหัสถ์)
เว้นขาดจาก การซื้อ การขายการฉ้อโกงด้วยตาชั่งการลวงด้วยของปลอม การฉ้อด้วยเครื่อง นับ (เครื่องตวง และเครื่องวัด)
เว้นขาดจาก การโกงด้วยการรับสินบน และล่อลวง การตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้น การกรรโชก แล้ว.“
ข้าพเจ้า ได้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย และ ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่อง บริหารท้อง จะไปในที่ใด ๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมดเหมือนนกมีปีก จะบินไปในที่ใด ๆ ย่อมมีภาระคือปีกของตน เท่านั้นบินไป ฉันใด ก็ฉันนั้น แล้ว. “ข้าพเจ้านั้น ประกอบด้วยกองศีลอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว จึงรู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่ง อนวัชชสุข ใน ภายในแล้ว.
ข้าพเจ้า เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต (คือรวบถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งาม แล้ว แต่กรณี) ไม่ถือ เอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือ เอาแต่ บางส่วนว่าส่วนใดงาม หรือไม่งามแล้ว แต่กรณี) บาปอกุศลกล่าว คืออภิชฌาและโทมนัส พึงไหลไปตาม ผู้ไม่สำรวม อินทรีย์ใด เป็นเหต, ข้าพเจ้าปฏิบัติปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ รักษาถึงการ สำรวมอินทรีย์คือตานั้น แล้ว.
(ในกรณีแห่งการฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏ ฐัพพะด้วย ผิวกาย และรู้สึก ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความอย่างเดียวกันกับใน กรณีแห่งการเห็น รูป ด้วยตาข้างบนนี้).“
ข้าพเจ้านั้น ประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว จึงรู้สึกพร้อมเฉพาะ ซึ่ง อัพ๎ยาเสก สุข.
ข้าพเจ้า รู้ตัวรอบคอบ ในการก้าวไปข้างหน้าการถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ การถ่ายปัสสาวะ, การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูดการนิ่ง แล้ว.
“ข้าพเจ้านั้น ประกอบด้วยกองศีลอันเป็นอริยะเช่นนี้ด้วย ประกอบด้วยอินทรียสังวร อันเป็นอริยะ เช่นนี้ด้วย ประกอบด้วย สติสัมป ชัญญะอันเป็นอริยะเช่นนี้ด้วย แล้ว ได้ เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขาซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า ละอภิชฌา ในโลก มีจิตปราศจาก อภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา ละพยาบาท อันเป็น เครื่องประทุษร้าย มีจิต ปราศจาก พยาบาท ละถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิต ปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจาก ถีนะมิทธะ ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วง วิจิกิจฉา เสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า ‘นี่อะไร นี่อย่างไร’ ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา แล้ว.
“ข้าพเจ้านั้น ครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิตทำปัญญาให้ถอย กำลังเหล่านี้ ได้แล้ว ก็สงัดจาก กาม และอกุศล ธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอัน เกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่
เพราะสงบ วิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุ ฌานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องใสใน ภายใน เป็นที่เกิดสมาธิ แห่งใจ ไม่มีวิตก วิจาร มีแต่ปีติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่ เพราะความ จางคลาย ไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วย นามกายบรรลุ ฌานที่ ๓ อันเป็นฌาน ที่พระ อริยเจ้ากล่าว ว่า ‘ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข’ ดังนี้ แล้ว แลอยู่ และเพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับ หายไปแห่งโสมนัสและ โทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุ ฌานที่ ๔อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่ แล้ว.
“ข้าพเจ้านั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติ อ่อนโยน ควร แก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเฉพาะ ต่ออาสวักขยญาณ แล้ว
ข้าพเจ้า ได้รู้ชัดแล้วตามที่เป็นจริงว่า ‘นี้ ทุกข์ นี้ เหตุให้เกิด ทุกข์ นี้ ความดับไม่ เหลือ แห่งทุกข์ นี้ หนทาง ให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์’ ได้รู้ชัดแล้วตาม เป็นจริงว่า ‘เหล่านี้ อาสวะ นี้ เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ นี้ หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่ง อาสวะ’ ดังนี้.
เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่าง นี้เห็นอยู่ อย่างนี้จิตก็หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ แม้จาก ภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ. เมื่อจิต หลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว.
ข้าพเจ้า ได้รู้ชัดแล้วว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควร ทำได้ ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะ ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก' ดังนี้.
อาวุโส ! เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ ความเคยชินแห่งการถือตัวว่าเป็นเรา ว่าเป็น ของเรา (อหงฺการ มมงฺการมานานุสย) ในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้ และใน นิมิตทั้งหลาย ทั้งปวงในภายนอก จึงถูกถอนขึ้น ด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! พวกเธอพึงยินดีอนุโมทนาในคำกล่าวของภิกษุนั้นว่า สาธุ.
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาว่า สาธุ ดังนี้แล้ว
พึงกล่าว แก่ภิกษุ นั้นอย่างนี้ว่า
อาวุโส ! เป็นลาภของพวกเราหนอ !
อาวุโส ! พวกเราได้ดีแล้วหนอ !
ที่พวกเราได้พบเห็น สพรหมจารี เช่นกับท่าน ดังนี้.
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ -ภาคต้น หน้า 700 )
|