เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 แก้ว ๗ ประการ ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ (พาลบัณฑิตสูตร-ฉบับเต็ม) 1146
(สรุปย่อพอสังเขป)

แก้ว 7 ประการ ของพระเจ้าจักรพรรดิ์

   1. จักรแก้ว (จักรทิพย์) พาพระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมเสนาไปในทิศที่มีราชาเป็นปฏิปักษ์กับพระองค์
   2. ช้างแก้ว เป็นช้างเผือกลักษณะดี มีฤทธิ์เหาะได้ พระเจ้าจักรพรรดิขึ้นทรงแล้วเวียนรอบปฐพี
   3. ม้าแก้ว ชื่อ วลาหก สีขาวลักษณะดี มีฤทธิ์เหาะได้ พระเจ้าจักรพรรดิขึ้นทรงแล้วเวียนรอบปฐพี
   4. มณีแก้ว เป็นแก้วงาม ประดิษฐานที่ยอดธง มีแสงไปไกลถึง 1 โยชน์ กลางคืนเห็นเป็นกลางวัน
   5. นางแก้ว รูปงาม ผิวงาม ประพฤติดี กายมีกลิ่นจันทร ปากมีกลิ่นอุบล ตื่นก่อน นอนทีหลัง
   6. ขุนคลังแก้ว สนองพระเจ้าจักรพรรดิ เนรมิตรเงินและทอง ได้ทุกเมื่อ เท่าที่ต้องการ
   7. ขุนพลแก้ว บัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ถวายข้อแนะนำ ในการปกครอง ให้กับพระจักรพรรดิได้

พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง

   1. รุปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณงาม เกินมนุษย์อื่นๆ
   2  พระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่นๆ (ยุคนั้น)
   3. โรคาพาธน้อย ไม่ลำบาก ย่อยพระกระยาหารสม่ำเสมอไม่เย็นนักไม่ร้อนนัก
   4. เป็นที่รักใคร่พอใจ ของพราหมณ์และคฤหบดี เหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจของบุตร

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๔๙ - ๒๕๔

พาลบัณฑิตสูตร (ฉบับเต็ม)
(ดูแบบคัดย่อ)


            [๔๘๙]  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล  พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ พระผู้  มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุอาจเปรียบได้ แล้วตรัสต่อไปว่า

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการและความ สัมฤทธิผล ๔ อย่าง จึงเสวยสุขโสมนัส
อันมีสิ่งประกอบนั้น เป็นเหตุ ได้ พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบ ด้วยแก้ว ๗ ประการเป็นไฉน ฯ

           [๔๙๐]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ ผู้ทรงได้ มุรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้น เป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพ มีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกง และดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ครั้นทอดพระเนตรแล้ว ได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า ก็เราได้สดับมาดังนี้แล พระราชาพระองค์ใด ผู้ทรงได้ มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕  ซึ่งวันนั้น เป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพ มีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พระราชานั้นย่อมเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ 

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อนั้นพระองค์เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำ ด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหลั่งรดจักรแก้ว ด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่าจงพัดผัน ไปเถิด จักรแก้ว ผู้เจริญจักรแก้วผู้เจริญ จงพิชิตให้ยิ่งเถิด ลำดับนั้น จักรแก้วนั้น พระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิ ก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินี เสนา

            บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราชพระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่ มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด พระเจ้าจักรพรรดิ รับสั่ง อย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติ ผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลาย จงครอบครองบ้านเมือง กัน ตามสภาพที่เป็นจริงเถิด

            บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้ สนับสนุน พระเจ้าจักรพรรดิ ต่อนั้น จักรแก้วนั้น ได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศ ตะวันออก แล้วกลับขึ้น พัดผันไปทิศใต้ ฯลฯ พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศใต้แล้ว กลับขึ้นพัดผันไป ทิศตะวันตก ฯลฯ  พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วกลับขึ้น พัดผันไปทิศเหนือ พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป

            จักรแก้ว ประดิษฐาน อยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วย จตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่ เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือ เข้ามาเฝ้า พระเจ้าจักรพรรดิ แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราช พระองค์เสด็จ มาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่ เจ้าของ มิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลาย จงครอบครองบ้านเมืองกัน ตามสภาพ ที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ ในทิศเหนือเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล จักรแก้วนั้นพิชิตยิ่งตลอดแผ่นดินมีสมุทร เป็น ขอบเขต แล้วกลับมาสู่ราชธานีเดิม ประดิษฐานอยู่เป็นเสมือนลิ่มสลักพระทวาร  ภายในพระราชวัง ของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำให้งดงามอย่างมั่นคงอยู่  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏจักรแก้วเห็นปานนี้ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ  ฯ

         [๔๙๑]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ ช้างแก้ว เป็นช้างหลวงชื่ออุโบสถ เผือกทั่วสรรพางค์กาย มีที่ตั้งอวัยวะทั้งเจ็ด ถูกต้อง ดี มีฤทธิ์เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว ย่อมมีพระราชหฤทัย โปรดปรานว่า จะเป็นยานช้างที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการ ฝึกหัด ต่อนั้น ช้างแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัด เหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดี เป็นเวลานาน

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดลอง ช้างแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทร เป็นขอบเขต  เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระ ยาหารเช้าได้ทันเวลา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏช้างแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ  ฯ

         [๔๙๒]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ ม้าแก้วเป็นอัสวราชชื่อวลาหก ขาวปลอด ศีรษะดำเหมือนกา เส้นผมสลวยเหมือน หญ้าปล้อง มีฤทธิ์เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว ย่อมมี พระราชหฤทัยโปรดปรานว่า จะเป็นยานม้าที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการ ฝึกหัดต่อนั้น ม้าแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัดเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือ ดีแล้ว เป็นเวลานาน

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อจะทรง ทดลอง ม้าแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทร เป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏม้าแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ  ฯ


          [๔๙๓]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ มณีแก้ว เป็นแก้วไพฑูรย์ งามโชติช่วง แปดเหลี่ยมอันเจียระไนไว้อย่างดี มีแสงสว่าง แผ่ไป โยชน์หนึ่งโดยรอบ 

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อจะทรง ทดลอง มณีแก้วนั้น จึงสั่งให้จตุรงคินีเสนายกมณีขึ้นเป็นยอดธง แล้วให้เคลื่อนพลไป ในความ มืดทึบของราตรีชาวบ้านที่อยู่รอบๆ พากันประกอบการงาน ด้วยแสงสว่างนั้น สำคัญว่า เป็นกลางวัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏมณีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ


         [๔๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ นางแก้วรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพ มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย

            นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัวเย็นในคราวร้อนมีกลิ่น ดังกลิ่นจันทร ฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก นางแก้วนั้นมีปรกติ ตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังบรรหารใช้ ประพฤติถูกพระทัยทูลปราศรัย เป็นที่โปรดปรานต่อ พระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิ แม้ทางใจ ไฉนเล่า จะมีประพฤติ ล่วงทางกายได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏนางแก้วเห็นปานนี้ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

         [๔๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ คฤหบดี แก้ว ผู้มีจักษุเพียงดังทิพ เกิดแต่วิบากของกรรมปรากฏ ทั้งที่มีเจ้าของ ทั้งที่ไม่มีเจ้าของได้ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วกราบทูลอย่างนี้ ว่า ขอเดชะ พระองค์จงทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้า พระองค์จักทำหน้าที่การคลัง ให้พระองค์


         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อจะทรงทดลอง คฤหบดีแก้ว นั้น จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่ง ให้ลอยล่องกระแสน้ำกลางแม่น้ำคงคา แล้วรับสั่งกะ คฤหบดีแก้ว ดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดีฉันต้องการเงินและทอง คฤหบดีแก้ว กราบทูลว่าข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้นโปรดเทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด พระเจ้าจักรพรรดิ ตรัสว่า


         ดูกรคฤหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ ทันใดนั้น คฤหบดีแก้ว จึงเอามือทั้ง ๒ หย่อนลงในน้ำ ยกหม้อเต็มด้วยเงิน และทองขึ้นมา แล้วกราบทูล พระเจ้าจักรพรรดิ ดังนี้ว่า ข้าแต่มหาราช พอหรือยังเพียงเท่านี้ ใช้ได้หรือยัง เพียง เท่านี้บูชาได้หรือยัง เพียงเท่านี้ พระเจ้าจักรพรรดิจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี พอละ ใช้ได้แล้วบูชาได้แล้ว เพียงเท่านี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏคฤหบดีแก้ว เห็นปานนี้ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ


         [๔๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ ปริณายกแก้ว ปริณายกนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถถวาย ข้อแนะนำ ให้พระองค์ทรงบำรุง ผู้ที่ควรบำรุง ทรงถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควร แต่งตั้ง เขาเข้าไปเฝ้า พระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ จงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักสั่งการถวาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏ ปริณายกแก้วเห็นปานนี้ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(ทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง)

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ นี้ พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างเป็นไฉน ฯ

         [๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ ย่อมทรงพระสิริโฉม งดงาม น่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงาม แห่งพระฉวีวรรณ อย่างยิ่งเกินมนุษย์ อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ข้อแรก ดังนี้ ฯ

         [๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรง พระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วย ความสัมฤทธิผลข้อที่ ๒ ดังนี้ ฯ

         [๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเป็นผู้มี พระโรคาพาธ น้อย ไม่ทรงลำบาก ทรงประกอบด้วยพระเตโชธาตุ ย่อยพระกระยาหาร สม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วย ความสัมฤทธิผล ข้อที่ ๓ ดังนี้ ฯ

         [๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงเป็น ที่รักใคร่ พอใจ ของพราหมณ์และคฤหบดีเหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจ ของบุตร ฉะนั้น พราหมณ์ และ คฤหบดี ก็เป็นที่ทรงโปรดปราน พอพระราชหฤทัยของ พระเจ้าจักรพรรดิ เหมือนบุตร เป็นที่รักใคร่ พอใจของบิดาฉะนั้น

          ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วยจตุรงคินี เสนา ออกประพาส พระราชอุทยาน ทันทีนั้น พราหมณ์และคฤหบดี เข้าไปเฝ้า พระองค์แล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่ารีบด่วน โปรดเสด็จ โดยอาการที่พวกข้าพระองค์ ได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด แม้พระเจ้าจักรพรรดิ ก็ทรงสั่งสารถีว่า

          ดูกรสารถี ท่านอย่า รีบด่วนจงขับไปโดยอาการที่ฉันได้ชม บรรดาพราหมณ์ และ คฤหบดีนานๆ เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยความ สัมฤทธิผลข้อที่ ๔ ดังนี้ ฯ

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล๔ อย่างนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าจักรพรรดิ ทรง ประกอบด้วย แก้ว ๗ ประการ และความสัมฤทธิผล ๔ อย่างดังนี้ พึงเสวยสุข โสมนัส อันมี สิ่งประกอบนั้น เป็นเหตุบ้างไหมหนอ ฯ

         ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบ ด้วย แก้วแม้ ประการหนึ่งๆ ก็ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้วประการนั้นเป็นเหตุได้ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงแก้ว ทั้ง ๗ ประการ และความสัมฤทธิผลทั้ง ๔ อย่าง ฯ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

         [๕๐๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัส ถาม ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้ กับภูเขาหลวงหิมพานต์ อย่างไหน หนอแล ใหญ่กว่ากัน ฯ

         ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้ มีประมาณ น้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึง แม้ส่วน แห่ง เสี้ยวย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

         พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พระเจ้าจักรพรรดินี้ ทรงประกอบด้วย แก้ว ๗ ประการ และความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง ย่อมทรงเสวยสุข โสมนัสอันมีสิ่ง ประกอบ นั้น เป็นเหตุ ได้สุขโสมนัสนั้นเปรียบเทียบสุขอันเป็นทิพย์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ การนับ ย่อมไม่เข้าถึง แม้ส่วน แห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

         [๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้ง บางคราว ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุล กษัตริย์มหาศาล หรือ สกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล เห็นปานนั้น ในบั้นปลาย อันเป็นสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหาร อย่างเพียงพอ และเขา จะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่ง ผิวพรรณ อย่างยิ่งมีปรกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ อาศัยและเครื่องตามประทีป เขาจะ ประพฤติ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตครั้นแล้ว เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ฯ

         [๕๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงการพนัน เพราะฉวยเอาชัยชนะได้ ประการแรก เท่านั้น จึงบรรลุโภคสมบัติมากมาย การฉวยเอาชัยชนะ ของนักเลง การพนัน ที่บรรลุ โภคสมบัติมากมายได้นั้นแล เพียงเล็กน้อย ที่แท้แล การฉวยเอา ชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น การฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น คือ การฉวยเอา ชัยชนะ ที่บัณฑิตนั้น ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต แล้วตายไป เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์นั่นเอง ฯ

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ภูมิของบัณฑิตครบถ้วนบริบูรณ์ ฯ


         พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ พาลบัณฑิตสูตร ที่ ๙






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์