เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ

   บทความธรรมะ  
     
1 บทความเรื่องอวดอุตริมนุสธรรม  
2 การอวดอุตตริมนุสสธรรมคืออะไร  
3 เหตุผลที่ห้ามพระอวดอุตตริมนุสธรรม  
4 การอวดอุตตริมนุสสธรรมกับลัทธิบูชาตัวบุคคล  
5 อนุปุพพิกถา ๕ ประการ  
     


1
บทความเรื่องอวดอุตริมนุสธรรม
(โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ / จากเว็บไซต์ ประชาไท )


ดูรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” นำเสนอคลิปหลวงปู่เณรคำนิมิต (ฝัน) เห็นเทวดาแล้ว มีคำถามทำนองว่า เข้าข่ายต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องดี ที่ สื่อหลัก สื่อรองจะนำเสนอปัญหา ตรวจสอบการกระทำของพระให้มากขึ้น เพราะพระ ก็คือบุคคล สาธารณะ ที่ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนบุคคลสาธารณะอื่นๆ

แต่ผมมีข้อสังเกตว่า หากเป็นเรื่องฉาวของพระเล็กพระน้อย หรือพระชื่อดังที่อยู่ ห่างไกล จากศูนย์กลางอำนาจคณะสงฆ์ หรืออำนาจจารีต สื่อก็จะนำเสนอข่าว อย่างเจาะลึก และต่อเนื่องมากเป็นพิเศษ ทั้งที่จริงๆแล้ว พฤติกรรมที่ถูกตั้งคำถาม ในเรื่อง อวดอุตตริ มนุสสธรรม ของพระชื่อดัง เป็นปัญหามานานแล้ว แต่ก่อน หลวง ตามหาบัว ญาณสัมปันโน ประกาศตนว่า “บรรลุเป็นพระอรหันต์” ก็ไม่เคยเห็นสื่อหลัก นำเสนอ ปัญหานี้

ปัญหาวัตถุมงคลพาณิชย์ เช่นการปลุกเสกวัตถุมงคล ก็มีอยู่ทั่วไป แม้แต่วัดของ สมเด็จ พระสังฆราชเอง แต่วัดที่ห่างจาก ศูนย์กลางอำนาจเท่านั้น ที่ถูกวิจารณ์

เรื่องที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการอวด อุตตริมนุนสธรรมในเชิงอ้าง “ญาณวิเศษ” หยั่งรู้ อดีตชาติ และรู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน เช่นกรณีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หรือแม้แต่กรณีพระผู้ใหญ่ที่เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงฆ์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ถูกอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำหนังสือร้องเรียน เรื่องต้องอาบัติปาราชิก ก็ไม่เห็นสื่อหลักสนใจ จะเสนอข่าว เชิงวิเคราะห์เจาะลึกแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่อาจารย์สุลักษณ์ก็พูดปัญหานี้ ต่อสาธารณะ บ่อยมาก และตัวอาจารย์สุลักษณ์เอง ก็ไม่ใช่บุคคลลึกลับ ที่สื่อจะไปสัมภาษณ์ สอบถาม ข้อเท็จจริงไม่ได้


2
การอวดอุตตริมนุสสธรรมคืออะไร

การอวดอุตตริมนุสสธรรมไม่ใช่ปัญหาเรื่องมุมมอง เรื่องของความคิดเห็น หรือเป็นเรื่อง ที่ “แล้วแต่ใครจะตีความ” แต่เป็นเรื่องที่พระภิกษุ ในนิกายเถรวาท ต้องปฏิบัติตาม วินัยสงฆ์ นิกายเถรวาทที่บัญญัติไว้ในวินัยปิฎกอย่างชัดเจนว่า “ภิกษุอวดอุตตริ มนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก” และ “ถ้าบอกอุตตริมนุสสธรรม ที่มีในตน แก่อนุปสัมบัน (บุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุและภิกษุณี) ต้องอาบัติปาจิตตีย์” หมายความว่า การอวดอุตตริมนุสสธรรมแก่ฆราวาสนั้น “ผิดวินัยสงฆ์” อย่างไม่อาจ ปฏิเสธได้

ถ้าสิ่งที่อวดนั้นไม่จริง เช่น บอกเล่า ประกาศ หรือแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้ ผู้คน รู้ว่าตนเองบรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ทั้งหมดนั้น หรือเพื่อให้รู้ว่าตนเองมีคุณวิเศษต่างๆ เช่นสามารถระลึกชาติได้ รู้ว่า ใครตายแล้ว ไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน ภาษาทางศาสนาคือการอวดว่าตนเองมีวิชชา 3 อภิญญา 6 สมาบัติ 8 เป็นต้น ซึ่งตนเองไม่ได้บรรลุ หรือไม่ได้มีคุณวิเศษต่างๆ เหล่านี้จริง ย่อมต้องอาบัติปาราชิก

แต่ถึงแม้จะบรรลุจริง มีคุณสมบัติเหล่านั้นจริง หากบอกแก่ฆราวาส (รวมทั้งสามเณรด้วย เพราะสามเณรและฆราวาสคือ “อนุปสัมบัน”) ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาราชิก มีโทษหนัก คือขาดจากความเป็นพระ อาบัติปาจิตตีย์ มีโทษอย่างกลาง ปลงอาบัติ ได้ด้วยการสารภาพผิด แก่พระภิกษุ ด้วยกัน โดยให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก (หมายความว่าอาบัติต่ำกว่าปาราชิกลงมา พุทธะให้สังฆะใช้วัฒนธรรมการยอมรับ หรือ สำนึกผิด การว่ากล่าวตักเตือนกันอย่าง กัลยาณมิตรในการแก้ปัญหา แต่ถ้าต้องอาบัติ ปาราชิก ก็ขาดจากความเป็นพระต้อง “สละสมณเพศ” ไปเป็นเพศฆราวาสก็ยังศึกษา ปฏิบัติธรรมได้ แต่เป็นพระไม่ได้ แม้ต้องอาบัติปาราชิกแล้วไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมสึก ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติของพระ ไปแล้ว)

ปัญหามีว่า สำหรับผู้ที่ศรัทธาในพระชื่อดังรูปนั้นๆ เขาอาจเชื่อว่าพระรูปนั้นๆ มีญาณ วิเศษจริง และหากเขาจะเชื่อจะทำบุญกับพระเช่นนั้น ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เป็น เสรีภาพของเขา ใช่ครับหากมองจากมุมของผู้ศรัทธาย่อมเป็นเสรีภาพ แต่ถ้ามองจาก หลัก การพุทธศาสนาคัมภีร์ ก็อธิบายว่า “พระที่บรรลุโสดาบันขึ้นไปมี คุณสมบัติ ที่แน่นอนคือ มีศีลบริสุทธิ์ โดยธรรมชาติหรือปกติวิสัยของพระเช่นนี้ จะไม่ละเมิด วินัยสงฆ์”

ฉะนั้น การที่พระที่เชื่อกันว่า เป็นพระอริยะเป็นพระอรหันต์ อวดอุตตริมนุสสธรรมบ่อยๆ แสดงตนหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของบุคคลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดย ไม่ฟังเสียงท้วงติง จากการอ้างอิงวินัยสงฆ์ตรวจสอบเลยนั้น ก็แสดงว่าพระที่อ้างว่า เป็นพระอริยะเป็น พระอรหันต์นั้น ทำผิดวินัยสงฆ์เป็นอาจิณ ถ้าทำผิดวินัยเป็นอาจิณ ก็ไม่ใช่พระอริยะจริง ไม่ใช่พระอรหันต์จริง


3
เหตุผลที่ห้ามพระอวดอุตตริมนุสธรรม

ในวินัยปิฎกกล่าวถึงสาเหตุที่พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ห้ามภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมว่า เกิดจากกรณีภิกษุมากรูปที่จำพรรษา อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ในวัชชีชนบท สมัยนั้น เกิดปัญหาทุพภิกขภัย พระภิกษุบิณฑบาตไม่พอฉัน พระเหล่านั้นจึงออกอุบาย สรรเสริญคุณวิเศษ ของกันและกัน ให้ญาติโยมฟังว่า พระรูปนั้นรูปนี้บรรลุมรรคผล ขั้นนั้น ขั้นนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ จนญาติโยมเลื่อมใส เลือกสรรอาหารที่ดีที่สุด แม้จะหามาได้ยากมาก แต่ก็ไม่ยอมบริโภคเอง พากันนำไปถวายพระที่ถูกยกย่องว่า เป็นพระอริยะ เป็นอรหันต์ มีคุณวิเศษต่างๆ

ต่อมาเมื่อพุทธะทราบเรื่อง จึงสอบถามภิกษุเหล่านั้นว่ามีคุณวิเศษต่างๆ จริงตามที่ อวดชาวบ้านหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่าไม่มี พุทธะจึงจึงตำหนิ การกระทำของ ภิกษุเหล่านั้น และบัญญัติวินัยว่า ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติ ปาราชิก และหากบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีในตน แก่อนุปสัมบัน*ต้องอาบัติปาจิตตีย์
*(สามเณรและฆราวาส ยกเว้น ภิกษุ กับภิกษุณี)

เหตุผลที่พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ข้อนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ ใช้วิธีการหลอกลวง หากินกับชาวบ้าน หรือมุ่งแสวงหาลาภสักการะ หรือผลประโยชน์จากชาวบ้าน พุทธะ กล่าวเปรียบเทียบ การอวดอุตตริมนุสสธรรม เพื่อทำการตลาดเรียกความศรัทธา เลื่อมใส จากชาวบ้านว่าเป็นการกระทำเยี่ยง “ยอดมหาโจร”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัด เป็น ยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าว ของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 230)

(ภาษาคัมภีร์เป็นภาษาในบริบทวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ที่เชื่ออยู่ก่อนว่ามีโลกต่างๆ หลายโลก แม้ในปัจจุบันคนอินเดียก็ยังเชื่อเช่นนั้น มีผู้ลองคำนวณว่าเทพเจ้า ที่คนอินเดียนับถือ มีประมาณสามแสนองค์ – ดู กฤษณมูรติ.ศาสนาแบ่งแยกมนุษย์, หน้า 7)


4
การอวดอุตตริมนุสสธรรมกับลัทธิบูชาตัวบุคคล

ที่จริงการอวดอุตตริมุสธรรม ถ้าพูดในภาษาปัจจุบัน ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อ เกินความ เป็นจริง หรือการโกหกหลอกลวงนั่นเอง พุทธะไม่ต้องการให้สาวกของท่าน ทำแบบนั้น เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่ง “ความเลื่อมใส”

เป็นที่ตั้งแห่ง “ความเลื่อมใส” แต่เดิมนั้นหมายความว่า พระอริยะหรือพระอรหันต์ มีสถานะเป็น “คุรุทางธรรม” มีชีวิตเรียบง่ายไม่เกี่ยวข้อง กับลาภสักการะ หรือยศถา บรรดาศักดิ์ ส่วนผู้ที่แสวงหาพระอริยะหรือพระอรหันต์นั้น ก็ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งการบริจาค ทรัพย์ ทำบุญ กับพระอริยะ หรือพระอรหันต์ แต่คือผู้ที่แสวงหากัลยาณมิตรทางปัญญา ที่จะแลกเปลี่ยนสนทนา หรือให้คำอธิบายที่ทำให้เข้าใจความทุกข์ และทาง พ้นทุกข์ได้ เช่น การแสวงหาพระอรหันต์ของ อุปติสสะ (สารีบุตร) กับโกลิต (โมคคัลลานะ) ก็แสวงหาเพื่อจะได้ฟังธรรม พอฟังธรรมเสร็จก็บรรลุธรรม หรือรู้แจ้ง ธรรม หรือการ แสวงหาพุทธะของพาหิยะเมื่อพบพุทธะ กำลังเดนบิณฑบาตบนถนน ก็เร่งเร้าให้ท่าน แสดงธรรมให้ฟัง จนกลายมาเป็นเค้าเรื่องให้นักเขียนฝรั่งไปแต่งนิยาย “กามนิต-วาสิฏฐี” เป็นต้น

แม้พุทธะก็นิยามตัวท่านเองว่าเป็นกัลยาณมิตรทางปัญญา ของผู้คนเท่านั้น เป็นมนุษย์ ธรรมดา ไม่ได้เป็น ”อภิมนุษย์” หรือผู้วิเศษอะไร หลายๆ เรื่องพุทธะก็สอนสาวก ของท่านไม่ได้ พระชาวเมืองโกสัมพี ทะเลาะขัดแย้งกัน แบ่งออกเป็นสองฝ่าย พุทธะ ไปเทศนา ให้ปรองดองกัน ถึงสามวาระพระภิกษุเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง พระเทวทัต ซึ่งเป็นญาติกันก็ไม่เชื่อฟังท่าน อดีตอำมาตย์คนสนิทที่มาบวชพระ ก็ไม่เชื่อฟังท่าน เป็นต้น

ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล เมื่อพุทธศาสนา อยู่ในบริบทการแข่งขัน ช่วงชิงศาสนิก กับ ต่างศาสนามากขึ้น การโปรโมทความเป็นอภิมนุษย์ ความเป็นส้พพัญญูเชิง มีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ ของพุทธะ และพระอรหันต์จึงมีมากขึ้นในคัมภีร์ชั้นหลังๆ

ในขณะเดียวกันก็มีการโฆษณาชวนเชื่อ เรื่องอานิสงส์การทำบุญ (ซึ่งแต่เดิมหมาย ถึงทำเพื่อสละความเห็นแก่ตัว และให้เห็นแก่ส่วนรวม) อย่างวิจิตรพิสดารมากขึ้น เช่น สร้างโบสถ์วิหารแล้วตายไป จะเกิดเป็นเทพบุตรมีนางฟ้าห้าร้อยเป็นบริวาร หรือ อย่างปัจจุบัน โฆษณาชวนเชื่อ ว่าบริจาคมากรวยมาก ทำบุญแล้วเกิดมารวย สวย หล่อ ถวายกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ชาติหน้าจะมีกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ใช้อีก ฯลฯ

กล่าวโดยรวดรัด การอวดอุตตริหรืออวดคุณวิเศษเกินจริง ได้กลายเป็น “วัฒนธรรม” ไปแล้วเมื่อพุทธศาสนารวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ หรือกลายเป็น “ศาสนาแห่งรัฐ” พุทธศาสนาเช่นนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสร้าง “ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ” ขึ้นมาที่ชัดเจน คือ

สร้างลัทธิบูชาชนชั้นปกครองให้เป็นพระโพธิสัตว์ หรือแม้กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า เช่น เรียกกษัตริย์ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” เป็นต้น คำราชาศัพท์ที่ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” ก็แปล่า “ข้าของพระพุทธเจ้า (ที่เป็นกษัตริย์)”

สร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลที่เป็นพระสงฆ์ ด้วยการโปรโมทความเป็นพระอริยะ พระอรหันต์ โปรโมทความเป็น “เนื้อนาบุญ” ที่มีอานุภาพดลบันดาล ความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจ วาสนา ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ผู้บริจาคทำบุญตั้งความปรารถนา

ลัทธิบูชาตัวบุคคลดังกล่าวทำให้สถานะของบุคคล ที่ถูกยกย่องอยู่เหนือหลักการ ที่ถูกต้อง เช่น ทำให้สถานะที่ตรวจสอบไม่ได้ ของชนชั้นปกครองอยู่เหนือ หลักการ ประชาธิปไตย และทำให้พระสงฆ์ที่ถูกโปรโมทว่าเป็นอริยะ อรหันต์ อยู่เหนือหลักการ พระธรรมวินัย

เวลามีใครอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยเรียกร้องสิทธิตรวจสอบชนชั้นปกครอง ก็จะถูก ต่อต้านโดยผู้คนจำนวนมากที่ถูกปลูกฝัง กล่อมเกลาให้เชื่ออย่างฝังหัว ในลัทธิบูชา ชนชั้น ปกครอง และเวลามีใครอ้างหลักการพระธรรมวินัยตรวจสอบพระชื่อดัง ที่อวด อุตตริมนุสสธรรม ก็จะมีบรรดาผู้ศรัทธาจำนวนมากออกมาคัดค้าน เพราะเชื่อในความดี ของตัวบุคคลเหนือความเชื่อในหลักการ

ปัญหาปรากฏการณ์พระชื่อดัง อวดอุตตริมนุสสธรรม ที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มี คำตอบว่า จะสิ้นสุดเมื่อใด จึงสะท้อนให้เห็นปัญหา ในระดับรากฐาน ของสังคมไทย คือ ปัญหาการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้าง “ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ” เพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและพระสงฆ์เอง

อันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนานจนเป็นอุปสรรคที่ยากยิ่ง ต่อการสร้างวัฒนธรรม เคารพหลักการประชาธิปไตย และหลักการพระธรรมวินัย อย่างสอดคล้องกับโลก สมัยใหม่




5

อนุปุพพิกถา ๕ ประการ

มีบางท่านบอกมาว่า

"จะให้ธรรมทานบทไหนก็ได้
แต่อย่าพูดเรื่องสวรรค์ กับเรื่องนิพพาน
ตราบใดเรายังทำลายขันธ์ ๕ ยังไม่ได้
มันจะเป็นบาปทางวาจา"

แต่เมื่อมาวิเคราะห์พิจารณาตามหลัก
กาลามสูตรแล้ว ข้อความที่ท่านบอกมา
มาขัดกับพระพุทธองค์ เพราะ
พระพุทธองค์ก็ทรงสอนเรื่อง
สวรรค์ กับเรื่องนิพพาน
แต่พระพุทธองค์ท่านทรงสอนไปเป็นลำดับ
ดังที่มีปรากฏอยู่ใน อนุปุพพิกถา ๕ ประการ คือ

ทานกถา กล่าวคือทาน
สีลกถา กล่าวถึงศีล
สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม
เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวอานิสงส์แห่งการออกจากกาม

เหตุที่สอน อนุปุพพิกถา เพราะ

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม
แล้วทรงประกาศธรรมเป็นเวลา๔๕ ปี
ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย
เพราะธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนเพื่อพ้นจากทุกข์
นั้นคือ อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นธรรมขั้นสูง
ยากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจได้

ปัญหานี้เองจึงต้องวิธีการเตรียมความพร้อมของผู้ฟัง
โดยการแสดงธรรมโดยเริ่มจากธรรมที่เข้าใจง่ายๆ
ไปถึงธรรมที่มีความลุ่มลึกขึ้นยากขึ้นเป็นลำดับไป
จากทานไปจนถึงวิมุตติ หลุดพ้นนิพพาน

"อนุปุพพิกถา" จึงเป็นวิธีเตรียมใจ
เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นๆ
จากง่ายไปหายาก

อนุปุพพิกถา หมายถึง เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ
เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นๆ
จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อม
ที่จะรับฟังธรรมชั้นสูง คือ อริยสัจ มี ๕ ประการ คือ

๑. ทานกถา กล่าวคือทาน หมายถึง
การพรรณนาคุณเรื่องการให้ทานและอานิสงส์ของการให้ทาน
ทานแปลว่าให้ เมื่อเป็นผู้ให้ ก็จะเป็นผู้ไม่ขาดแคลน
เป็นเหตุให้ได้รับความสุข เพราะผู้รู้จักให้เป็นที่รักใคร่
ของคนหมู่มาก เป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง
เป็นหลักประกันของชีวิตในเวลาจะสิ้นใจ

๒. สีลกถา กล่าวคือศีล หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่อง
การรักษาศีลและอานิสงส์ของการรักษาศีลว่า ผู้มีศีล
เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นผู้มีความเป็นปกติ
เมื่อเป็นผู้ไม่เบียดเบียนก็ไม่ถูกเบียดเบียน
ย่อมไม่ประสบความเดือดร้อนเนื้อร้อนใจจากที่ไหนๆ
เพราะมีศีลเป็นเหมือนอาภรณ์อย่างประเสริฐ
เป็นหลักประกันในการได้สมบัติทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

๓. สัคคกถา กล่าวคือสวรรค์ หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่อง
สวรรค์ว่า เป็นที่อันเพรียบพร้อมด้วยกามสุขอันเป็นทิพย์
มีแต่สิ่งที่น่ารื่นเริงบันเทิงเริงใจ เป็นผลที่ได้รับจากการให้ทาน
รักษาศีล เป็นอานิสงค์ที่ได้รับจากการให้ทาน รักษาศีล
เจริญภาวนา แต่แม้สวรรค์เองก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน
ไม่ควรจะไปหลง แต่ควรรู้

๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม หมายถึง
การพรรณนาโทษเรื่องของกามว่า แม้จะเป็นความสุข
แต่ก็มีความทุกข์เจือปน ไม่มีความจีรังยังยืน
มีโทษมากแต่คุณน้อย เพราะเป็นเหตุให้เวียนวายอยู่ในสังสารวัฏ
โทษของกามเป็นทางมาแห่งเวร มากไปด้วยภัย
พระพุทธองค์เปรียบเทียบโทษของกามไว้ว่า

กามเปรียบเหมือนท่อนกระดูกเปล่า ไม่มีเนื้อและเลือดติดอยู่
เมื่อสุนัขหิวมาแทะเข้า ยิ่งแทะยิ่งเหนื่อย ยิ่งหิว อร่อยก็ไม่เต็มอยาก
ไม่เต็มอิ่ม พลาดท่าแทะพลาดไปถึงฟันหักได้

กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา แร้ง กา
หรือเหยี่ยวตัวอื่นก็จะเข้ารุมจิกแย่งเอา คือไม่เป็นของสิทธิ์ขาดแก่ตัว
ผู้อื่นแย่งชิงได้ คนทั้งหลายต่างก็ต้องการหมายปองเอา
จึงอาจต้องเข่นฆ่ากันเป็นทุกข์แสนสาหัส

กามเปรียบเหมือน คนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าลุกโพลง เดินทวนลมไป
ไม่ช้าก็ต้องทิ้ง มิฉะนั้นก็โดนไหม้มือ ระหว่างเดินก็ถูกควันไฟรมหน้า
ต้องทนทุกข์ทรมานย่ำแย่

กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิตทั้งๆ
ที่รู้ว่าหากตกลงไปแล้ว ถึงไม่ตายก็สาหัสแต่ก็แปลกเหมือนมีอะไรมาพรางตาไว้
เหมือนมีแรงลึกลับมาคอยฉุดให้ลงหลุมอยู่ร่ำไป

กามเปรียบเหมือนความฝัน เห็นทุกอย่างเฉิดฉายอำไพ
แต่ไม่นานก็ผ่านไป พอตื่นขึ้นก็ไม่เห็นมีอะไร เหลือไว้แต่ความเสียดาย

กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา เอาออกแสดงก็ดูโก้เก๋ดี
ใครเห็นก็ชม แต่ก็ครอบครองไว้อย่างไม่มั่นใจ ได้เพียงชั่วคราว
ไม่เป็นสิทธิ์เด็ดขาด เจ้าของตามมาพบเมื่อไรก็เอาคืนเมื่อนั้น

กามเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า ใครผ่านมาเมื่อเขาอยากได้ผล
จะด้วยวิธีไหนก็เอาทั้งนั้น ปีนได้ก็ปีน ปีนไม่ได้ก็สอย บางคนก็โค่นเลย
ใครอยู่บนต้นลงไม่ทันก็ถูกทับตาย เบาะๆ ก็แข้งขาหัก

กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ ใครไปยุ่งเกี่ยวก็เหมือนกับเอาชีวิตให้ถูกสับ
เพราะกามเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหลาย ทั้งกายและใจ
เหมือนเขียงเป็นที่รองรับคมมีดที่สับเนื้อจนเป็นแผลนับไม่ถ้วน

กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว ทำให้เกิดทุกข์ทิ่มแทงหัวใจ
เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวมาก ใครไปพัวพันในกามแล้ว
ที่จะไม่เกิดความเจ็บช้ำใจนั้นเป็นไม่มี
เหมือนหอกหลาวที่เสียดแทงร่างกายให้เกิดทุกขเวทนาอย่างนั้น

กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ เพราะกามประกอบด้วยภัยมาก
ต้องมีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่อาจปลงใจได้สนิท
วางจิตให้โปร่งไม่ได้ เป็นที่หวาดเสียวมาก
อาจฉกให้ถึงตายได้ทุกเมื่อเหมือนหัวงูพิษ เผลอเมื่อไหร่
กัดทันทีด้วยพิษกาม ไม่ตายในชาตินี้แต่ถึงสมหวังในกาม
ชาติหน้าก็เตรียมตัวลงอบายได้ ไม่มีทางรอด
เพราะจิตติดพิษคือกามแล้ว ต้องตายอย่างเดียว
ถ้าไม่รีบถอนด้วยพรหมจรรย์ หรือการรักษาอุโบสถศีลตามโอกาส

๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม หมายถึง
การพรรณนาถึงการออกจากกามและอานิสงส์ว่าเป็นความปลอดโปร่ง
จากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน เพื่อให้เกิดความพอใจที่จะคิดค้นหาวิธีการทำใจ
ไม่ให้หมกมุ่นในกามนั้น วิธีการออกจากกามให้ได้ผลดีก็
คือการออกบวชบำเพ็ญเพียร

การออกบวชบำเพ็ญเพียร
เป้าหมายของการบวชตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ชัดเจนตรงกัน คือ มุ่งพระนิพพาน
"สัพพะทุกขะนิสสรณะ นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ
แปลว่า ข้าพเจ้าขอออก บวชเพื่อสลัดกองทุกข์
และทำพระนิพพานให้แจ้ง"


ถ้าไม่กล่าวถึงนิพพานแล้วจะทำไปทำไม
มีเป้าหมายกันได้ ถึงไม่ถึง ก็ว่าไปตามเหตุและปัจจัยของแต่ละคน

เนกขัมมะอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
เป็นที่ปลอดเวรปลอดภัย ยุติเวรภัยด้วยประการต่างๆ
มีความสงบมีความโปร่งเบา มีความเป็นอิสระ
ไม่ไปเกี่ยวเกาะผูกพันกับกามคุณทั้งหลายมากเกินไป
พระพุทธองค์ทรงตรัส เนกขัมมะคือการออกซึ่งแปลว่าการออกจากกาม
หรือ การออกเพื่อคุณอันใหญ่นั้น

คนในโลกนี้ก็มีอยู่ ๔ ประเภทคือ
กายก็ไม่ออก ใจก็ไม่ออก หมายถึงคนที่มัวเมา
หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของกามทั้งหลาย

กายออก แต่ว่าใจไม่ออก หมายถึงคนที่ออกบวชเป็นนักบวช
ประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว แต่ว่าใจก็ยังหมกมุ่นวุ่นวาย
ครุ่นคิดอยู่กับเรื่องของกามทั้งหลาย

ใจออก แต่กายไม่ออก หมายถึงคนที่แท้จะอยู่ในบ้านในเรือน
แต่ว่าจิตใจไม่เกี่ยวเกาะห่วงใยอาลัย โหยหาถึงกาม
จิตใจของบุคคลนั้นก็เป็นอิสระจากกามทั้งหลาย
กามไม่สามารถจะโยกคลอนสร้างความหวั่นไหว
ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของท่านได้
แม้จะอยู่ในบ้านในเรือนก็ตามแต่ว่าจุดประสงค์ในพระพุทธศาสนานั้น ก็เน้นไปที่เป้าหมายสูงสุด

ออกทั้งทางกาย และใจ คือกายตนเองก็ออกไปจากการเกี่ยวเกาะ
กับวัตถุกามทั้งหลาย จิตใจก็จะไม่หมกมุ่นคิดห่วงใยอาลัยหา
อยู่กับวัตถุกามนั้นอีกต่อไป ท่านที่จะออกจากกามได้ทั้งกายและใจ
เช่นนี้จำต้องอาศัยการปฏิบัติ จนเกิดความรู้ความเข้าใจ
รู้แจ้งเห็นจริงตามหลักของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ หลุดพ้นได้

สรุป การศึกษาธรรมะต้องศึกษาจากง่ายไปหายาก
ดังที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสเรื่อง

ทานกถา กล่าวคือทาน
สีลกถา กล่าวถึงศีล
สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม
เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวอานิสงส์แห่งการออกจากกาม

====================================

ในสมัยนั้น ณ แคว้นเมืองพาราณสี มีมาณพผู้หนึ่งนามว่า ยสะ หรือ ยสะกุลบุตร เป็นบุตรของมหาเศรษฐี บิดาได้ปลูกเรือน ๓ ฤดู อันแวดล้อมด้วยดนตรีและเหล่าสตรี ผู้เป็นนางบริจาริกาให้แก่บุตรของตน ราตรีหนึ่งยสะตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นหมู่นาง บริจาริกา นอนหลับ ด้วยอากัปกิริยาพิกลต่าง ๆ ล้วนนอนกลิ้งเกลือกผมสยาย น้ำลาย ไหล และส่งเสียงละเมอพร่ำเพ้อ

ยสะมาณพเกิดความสังเวชในภาพที่ได้เห็น มีความสลดใจคิดเบื่อหน่ายในชีวิต การ ครองเรือนถึงกับอุทานออกมาว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” แล้วจึงสวม รองเท้าเดินออกจาก ประตูเมืองมุ่งหน้าไปโดยไม่รู้ทิศทาง เพียงแต่มีความสบายใจ จึงเดินเรื่อยไปอย่างไร้จุดหมาย

จวบจนถึงเวลาใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่อาวาส บริเวณป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ได้ยินคำอุทานรำพึงของยสะมาณพ จึงตรัสว่า

“ดูกรยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เธอจงมาที่นี่แล้วนั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”
ยสะมาณพได้ยินเช่นนั้นจิตพลันบังเกิดความยินดี รีบถอดรองเท้าเข้าไปใกล้เพื่อถวาย อภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่อันสมควร พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงพระธรรมเทศนา “พระอนุปุพพิกถา” แสดงเรื่องของ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามรมณ์ อานิสงส์ ในการออกบวช ฟอกจิตยสะมาณพให้ปราศจากมลทิน และทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสะมาณพ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล

https://bhuritatta.blogspot.com/2017/06/blog-post_61.html






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์