เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ธาตุวิภังคสูตร (ธาตุ6)..แสดงธรรมแด่ภิกษุ ปุกกุสาติ ที่โรงปั้นหม้อ 518
 

พระศาสดาเสด็จไปขอพักในโรงปั้นหม้อของ ภัคควะ แต่มีภิกษุชื่อ ปุกกุสาติ พักอยู่ก่อนแล้ว
คืนนั้น พระศาสดา ได้แสดงธรรม เรื่องธาตุ ๖ และ ผัสสะ ๖ แก่ภิกษุโดยไม่รู้ว่า เป็นพระพุทธเจ้า
หลังฟังธรรมรู้สึกซาบซึ้ง และคิดว่าเป็นพระพุทธเจ้าแน่ จึงกราบขอโทษ ที่ใช้คำว่า “ผู้มีอายุ"

จากนั้นจึงขอบวช แต่ไม่มีบาตรและจีวร ขณะไปหาบาตรจีวร ถูกแม่โคขวดตาย
พระศาสดาตรัสว่าได้เกิดเป็น "อุปปาติกเทพ” (ชั้นสุทธาวาส) เพราะสิ้นสัญโญชน์ 5

ดูพระสูตรอื่นที่เกี่ยวข้อง
อุทเทสวิภังคสูตร (ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไป ไม่ตั้งสงบอยู่ ไม่พึงสะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น) P289

 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๗

 ธาตุวิภังค์สูตร (ธาตุ๖)

          [๖๗๓]  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนคร ราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อ ภัคควะ ยังที่อยู่แล้วตรัสดังนี้ว่า ดูกรนายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพัก อยู่ในโรง สักคืนหนึ่งเถิด นายภัคควะทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความ หนักใจเลย แต่ในโรงนี้ มีบรรพชิต เข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาตก็นิมนต์ ท่านพักตามสบายเถิด

          [๖๗๔]  ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อ ปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศพระผู้มี พระภาค ด้วยศรัทธาปุกกุสาติกุลบุตรนั้น เข้าไปพักอยู่ในโรงของนายช่าง หม้อนั้น ก่อนแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปหาท่าน ปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติ ดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด  ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุ พักตามสบายเถิด

          [๖๗๕]  ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อ แล้วทรงลาด สันถัดหญ้า* ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่ง ล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก แม้ท่าน ปุกกุสาติ ก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงพระดำริ ดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรจะถามดูบ้าง ต่อนั้น พระองค์จึงตรัส ถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่ ดูกรภิกษุท่านบวช อุทิศใครเล่า หรือว่า 
ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร

*(สัดทัดแปลว่าที่รองนั่ง)

          [๖๗๖]  ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดม ผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากย ราชสกุลทรงผนวชแล้ว ก็พระโคดมผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล  มีกิตติศัพท์ฟุ้งไป งามอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก อย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้าบวชอุทิศ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจ ธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น 
          พ.  ดูกรภิกษุ ก็เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน
          ปุ.  ดูกรท่านผู้มีอายุ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี อยู่ในชนบท ทางทิศเหนือ เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นั่น
          พ.  ดูกรภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่านเห็น แล้วจะรู้จักไหม
          ปุ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก
.............................................................................................................................................................

          [๖๗๗]  ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวช  อุทิศเรา เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา ต่อนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า ดูกรภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านปุกกุสาติ ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ

          [๖๗๘]  พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาต ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘  มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔  อันเป็น  ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส เครื่องสำคัญตน และกิเลส เครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตน และกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขา ว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้ อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก 

          [๖๗๙]  ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาต ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ธาตุนี้มี  ๖ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ(ของแข็ง) อาโปธาตุ (ของเหลว) เตโชธาตุ (อุณหภูมิ) วาโยธาตุ(ลม) อากาสธาตุ(ช่องว่าง) วิญญาณธาตุ ข้อที่เรากล่าว ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาต ๖ นั่น เราอาศัยธาตุดังนี้ กล่าวแล้ว      
          [๖๘๐]  ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น  เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ จักษุ โสตะ  ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดนสัมผัส  ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะ ดังนี้ กล่าวแล้ว

          [๖๘๑]  ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น (มโนปวิจาร ๑๘) เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือบุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วง นึกรูป เป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส หน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขา ฟังเสียงด้วย โสตแล้ว ...ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว.. ลิ้มรสด้วย ชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว .. รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึก ธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึกโทมนัส ๖ หน่วงนึก อุเบกขา ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษ  คนเรานี้ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘  นั่นเราอาศัยความหน่วงนึกดังนี้ กล่าวแล้ว

(อธิบายแบบตาราง)

สัม
ผัส
6
ความหน่วงนึกของใจ ๑๘ (เวทนา๓ กับ ผัสสายตนะ๖)
  เวทนา (ทางใจ) โสมนัส โทมนัส อุเบกขา  
  โสมนัส โทมนัส อุเบกขา รวม อาการ
1 ผัสสะทางตา เกิดโสมนัส เกิดโทมนัส เกิดอุเบกขา
2 ผัสสะทางหู เกิดโสมนัส เกิดโทมนัส เกิดอุเบกขา
3 ผัสสะทางจมูก เกิดโสมนัส เกิดโทมนัส เกิดอุเบกขา
4 ผัสสะทางลิ้น เกิดโสมนัส เกิดโทมนัส เกิดอุเบกขา
5 ผัสสะทางกาย เกิดโสมนัส เกิดโทมนัส เกิดอุเบกขา
6 ผัสสะทาง เกิดโสมนัส เกิดโทมนัส เกิดอุเบกขา
      รวม ๑๘

.............................................................................................................................................................

[๖๘๒]  ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔  นั่น เราอาศัยอะไร กล่าวแล้ว คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีสัจจะเป็นธรรม ควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ ในใจ มีอุปสมะ* เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ  ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยธรรม ที่ควรตั้งไว้ในใจดังนี้ กล่าวแล้ว
*
(ความสงบ ความระงับ)

[๖๘๓]  ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ  พึงเพิ่มพูน จาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว  ดูกรภิกษุ อย่างไรเล่า ชื่อว่าไม่ประมาทปัญญา ดูกรภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ คือ ปฐวีธาตุ  อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ

[๖๘๔]  ดูกรภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน (1) คือปฐวีธาตุภายในก็มี ภายนอก ก็มี ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่แค่นแข็ง กำหนดได้  มีในตน อาศัยตน คือ ผม ขนเล็บ ฟันหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่า ชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตนนี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายใน ก็ปฐวีธาตุ ทั้งภายใน และ ภายนอกนี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา  ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่าย ปฐวีธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัด ปฐวีธาตุได้   
(เป็นการพิจารณา สักกายทิฐิ เพื่อละปฐวีธาตุ)

[๖๘๕]  ดูกรภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน (2) คืออาโปธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อาโปธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก 
ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน ก็อาโปธาตุทั้งภายใน และภายนอก นี้แล เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่าย อาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุได้

[๖๘๖]  ดูกรภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน (3) คือ เตโชธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็เตโชธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่อบอุ่นถึงความเร่าร้อนกำหนดได้ มีในตน อาศัยตนคือ ธาตุที่เป็น เครื่อง ยังกายให้ อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกาย ให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม แล้วถึงความ ย่อย ไปด้วยดี หรือแม้ สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อนกำหนดได้  มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ก็เตโชธาตุทั้งภายใน และภายนอก นี้แลเป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา(ตัวตน)ของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่าย เตโชธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัด เตโชธาตุได้ 

[๖๘๗]  ดูกรภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน (4) คือ วาโยธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็วาโยธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตนคือ  ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไป ตามอวัยวะ น้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่า ชนิดไรๆ  ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตนนี้เรียกว่า วาโยธาตุภายใน ก็วาโยธาตุ ทั้งภายใน และภายนอก นี้แลเป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญา ชอบตาม ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา(ตัวตน)ของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้ 

[๖๘๘]  ดูกรภิกษุ ก็อากาสธาตุเป็นไฉน (5) คือ อากาสธาตุภายในก็มี  ภายนอกก็มี ก็อากาสธาตุ ภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่งกำหนดได้  มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหูช่องจมูก ช่องปากซึ่งเป็น ทางให้กลืนของที่กิน ที่ดื่ม  ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบาย ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่ว่าง  ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาสธาตุภายใน ก็อากาสธาตุ ทั้งภายใน และภายนอกนี้แล เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญา ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา(ตัวตน)ของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัด อากาสธาตุได้

[๖๘๙]  ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ วิญญาณ (6) อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อม รู้อะไรๆได้ด้วยวิญญาณ นั้น คือรู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุข บ้าง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูกรภิกษุ
เพราะอาศัยผัสสะ
เป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนา ยอมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้น เมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่ากำลังเสวย สุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนานั้น แลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะ นั้น คือตัว สุขเวทนา อันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับย่อม เข้าไปสงบ 

เพราะอาศัย ผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่ง ทุกขเวทนา  ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคล นั้น เมื่อเสวย ทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้ง แห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่าความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิด

เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่ง อทุกขขมเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัย ผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่ง อทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิด อทุกขมสุขเวทนา 
บุคคลนั้นเมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวย อทุกขมสุขเวทนาอย เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่ง อทุกขมสุขเวทนา นั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวย อารมณ์ ที่เกิด แต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนา อันเกิดเพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้ง แห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ
.............................................................................................................................................................

อุปมาผัสสะ - เวทนา เหมือนความร้อนที่เกิดจากไม้สองท่อนสีกัน

[๖๙๐]  ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้ สองท่อน ประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ  ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้ สองท่อนนั้นเอง แยกกันไปเสียคนละทาง แม้ฉันใด ดูกรภิกษุฉันนั้นเหมือนกันแล  เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุข เวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้ง แห่ง สุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่าความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวสุขเวทนา อันเกิดเพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา  ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิด ทุกขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่ากำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้ง แห่ง ทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะ อาศัยผัสสะเป็นที่ตั้ง แห่งทุกข เวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่ง อทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิด อทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่ากำลัง เสวย อทุกขมสุขเวทนาอย่ 

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้ง แห่ง อทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่าความเสวย อารมณ์ ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัว อทุกขมสุขเวทนา อันเกิดเพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ต่อนั้นสิ่ง ที่จะเหลืออยู่อีก ก็คืออุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว ฯ
.............................................................................................................................................................

[๖๙๑]  ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง ผู้ฉลาด  ติดเตา สุมเบ้าแล้ว เอาคีมคีบทองใส่เบ้าหลอมไป ซัดน้ำไป สังเกตดูไปเป็นระยะๆ ทองนั้นจะเป็นของถูกไล่ขี้แล้ว หมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อน สลวย และ ผ่องแผ้ว เขาประสงค์ ชนิดเครื่องประดับใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหูเครื่อง ประดับ มาลัยทองก็ตาม ย่อมสำเร็จ ความประสงค์อันนั้นแต่ทองนั้นได้ ฉันใด
(อุปมาเหมือนไล่ อกุศลออกไป)

ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเหลืออยู่แต่อุเบกขา อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่าถ้าเราน้อม อุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ อากาสานัญจายตนฌาน(บาลีไม่มีคำว่าฌาน) และเจริญจิต มีธรรมควร แก่ฌาน(อากาสานัญจายตน) นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้  อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็น อุเบกขา อาศัย อากาสานัญจายตนฌาน นั้น ยึด อากาสานัญจายตนฌาน นั้น ดำรงอยู่ตลอดกาล ยืนนาน 

ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญจายตนฌาน และเจริญจิต มีธรรม ควรแก่ฌาน(สมาธิ) นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็น อุเบกขา อาศัย วิญญาณัญจายตนฌาน* นั้น ยึดวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาล ยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น 
*(บาลีไม่มีคำว่าฌาน)

เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัย อากิญจัญญายตนฌานนั้น ยึด อากิญจัญญายตนฌานนั้นดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น และเจริญจิต มีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขา ของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขา อาศัย เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น ยึดเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น ดำรงอยู่ ตลอดกาลยืนนาน บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า

        ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์  ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ อากาสานัญจายตน ฌาน และเจริญจิตมีธรรมควร แก่ฌาน(สมาธิ) นั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ(จิตตํ ภาเวยฺยํ สังขตเมตํ)
        ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ วิญญาณัญจายตน ฌาน จิตนี้ก็เป็นสังขตะ
        ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌาน(สมาธิ) นั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ
        ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้เข้าไปสู่ เนวสัญญานา สัญญายตนฌาน และเจริญจิต มีธรรมควรแก่ฌาน(สมาธิ) นั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ 

        บุคคลนั้นจะไม่คำนึง จะไม่คิดถึงความเจริญ หรือความเสื่อมเลย เมื่อไม่คำนึง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่หวาดเสียว เมื่อไม่ หวาดเสียว ย่อมปรินิพพาน(ดับเย็น)เฉพาะตนทีเดียว ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี 

        ถ้าเขาเสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยงอันบัณฑิต ไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน
        ถ้าเสวยทุกขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน 
        ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันบัณฑิต ไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน
        ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็เป็นผู้พรากใจเสวย (รู้สึกแต่ไม่ยึด ไม่เอาใจไปผูกพันธ์)
        ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็เป็นผู้พรากใจเสวย
        ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้พรากใจเสวย (วิสังยุตโต)
        เขาเมื่อเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่ากำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
        เมื่อเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่ากำลังเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด  และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไป(กายแตกทำลาย)แล้ว ความเสวย อารมณ์ทั้งหมด ที่ยินดีกันแล้วนี้โลกนี้แล จักเป็นของสงบฯ

[๖๙๒]  ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมัน และไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมัน และไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด

ดูกรภิกษุฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้น

เมื่อเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่ากำลังเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด (กายสัพเพทา)
เมื่อเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด(ชีวิตปริยาทานา) ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
และรู้สึกว่าเบื้องหน้า แต่สิ้นชีวิต พราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดี กันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ 

เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยปัญญา อันเป็นธรรม ควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้คือความรู้ใน ความสิ้นทุกข์ ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ใน สัจจะ  เป็นคุณไม่กำเริบ 

ดูกรภิกษุ เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือน เป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพาน นั้นจริง ฉะนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ถึง พร้อมด้วย สัจจะ อันเป็นธรรม ควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็ สัจจะนี้คือนิพพาน มีความ ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่งบุคคลนั้นแล  ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิ * เข้าไว้
* (ความยึดมั่นอันเป็นส่วนละเอียด)

อุปธิ(อุปทาน) เหล่านั้น เป็นอันเขาละได้แล้วถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอด ด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น  ผู้ถึงพร้อม ด้วยการสละ อย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย จาคะ อันเป็นธรรม ควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ก็จาคะน้ คือความสละคืนอุปธิ ทั้งปวง เป็นจาคะ อันประเสริฐยิ่ง (จาคะ อ้นละเอียดคือ ถอนอุปาธิขันธ๕ ทั้งหมด)

อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้าอาฆาต พยาบาทความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย  อกุศลธรรม นั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน แล้วถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อม ด้วย ความสงบ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย อุปสมะ (ความสงบ) อันเป็นธรรมควร ตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือความเข้าไป สงบราคะ โทสะ โมหะ  เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่าไม่พึงประมาทปัญญา พึงตาม รักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้วฯ
(อุปสมะ คือความสงบในราคะ โทสะ โมหะ นี่คือ สันติ แบบพุทธเจ้า)

[๖๙๓]  ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรม ที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส เครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อ กิเลสเครื่องสำคัญตน และกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่นเราอาศัยอะไร กล่าวแล้ว

ดูกรภิกษุ ความสำคัญตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็น สัตว์มีรูป เราจักต้องเป็น สัตว์ไม่มีรูป เราจักต้อง เป็นสัตว์ มีสัญญา เราจักต้องเป็น สัตว์ ไม่มีสัญญา เราจักต้อง เป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ 

ดูกรภิกษุ ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนี ผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว และ มุนีผู้สงบแล้ว แล ย่อมไม่เกิด ไม่แก ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้อง เกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร  เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย จักกำเริบ ได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร ข้อที่เรากล่าว ดังนี้ว่า คนเรามี ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่อง สำคัญตน และกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไปก็เมื่อกิเลส เครื่องสำคัญตน และกิเลส เครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้วนั่นเราอาศัย เนื้อความ ดังนี้ กล่าวแล้ว

ดูกรภิกษุ ท่านจงทรงจำ ธาตุวิภังค์ ๖ โดยย่อนี้ ของเราไว้เถิด
.............................................................................................................................................................

[๖๙๔]  ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติ ทราบแน่นอนว่า พระศาสดา พระสุคต พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้าแล้ว ผู้มีอาการ โง่เขลาไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียก พระผู้มีพระภาค ด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ  ขอพระผู้มีพระภาค จงรับ อดโทษล่วงเกิน แก่ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด ฯ

[๖๙๕]  พ. ดูกรภิกษ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษ
ล่วงเกิน โดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ 


ดูกรภิกษุ  ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม  ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย
       ปุ.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มี พระภาคเถิดฯ
       พ.  ดูกรภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ ฯ
       ปุ.  ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
       พ.  ดูกรภิกษุ ตถาคตทั้งหลาย จะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ  อุปสมบทไม่ได้เลย
.............................................................................................................................................................

[๖๙๖] ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาต ยินดี อนุโมทนาพระภาษิต ของพระผู้มี พระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีก ไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติ ผู้กำลังเที่ยวหาบาตร จีวรอยู่ 

ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับแล้วถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญกุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่ พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วย พระโอวาทย่อๆ คนนั้นทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติอย่างไร  มีสัมปรายภพ อย่างไรฯ

[๖๙๗]  พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุ ธรรม สมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึง อุปปาติกเทพ* เพราะสิ้น สัญโญชน์ อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่ กลับมา จากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดาฯ
*(ผุดเกิด สุทธาวาสชั้นที่5 อุทธังโสโต)

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว  ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ  ธาตุวิภังคสูตร  ที่  ๑๐


ดูพระสูตรอื่นที่เกี่ยวข้อง
อุทเทสวิภังคสูตร (ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไป ไม่ตั้งสงบอยู่ ไม่พึงสะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น)

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์