พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๒๔๖ - ๒๕๙
1)
ปัญจสติกขันธกะ
เรื่องพระมหากัสสปเถระปรารภการทำสังคายนาครั้งที่ ๑
[๖๑๔] ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป ชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย ครั้งหนึ่ง เราออกจาก เมืองปาวา เดินทางไกล ไปเมืองกุสินารา กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป
ครั้งนั้น เราแวะจากทาง นั่งพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง อาชีวกผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑารพ ในเมืองกุสินารา เดินทางไกลมาสู่เมืองปาวา เราได้เห็นอาชีวกนั้น เดินมาแต่ไกล เทียว ครั้นแล้ว ได้ถามอาชีวกนั้นว่า ท่านทราบข่าว พระศาสดาของเราบ้างหรือ อาชีวกตอบว่า ท่านขอรับ ผมทราบพระสมณโคดม ปรินิพพานได้ ๗ วันทั้งวันนี้แล้ว ดอกมณฑารพ นี้ ผมถือมาจากที่ปรินิพพานนั้น
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านที่ยังไม่ปราศจากราคะ บางพวกประคองแขน คร่ำครวญ ดุจมีเท้าขาดล้มลง กลิ้งเกลือกไปมารำพันว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาหายไปจากโลกเร็ว นัก ส่วนพวกที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ย่อมอดกลั้นได้ ด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงนั้น จะได้ในสังขารนี้แต่ไหนเล่า ท่านทั้งหลาย
ครั้งนั้น เราได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไร เลย ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ความเว้น ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวงทีเดียวย่อมมี สิ่งที่เที่ยงนั้น จะได้ในสังขารนั้นแต่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ข้อที่จะปรารถนา ว่า สิ่งนั้นอย่าได้สลายเลย นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ครั้งนั้น พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต นั่งอยู่ในบริษัทนั้น เธอได้กล่าวกะ ภิกษุทั้งหลาย ว่าพอเถิด ท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นไป ดีแล้ว จากพระมหาสมณะนั้น ด้วยว่าพวกเราถูกเบียดเบียนว่า สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ทำสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนา จักทำสิ่งใด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจง สังคายนา พระธรรมและพระวินัย เถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาที บุคคลจะ มีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาที บุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคล จักเสื่อมกำลัง
2)
สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป
[๖๑๕] ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระ จงคัดเลือกภิกษุ ทั้งหลายเถิดขอรับ
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่ องค์หนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า ท่านเจ้าข้า ท่าน พระอานนท์นี้ ยังเป็นเสกขบุคคล อยู่ก็จริง แต่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติและท่านได้เรียนพระธรรม และพระวินัยเป็นอันมาก ในสำนัก พระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วยเถิด
ลำดับนั้น พระมหากัสสป จึงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย จึงพระเถระทั้งหลาย ปรึกษากันว่า พวกเราจักสังคายนาพระธรรม และพระวินัยที่ไหนดีหนอ ครั้นแล้ว เห็นพร้อมกันว่า พระนครราชคฤห์ มีโคจรคามมาก มีเสนาสนะเพียงพอ สมควรแท้ ที่พวกเราจะอยู่ จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ สังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ควรเข้าจำพรรษาในพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนา พระธรรม และพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ นี้เป็นญัตติ
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้าสงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึง จำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ การสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนคร ราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและ พระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษา ใน พระนครราชคฤห์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่งไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงพูด
สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์เพื่อสังคายนา พระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ
3)
เรื่องปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม
[๖๑๖] ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลาย ได้ไปพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนา พระธรรมและพระวินัย แล้วปรึกษากันว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงสรร เสริญการปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ที่ชำรุดทรุดโทรมไว้ ถ้ากระไรพวกเราจักปฏิสังขรณ์ เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมในเดือนต้น แล้วจักประชุมสังคายนาพระธรรม และ พระวินัย ในเดือนท่ามกลาง ครั้งนั้น พระเถระได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุด ทรุดโทรมในเดือนต้น ฯ
4)
พระอานนท์สำเร็จพระอรหัต
[๖๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็น เสกขบุคคลอยู่ จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่า จักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้น จากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็น พระ อรหันต์ ได้ไปสู่ที่ประชุม
5)
พระอุบาลีวิสัชนาพระวินัย
[๖๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติ กรรมวาจา ว่าดังนี้:
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของ สงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี
ท่านพระอุบาลี ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามพระวินัย แล้วจะพึงวิสัชนา
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปได้ถามท่านพระอุบาลีว่า ท่านอุบาลี ปฐมปารา ชิกสิกขาบทพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติที่ไหน
อุ. ในเมืองเวสาลี ขอรับ
ม. ทรงปรารภใคร
อุ. ทรงปรารภพระสุทิน กลันทบุตร
ม. ในเพราะเรื่องอะไร
อุ. ในเพราะเมถุนธรรม
ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามวัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ แห่งปฐมปาราชิกสิกขาบท กะท่านพระอุบาลี แล้วถามต่อไปว่า ทุติย ปาราชิกสิกขาบทพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติที่ไหน
อุ. ในพระนครราชคฤห์ ขอรับ
ม. ทรงปรารภใคร
อุ. ทรงปรารภพระธนิยะ กุมภการบุตร
ม. ในเพราะเรื่องอะไร
อุ. ในเพราะอทินนาทาน
ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามวัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ แห่งทุติยปาราชิกสิกขาบท กะท่านพระอุบาลี แล้วถามต่อไปว่า ท่าน พระอุบาลี ตติยปาราชิกสิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติที่ไหน
อุ. ในพระนครเวสาลี ขอรับ
ม. ทรงปรารภใคร
อุ. ทรงปรารภภิกษุมากรูปด้วยกัน
ม. ในเพราะเรื่องอะไร
อุ. ในเพราะมนุสสวิคคหะ
ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามวัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ แห่งตติยปาราชิกสิกขาบท กะท่านพระอุบาลี แล้วถามต่อไปว่า จตุตถปาราชิก สิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติที่ไหน
อุ. ในพระนครเวสาลี ขอรับ
ม. ทรงปรารภใคร
อุ. ทรงปรารภพวกภิกษุจำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
ม. ในเพราะเรื่องอะไร
อุ. ในเพราะอุตตริมนุสสธรรม
ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามวัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ แห่งจตุตถปาราชิกสิกขาบท กะท่านพระอุบาลี แล้วถามอุภโตวินัยโดย อุบายนั้นแล ท่านพระอุบาลี ผู้อันท่านพระมหากัสสปถามแล้ว ถามแล้ว ได้วิสัชนาแล้ว
6)
พระอานนท์วิสัชนาพระธรรม
[๖๑๙] ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรม วาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามธรรมกะท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ ประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วย ญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้วข้าพเจ้า อัน ท่านพระมหากัสสป ถามธรรมแล้วจะพึงวิสัชนา
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป ถามท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พรหม ชาลสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน
อา. ตรัสในพระตำหนัก ในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา ในระหว่างกรุงราช คฤห์ และเมืองนาลันทาต่อกัน ขอรับ
ม. ทรงปรารภใคร
อา. ทรงปรารภสุปปิยปริพาชก และพรหมทัตตมาณพ
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสป ได้ถามนิทาน และบุคคลแห่งพรหมชาลสูตร กะท่าน พระอานนท์ แล้วถามต่อไปว่า ท่านอานนท์สามัญญผลสูตร พระผู้มีพระภาค ตรัสที่ไหน
อา. ที่วิหารชีวกัมพวัน เขตกรุงราชคฤห์ ขอรับ
ม. ตรัสกับใคร
อา. กับพระเจ้าอชาตสัตตุ เวเทหิบุตร
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสป ถามนิทาน และบุคคลแห่งสามัญญผลสูตร กะท่าน พระอานนท์ แล้วถามตลอดนิกาย ๕ โดยอุบายนั้นแล ท่านพระอานนท์ผู้อัน ท่าน พระมหากัสสปถามแล้ว ถามแล้ว ได้วิสัชนาแล้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สถานที่สังคายนา(ถ้ำสัตตบรรณคูหา) |
สาระสำคัญ การสังคายนา |
|
1. การสังคายนา กระทำหลังปรินิพพาน 3 เดือน
2. สถานที่ ถ้ำสัตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์
3. มีภิกษุอรหันต์ 500 รูป เข้าร่วมสังคายนา
4.
พระมหากัสสป(อาวุโสสูงสุดเป็นผู้คัดเลือก)
5. ประธานสังคายนาคือ พระมหากัสสป
6. พระอุบาลี วิสัชนาพระวินัย
7. พระอานนท์ วิสัชนาพระธรรม
8. ใช้เวลาสังคายนา 7 เดือน |
|