พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๓๓
(1) ยอดมหาโจร
(อวดคุณวิเศษที่ไม่จริง เพื่อการได้มาซึ่งโภคทรัพย์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๓๑
(2) ทรงติเตียนเรื่องภิกษุอวดอุตริ
[๒๒๙] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกัน และกัน แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า
ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้ว ด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่าอันพวกเธอกล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลยข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้อง ด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการ กระทำนั้น เป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้น เป็นปัจจัยเบื้องหน้า แต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนบุคคลผู้กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน แก่พวกคฤหัสถ์ นั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการ กระทำนี้แล เป็นเหตุ
ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใส ของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชน ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของคนบางพวก ผู้เลื่อมใส แล้ว ครั้นแล้วทรงกระทำธรรมมีกถารับสั่งกะภิกขุทั้งหลาย ว่าดังนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้าที่ ๓๐๕
(3) เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
[๓๐๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี. ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหา กันมา จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา.
ก็แลสมัยนั้น วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร. ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร.
ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยการ ถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย.
จึงภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า บัดนี้วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหา เลี้ยงชีพ ฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพ ให้เป็นไป ด้วยการ ถือบาตร แสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย. พวกเราจะพึงเป็น ผู้พร้อม เพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบาก ด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบาย อย่างไรหนอ.
ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ อาวุโสทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจะช่วยกันอำนวย กิจการ อันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวาย บิณฑบาต แก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกและจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต.
ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า ไม่ควร ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการ ช่วยกัน อำนวยกิจการ อันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเรา จงช่วยกัน นำข่าวสาส์น อันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราจักเป็นผู้พร้อม เพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วย บิณฑบาต.
ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า อย่าเลย ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการ ช่วยกัน อำนวยกิจการ อันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ จะประโยชน์อะไร ด้วยการ ช่วยกัน นำข่าวสาส์น อันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจัก กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกัน และกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้น ได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติยฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้ จตุตถฌาน รูปโน้น เป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกทาคามี รูปโน้นเป็น พระอนาคามี รูปโน้นเป็น พระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจัก มุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราก็จะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต.
ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า อาวุโสทั้งหลาย การที่พวกเราพากัน กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรม ของกันและกัน แก่พวกคฤหัสถ์นี้แหละ ประเสริฐที่สุด แล้วพากัน กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน แก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้น ได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติยฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็น พระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกทาคามี รูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็น พระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้.
ประชาชนพากันยินดี
ครั้นต่อมา ประชาชนเหล่านั้นพากันยินดีว่า เป็นลาภของพวกเราหนอ พวกเราได้ดี แล้วหนอ ที่มีภิกษุทั้งหลายผู้ทรงคุณพิเศษเห็นปานนี้ อยู่จำพรรษา เพราะก่อนแต่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาของพวกเรา จะมีคุณสมบัติ เหมือนภิกษุ ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้ ไม่มีเลย โภชนะชนิดที่พวกเขาจะถวาย แก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่บริโภคด้วยตน ไม่ให้มารดา บิดาบุตร ภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ของเคี้ยว ของลิ้ม น้ำดื่ม ชนิดที่พวกเขา จะถวาย แก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่ดื่มด้วยตน ไม่ให้มารดา บิดา บุตร ภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต.
จึงภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง.
ประเพณีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
[๓๐๕] ก็การที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษา แล้วเข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคนั่น เป็นประเพณี.
ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวร หลีกไป โดยมรรคา อันจะไปสู่พระนครเวสาลี. ถึงพระนครเวสาลี ป่ามหาวัน กูฏคารศาลา โดยลำดับ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลาย เป็นผู้ผอม ซูบซีด มีผิวพรรณหมอง เหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น. ส่วนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำ วัคคุมุทา เป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง.
ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะ
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้ พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า, อนึ่ง พวกข้าพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า.
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถาม ก็มีทรงทราบกาล แล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระตถาคตทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาค พุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรง แสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบท แก่พระสาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง.
ตรัสถาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยวิธีการอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูล เนื้อความนั้นให้ทรงทราบแล้ว.
ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่น มีจริงหรือ?
ภิ. มีจริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๕๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่ อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์
เพราะมีจริง. (*อนุสัมปัน หมายถึง สามเณร กับคฤหัสถ์ หรือฆราวาส)
เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา จบ.
(อ่านต่อพระสูตรต่อเนื่อง แจกแจงถึงข้อบัญญัตินี้ อย่างละเอียด)
(อ่านบทความเรื่อง อวดอุตริ)
|