เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
เขมาเถรีสูตร การสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ เขมาภิกษุณี 1437
 

(โดยย่อ)
เขมาเถรีสูตร
(พระเขมาภิกษุณี เอตทัคคะ ภิกษุณีผู้มีปัญญามาก )

พระเจ้าปเสนทิโกศล สนทนาธรรมกับ เขมาภิกษุณี
ราชบุรุษได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ภิกษุณีนามว่า เขมา เป็นสาวิกา(ศิษย์) ของพระผู้มีพระภาค มีกิตติศัพท์ อันงามฟุ้งขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้าเขมาภิกษุณีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ขอเชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปหาพระแม่เจ้านั้นเถิด ขอเดชะ

การสนทนา
ปเสนทิโกศล สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมเกิดหรือหนอ
เขมาภิกษุณี ปัญหานี้พระผู้มีพระภาค มิได้ทรงพยากรณ์

ป. ก็สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ
ข. ปัญหานี้พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์

ป. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี หรือหนอ
ข. ปัญหานี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์

ป. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้หรือ
ข. แม้ปัญหานี้ พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ อีกเหมือนกัน

ป. อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหานี้

ข. มหาบพิตรจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน.. นักคำนวณสามารถคำนวณทรายในแม่น้ำ คงคา ว่ามีกี่ร้อย กี่พัน กี่แสนเม็ด ได้หรือไม่
ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า

ข. นั่นเพราะเหตุไร ขอถวายพระพร
ป. เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ โดยยาก

ข. มีนักคำนวณสามารถคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้อาฬหกะ หรือว่ามีร้อย มีพัน..อาฬหกะ
ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า

ข. นั่นเพราะเหตุไร ขอถวายพระพร
ป. ข้าแต่แม่เจ้า เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ โดยยาก

ข. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันพระตถาคต ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา

ข. พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่า เป็นรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นของลึก ประมาณ ไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมเกิด อีกก็ดี ย่อม ไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร

ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดี อนุโมทนาภาษิตของ พระเขมาภิกษุณี เสด็จลุกจาก อาสนะ ไหว้พระเขมาภิกษุณีทรงกระทำประทักษิณ แล้ว เสด็จจากไป

สมัยต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ทรงถามปัญหาเดียวกัน
และพระผู้มีพระภาคก็ตอบเหมือนกันกับ เขมาภิกษุณี ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลประหลาดใจ..

ป. อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า ไม่เคยมี ในข้อที่ อรรถ กับ อรรถ พยัญชนะ กับ พยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวิกา ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๔๐๓-๔๐๙

เขมาเถรีสูตร

          [๗๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระเขมาภิกษุณี เมื่อเที่ยวจาริกไป ในแคว้นโกศล เข้าอยู่ ณ ที่โตรณวัตถุ ในระหว่างพระนครสาวัตถี กับเมืองสาเกต

     ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จออกจากเมืองสาเกตจะไปยังพระนครสาวัตถี ประทับแรม ๑ ราตรีที่โตรณวัตถุ ระหว่างพระนครสาวัตถีกับเมืองสาเกต ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสสั่งว่า

    ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปดูให้รู้ว่า ณ ที่โตรณวัตถุมีสมณะ หรือพราหมณ์ ซึ่งสมควรที่เราจะพึงเข้าไปหา ณ วันนี้หรือไม่ ราชบุรุษนั้นทูลรับพระดำรัสของ พระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว เที่ยวไปยังโตรณวัตถุจนทั่ว ก็ไม่ได้พบเห็นสมณะ หรือ พราหมณ์ ซึ่งสมควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะ พึงเสด็จเข้าไปหา

          [๗๕๓] ราชบุรุษนั้นได้พบพระเขมาภิกษุณี ซึ่งเข้าอาศัยอยู่ ที่โตรณวัตถุ ครั้นพบแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูล พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่โตรณวัตถุ ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ ซึ่งสมควรที่พระองค์จะพึงเสด็จเข้าไปหาเลย มีภิกษุณีนามว่าเขมา เป็นสาวิกาของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระแม่เจ้านั้น มีกิตติศัพท์ อันงามฟุ้งขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้าเขมาภิกษุณีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ขอเชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปหาพระแม่เจ้านั้นเถิด ขอเดชะ

          [๗๕๔] ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปหาพระเขมาภิกษุณี ถึงที่อยู่ ทรงไหว้พระเขมาภิกษุณีแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งโตรณ แปลว่าเสาค่าย หรือเสาระเนียค ณ ที่นี้เข้าว่าเป็นค่าย

    ครั้นแล้วได้ตรัสถามพระเขมา ภิกษุณีว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมเกิดหรือหนอ พระเขมา ภิกษุณี ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค มิได้ทรงพยากรณ์
    ป. ข้าแต่แม่เจ้า ก็สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ
    ข. ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
    ป. ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี หรือหนอ
    ข. ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
    ป. ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้หรือ
    ข. ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ อีกเหมือนกัน

          [๗๕๕] ป. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อม ไม่เกิด อีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหา ที่พระผู้มี พระภาค ไม่ทรงพยากรณ์

     เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ท่านก็ตอบว่าขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็น ปัญหา ที่พระผู้มี พระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรง พยากรณ์ ข้าแต่แม่เจ้า อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหานี้

          [๗๕๖] ข. ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจักขอย้อนถามมหาบพิตร ในปัญหาข้อนี้บ้าง ปัญหาข้อนั้นพอพระทัยมหาบพิตรอย่างใด มหาบพิตรพึงทรง พยากรณ์ปัญหาข้อนั้นอย่างนั้นเถิด ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน มหาบพิตร มีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถ จะคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ หรือว่ามีทรายเท่านี้ ร้อยเม็ด หรือว่ามีทรายเท่านี้พันเม็ด หรือว่ามีทรายเท่านี้แสนเม็ด หรือไม่

    ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า
    ข. และมหาบพิตร มีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะ คำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้อาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้ร้อยอาฬหกะ หรือว่า มีน้ำเท่านี้พันอาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้แสนอาฬหกะ หรือไม่ขอถวายพระพร

    ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า
    ข. นั่นเพราะเหตุไร ขอถวายพระพร
    ป. ข้าแต่แม่เจ้า เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ โดยยาก

          [๗๕๗] ข. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติ ด้วยรูปใด รูปนั้นอันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจ ตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา

    ดูกรมหาบพิตร พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร

     เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติ ด้วยเวทนาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติ ด้วยสัญญาใด ... เมื่อบุคคลบัญญัติ สัตว์ พึงบัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด ... เมื่อ บัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้นอันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีก ต่อไปเป็นธรรมดา

    ดูกรมหาบพิตร พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตาย แล้ว ย่อมเกิดก็ดี ย่อมไม่เกิดก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ก็ย่อมไม่ควร

    ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดี อนุโมทนาภาษิตของ พระเขมาภิกษุณี เสด็จลุกจากอาสนะ ไหว้พระเขมาภิกษุณีทรงกระทำประทักษิณ แล้ว เสด็จจากไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

          [๗๕๘] สมัยต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหา ที่อาตมภาพไม่พยากรณ์

    ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ
    พ. ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์เหมือนกัน
    ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีก ก็มีหรือ
    พ. ขอถวายพระพร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์
    ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่ เกิดอีกก็หามิได้หรือ
    พ. ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพ ไม่พยากรณ์อีก นั่นแหละ
    ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามว่า

     สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ ข้าพระองค์ ทูลถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้หรือ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหา ที่อาตมภาพไม่พยากรณ์อีกนั่นแหละ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็น ปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคไม่พยากรณ์ปัญหาข้อนั้น

          [๗๕๙] พ. ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจักย้อนถามมหาบพิตร ในปัญหาข้อนั้นบ้าง ปัญหาข้อนั้นพอพระทัยมหาบพิตรอย่างใด มหาบพิตรพึงทรง พยากรณ์ปัญหาข้อนั้นอย่างนั้นเถิด ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน มหาบพิตรทรงมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาว่า เม็ดทรายมีประมาณเท่านี้ ฯลฯ หรือว่ามีทรายประมาณเท่านี้แสนเม็ดหรือไม่

     ป. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า
     พ. และมหาบพิตรทรงมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถ จะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า มีน้ำเท่านี้อาฬหกะ ฯลฯ หรือว่ามีน้ำเท่านี้แสน อาฬหกะ หรือไม่
     ป. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า
     พ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร มหาบพิตร
     ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่ามหาสมุทร เป็นของลึกประมาณไม่ได้หยั่งถึงได้โดยยาก พระเจ้าข้า

          [๗๖๐] พ. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติ ด้วยรูปใด รูปนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาล ยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา

     ดูกรมหาบพิตร ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทร ฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วย เวทนาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติ ด้วยสังขารเหล่าใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลย อดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

    ดูกรมหาบพิตร ตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทร ฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร

          [๗๖๑] ป. อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถ กับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวิกา ย่อมเทียบกัน ได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่งข้าพระพุทธเจ้า ได้ไปหาพระเขมาภิกษุณี ไต่ถามความข้อนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แม้แม่เจ้ารูปนั้นก็ได้พยากรณ์ความข้อนี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่ข้าพระพุทธเจ้า ดุจพระผู้มีพระภาค เหมือนกัน น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมาพระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะ กับพยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีกรณีย์มาก ถ้ากระไร จึงขอทูลลาไปในบัดนี้

     พ. ขอถวายพระพร บัดนี้ มหาบพิตร ทรงทราบกาลอันสมควรเถิด ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้น จากอาสนะ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๑๕๙

พระผู้มีพระภาคกล่าวชมสาวก ที่เป็นพุทธบริษัท ๔

ผู้เป็นตราชู (ผู้มีความเที่ยงตรงต่อศาสนา) เป็นประมาณแห่งสาวกของตถาคต
ภิกษุ - สารีบุตร และ โมคคัลลานะ
ภิกษุณี - พระเขมาภิกษุณี และ พระอุบลวรรณาภิกษุณี
อุบาสก - จิตตคฤหบดี และ หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี
อุบาสิกา - นางขุชชุตราอุบาสิกา และนางเวฬุกัณฏกีนันทมารดา



          [๑๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศรัทธาเมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตร และ โมคคัลลานะ นี้ เป็นตราชู เป็นประมาณแห่ง ภิกษุทั้งหลาย ผู้สาวกของเรา

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนา อย่างนี้ ว่า ขอเราจงเป็น เช่น พระเขมาภิกษุณี และ พระอุบลวรรณาภิกษุณี เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขมาภิกษุณี และอุบลวรรณาภิกษุณีนี้ เป็นตราชู เป็นประมาณ แห่งภิกษุณี ทั้งหลาย ผู้สาวิกาของเรา

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ ว่า ขอเราจงเป็นเช่น จิตตคฤหบดี และ หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตตคฤหบดีและหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีนี้ เป็นตราชู เป็นประมาณแห่ง อุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ ว่า ขอเราจงเป็นเช่น นางขุชชุตราอุบาสิกา และ นางเวฬุกัณฏกีนันทมารดา เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นางขุชชุตราอุบาสิกา และนางเวฬุกัณฏกีนันทมารดานี้ เป็นตราชู เป็นประมาณของอุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์