เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 #3/4 รวมพระสูตร โยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย และ อโยนิโสมนสิการ  1298
 


โยนิโสมนสิการ... ..การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
อโยนิโสมนสิการ... การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

17)
โยนิโสมนสิการ อาหารของโพชฌงค์
18) โยนิโสมนสิการ มิใช่อาหารของนิวรณ์
19) ว่าด้วยองค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา
20) อโยนิโสมนสิการ คือปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งราคะ
21) เมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้
22) โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ
23) อโยนิโสมนสิการ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมเรื่อง โยนิโสมนสิการ ชุด 3/4


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๓๒

17)
โยนิโสมนสิการ อาหารของโพชฌงค์

        [๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโส มนสิการ ในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ สติสัมโพชฌงค์ (๑) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ ที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.

        [๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลและอกุศล ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นส่วนข้างดำและข้างขาว มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในธรรม เหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (๒) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.

        [๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ วิริยสัมโพชฌงค์ ที่ยัง ไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายามความบากบั่น มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ วิริยสัมโพชฌงค์ (๓) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.

        [๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ ปีติสัมโพชฌงค์ ที่ยัง ไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่งโยนิโสมนสิการ ในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ ปีติสัมโพชฌงค์ (๔) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.

        [๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบกาย ความสงบจิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในความสงบนี้ นี้เป็นอาหารให้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(๕) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.

        [๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต (นิมิตรแห่งจิตอันมีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน) มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้ สมาธิสัมโพชฌงค์(๖) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.

        [๕๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มาก ซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (๗)ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๓๔

18)

โยนิโสมนสิการ มิใช่อาหารของนิวรณ์

        [๕๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ กามฉันทะ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในอศุภนิมิตนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้กามฉันทะ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

        [๕๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ พยาบาท ที่ยัง ไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจโตวิมุติ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในเจโตวิมุตินั้น นี้ไม่เป็นอาหาร ให้พยาบาท ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

        [๕๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ ถีนมิทธะ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายาม ความบากบั่น มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในสิ่ง เหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญ ไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

        [๕๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบใจมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในความสงบใจนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

        [๕๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ วิจิกิจฉา ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลและอกุศลที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นส่วนข้างดำ และข้างขาว มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการ ในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหาร ให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ ยิ่งขึ้น.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๓๔๘

19)
ว่าด้วยองค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา
(สาริปุตตสูตรที่ ๒)

 

        [๑๔๒๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ที่เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ ๆ ดังนี้ โสตาปัตติยังคะเป็นไฉน?

        [๑๔๒๘] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โสตาปัตติยังคะ คือสัปปุริสสังเสวะ การคบสัตบุรุษ ๑
สัทธรรมสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑
โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยอุบายที่ชอบ ๑
ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

        [๑๔๒๙] พ. ถูกละๆ สารีบุตร โสตาปัตติยังคะ คือ
สัปปุริสสังเสวะ ๑
สัทธรรมสวนะ ๑
โยนิโสมนสิการ
ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ๑.

        [๑๔๓๐] ดูกรสารีบุตร ก็ที่เรียกว่า ธรรมเพียงดังกระแสๆ ดังนี้ ก็ธรรมเพียง ดังกระแสเป็นไฉน? ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ธรรมเพียงดังกระแส.

        [๑๔๓๑] พ. ถูกละๆ สารีบุตร อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ธรรมเพียงดังกระแส.     

        [๑๔๓๒] ดูกรสารีบุตร ที่เรียกว่า โสดาบันๆ ดังนี้ โสดาบันเป็นไฉน?
สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ใดประกอบด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ผู้นี้เรียกว่า พระโสดาบัน ท่านผู้นี้นั้น มีนามอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้.

        [๑๔๓๓] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ผู้ซึ่งประกอบด้วยอริยมรรค ๘ นี้ เรียกว่า โสดาบันท่านผู้นี้นั้น มีนามอย่างนี้.



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๘๑

20)
อโยนิโสมนสิการ คือปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งราคะ

        [๓๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งราคะ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
  สุภนิมิต ๑
  
อโยนิโสมนสิการ
ดูกรภิกษุทั้งหลายปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งราคะ ๒ อย่างนี้แล

        [๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งโทสะ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
   ปฏิฆนิมิต ๑
 
  อโยนิโสมนสิการ
ดูกรภิกษุทั้งหลายปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งโทสะ ๒ อย่างนี้แล

         [๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฐิ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
   การโฆษณาแต่บุคคลอื่น ๑
   
อโยนิโสมนสิการ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฐิ ๒ อย่างนี้แล    

      [๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฐิ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
   การโฆษณาแต่บุคคลอื่น ๑
   
โยนิโสมนสิการ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฐิ ๒ อย่างนี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๙๑

21)
เมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละได้
(ติตถิยสูตร)

        [๕๐๘] ๖๙. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกจะพึงถาม เช่นนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ราคะโทสะ โมหะ

       
ผู้มีอายุทั้งหลายธรรม ๓ อย่างนี้แล ผู้มีอายุ ธรรม ๓ อย่างนี้ผิดแผกแตก ต่าง กันอย่างไร เธอทั้งหลายถูกถาม อย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์แก่พวก ปริพาชก อัญญเดียรถีย์ เหล่านี้ว่าอย่างไร

        ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ธรรมของพวกข้าพระองค์ ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มี พระภาค เป็นที่พึ่งอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความ แห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะ พระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อ พระผู้มีพระภาค แล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์จะพึงถามเช่นนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่าง เป็นไฉน  คือ ราคะ โทสะ โมหะ ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้ ผู้มีอายุทั้งหลายธรรม๓ อย่างนี้ ผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาถามอย่างนี้  พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย
ราคะมีโทษน้อยคลายช้า
โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว
โมหะมีโทษมากคลายช้า


ถ้าเขาถามต่อไป อีกว่า

        ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า สุภนิมิต คือ ความกำหนดหมายว่างาม เมื่อบุคคลนั้น ทำไว้ในใจ โดยอุบายไม่แยบคาย ถึงสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อม เป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง

        ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

        เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า ปฏิฆนิมิต คือ ความกำหนดหมาย ว่า กระทบ กระทั่ง เมื่อบุคคลนั้น ทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ถึงปฏิฆนิมิตโทสะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

        ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

        เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า อโยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลนั้น ทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อม เป็นไป เพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่อง ให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ถ้าเขาถามอีกว่า ก็อะไรเป็น เหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้

        เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่าพึงกล่าวว่า อสุภนิมิต คือ ความกำหนดหมาย ว่าไม่งาม เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถึงอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่
เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ถ้าเขาถาม ต่อไปว่า

        ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด ย่อม ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า เมตตาเจโตวิมุติ เมื่อบุคคลนั้น ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถึงเมตตาเจโตวิมุติโทสะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้

        ผู้มีอายุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละได้เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า โยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลนั้น ทำไว้ในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละได้

        ผู้มีอายุทั้งหลายข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่ เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑  หน้าที่ ๒๓๑

22)
โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ

        [๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ แห่ง ปัญญาธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
สัปปุริสสังเสวะ การคบสัปบุรุษ ๑
สัทธรรมสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑
โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย
ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา

        [๒๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์ ธรรม ๔ประการเป็นไฉน คือ
สัปปุริสสังเสวะ ๑
สัทธรรมสวนะ๑
โยนิโสมนสิการ
ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ประการนี้แล เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์

        [๒๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันมิใช่ของพระอริยะ ๔ ประการนี้๔ ประการ เป็นไฉน คือ
ความเป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าเห็น ๑
ความเป็นผู้กล่าว สิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง ๑
ความเป็นผู้กล่าว สิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ ๑
ความเป็นผู้กล่าว สิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้ ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย โวหารอันไม่ใช่ของพระอริยะ ๔ ประการนี้แล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๔   หน้าที่ ๗๙

23)
อโยนิโสมนสิการ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม
(มหาลิสูตร)

[๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลีครั้งนั้นแล กษัตริย์ลิจฉวีพระนามว่ามหาลี ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอะไรหนอ แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม พระผู้มีพระภาคตรัส ตอบว่า

        ดูกรมหาลี โลภะแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไป แห่ง บาปกรรม ดูกรมหาลี โทสะแล ...โมหะแล ... อโยนิโสมนสิการ แล ...

        ดูกรมหาลี จิตอันบุคคลตั้งไว้ผิดแลเป็นเหตุเป็นปัจจัย แห่งการทำบาปกรรม แห่งความ เป็นไป แห่งบาปกรรม

        ดูกรมหาลี กิเลสมีโลภะเป็นต้นนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความ เป็นไปแห่งบาปกรรม

        ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย แห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความ เป็นไป แห่งกัลยาณกรรม

พ. ดูกรมหาลี อโลภะแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการ ทำกัลยาณกรรม แห่งความ เป็นไปแห่ง กัลยาณกรรม ดูกรมหาลี อโทสะแล ... อโมหะแล ...โยนิโสมนสิการ แล ...

        ดูกรมหาลี จิตอันบุคคลตั้งไว้ชอบแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำ กัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม

        ดูกรมหาลีธรรมมีอโลภะเป็นต้นนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณ ธรรม แห่ง ความเป็นไปแห่งกัลยาณธรรม

        ดูกรมหาลี ถ้าธรรม ๑๐ ประการนี้แลไม่พึงมีในโลกชื่อว่า ความประพฤติไม่ สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรม หรือความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม ก็จะไม่พึงปรากฏ ในโลกนี้

        ดูกรมหาลีก็เพราะธรรม ๑๐ ประการนี้มีพร้อมอยู่ในโลก ฉะนั้น ชื่อว่าความ ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรม หรือความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม จึงปรากฏ (ในโลกนี้)

 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์