เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ           

  ฆราวาสชั้นเลิศ-พุทธวจน ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
  3 of 3  
 
  ฆราวาสชั้นเลิศ พุทธวจน  ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
       
  ๒๓. กรรมเปรียบด้วยก้อนเกลือ 95  
  ๒๔. กรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม 99  
  ๒๕. วิธีดับกรรม 103  
  ๒๖. วิบากกรรมอย่างเบาของหมู่สัตว์ 104  
  ๒๗. ฉลาดในเรื่องกรรม 107  
  ๒๘. วินิจฉัยกรรม 110  
  ๒๙. การบวชที่ไร้ประโยชน์ 114  
  ๓๐. สังฆทานดีกว่า ! 117  
  ๓๑. ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร 121  
  ๓๒. ผลแห่งทาน 124  
  ๓๓. ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน 130  
  ๓๔. เหตุที่ทำ ให้เป็นผู้มีรูปงาม 132  
  ๓๕. ผู้ให้โภชนะ 133  
  ๓๖. กัลยาณมิตร คือ อริยมรรค 134  
  ๓๗. สังสารวัฏ ไม่ปรากฏที่สุดแก่สัตว์ผู้มีอวิชชา 137  
  ๓๘. น้ำตาที่เราได้ร้องไห้มาแล้วทั้งหมด 139  
  ๓๙. สุข ทุกข์ ที่เราได้ประสบมาแล้วทุกๆ รูปแบบ 141  
  ๔๐. ที่รักที่เจริญใจในโลก 143  
  ๔๑. ทางแห่งความสิ้นทุกข์ 145  
 

จบ ฆราวาสชั้นเลิศ

   
 
 





หน้า 95


๒๓

กรรมเปรียบด้วยก้อนเกลือ

ภิกษุทั้งหลาย ! ใครพึงกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวย กรรมนั้น อย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำ ที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ก็ไม่ปรากฏ.

ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวย ผลของกรรมนั้น อย่างนั้นๆ ดังนี้เมื่อ เป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมมีได้ช่องทาง ที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ.

ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยที่บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้น ย่อมนำเขาไปนรก ได้บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรม เวทนียกรรม (ให้ผลในปัจจุบัน)ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย.

บาปกรรม แม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไร ทำแล้วบาปกรรมนั้นจึงนำเขาไป นรกได้ ? บุคคลบางคน ในโลกนี้เป็นผู้มีกายมิได้อบรมมีศีลมิได้อบรม มีจิต มิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรมมีคุณความดีน้อย เป็นอัปปาตุมะ (ผู้มีใจคับแคบ ใจหยาบ) เป็น อัปปทุกขวิหารี (มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุ เล็กน้อย) บาปกรรม แม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้วบาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้.

บาปกรรม ประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไร ทำแล้ว กรรมนั้นจึงเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ?

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกาย มีศีล มีจิตมีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณ ความดีมาก เป็นมหาตมะ (ผู้มีใจกว้างขวาง) เป็นอัปปมาณวิหารี (มีปกติอยู่ ด้วยธรรม อันหาประมาณมิได้) บาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น บุคคลชนิดนี้ทำแล้วกรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลาย จะสำคัญว่ากระไร น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ?

“เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”.

เพราะเหตุอะไร ?

“เพราะเหตุว่า น้ำ ในถ้วยน้ำ นั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้... เพราะเกลือก้อนนั้น”.

ต่างว่าคนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้น ลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลาย จะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้น จะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะเกลือ ก้อนนั้นหรือ ?

“หามิได้ พระเจ้าข้า !”.

เพราะเหตุอะไร ?

“เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำ คงคามีมาก น้ำ นั้นจึงไม่เค็ม...เพราะเกลือก้อนนั้น”.

ฉันนั้นนั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคน ทำแล้ว บาปกรรมนั้น ย่อมนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏ ผลมากต่อไปเลย...

ภิกษุทั้งหลาย ! คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ... แม้ ๑ กหาปณะ... แม้ ๑๐๐กหาปณะ ส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์ เพียงเท่านั้น.

คนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย คนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ.

คนอย่างไร ไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ? คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก คนอย่างนี้ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์ เพียงเท่านั้น ฉันนั้นนั่นแหละ.

ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยบุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้น ย่อมนำเขาไปนรก ได้ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลบางคน ทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรม เวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

หน้า 99

๒๔
กรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม


ภิกษุทั้งหลาย ! กรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง เองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่วกัน.

กรรม ๔ อย่าง อย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มีอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบาก ทั้งดำทั้งขาว ก็มีอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มีอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขารอันเป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขารอันเป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน.

ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลกอันเป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน ผัสสะทั้งหลายอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไปด้วยความเบียดเบียน เขาอันผัสสะ ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้วย่อม เสวยเวทนาที่เป็นไปกับด้วย ความเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกสัตว์นรก.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ.
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันไม่เป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขารอันไม่เป็นไปกับด้วยความ เบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขารอันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน.

ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้วย่อมเข้าถึงโลกอันไม่เป็นไป กับด้วย ความเบียดเบียน ผัสสะทั้งหลาย ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อม ถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่เป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน เขาอันผัสสะ ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนาที่ไม่เป็นไปกับ ด้วยความเบียดเบียน อันเป็นสุข โดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกเทพ สุภกิณหา.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่ากรรมขาว มีวิบากขาว.

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไป กับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขารอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความ เบียดเบียนบ้าง ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขารอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง

ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้วย่อมเข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วย ความเบียดเบียนบ้างไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะทั้งหลาย ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับ ด้วยความเบียดเบียนบ้าง เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาที่เป็น ไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยกันความเบียดเบียนบ้าง อันเป็นเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เจือกัน ดังเช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว.

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติสัมมาสมาธิ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล กรรม ๔ อย่างที่เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเอง แล้ว ประกาศให้รู้ทั่วกัน.

หน้า  103

๒๕

วิธีดับกรรม


ภิกษุทั้งหลาย ! ...อริยมรรคมีองค์แปด นี้นั่นเองเป็นกัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ

สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ)
สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ)
สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ)
สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ)
สัมมาสติ (ความระลึกชอบ)
สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ).

หน้า 104

๒๖
วิบากกรรมอย่างเบาของหมู่สัตว์

ภิกษุทั้งหลาย ! ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่า วิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไป เพื่อมีอายุสั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไป เพื่อความเสื่อมแห่งโภคะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรต วิสัย.วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบาก ที่เป็นไปเพื่อก่อเวรด้วยศัตรู.

ภิกษุทั้งหลาย ! มุสาวาท (คำเท็จ) ที่เสพทั่วแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อ การถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ปิสุณาวาจา (คำยุยงให้แตกกัน)ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรต วิสัย. วิบากแห่งปิสุณาวาจา ของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็น ไป เพื่อ การแตกจากมิตร.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผรุสวาจา (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งผรุสวาจา ของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไป เพื่อ การได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมผัปปลาปะ (คำเพ้อเจ้อ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งสัมผัปปลาปะของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไป เพื่อวาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ.

ภิกษุทั้งหลาย ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้ มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า (อุมฺมตฺตก).

หน้า 107

๒๗
ฉลาดในเรื่องกรรม


บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หามิได้
จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หามิได้
บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
ไม่เป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม
บุคคลเป็นชาวนา ก็เพราะกรรม
เป็นศิลปิน ก็เพราะกรรม
บุคคลเป็นพ่อค้า ก็เพราะกรรม
เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม
บุคคลแม้เป็นโจร ก็เพราะกรรม
เป็นนักรบ ก็เพราะกรรม
บุคคลเป็นปุโรหิต ก็เพราะกรรม
แม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม
บัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นซึ่งกรรมนั้น
ตามที่เป็นจริงอย่างนี้.

ชื่อว่าเป็นผู้เห็นซึ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นผู้ฉลาดในเรื่องวิบากแห่งกรรม.

โลกย่อมเป็นไปตามกรรมหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม.

สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นเครื่องรึงรัดเหมือนลิ่มสลักขันยึดรถที่กำลังแล่นไปอยู่.
สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยกระทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น.

ราธะ ! ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด ตัณหาอันใด มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณ เพราะการติดแล้วข้องแล้ว ในสิ่งนั้น ๆ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้

หน้า 110

๒๘
วินิจฉัยกรรม เมื่อจะกระทำ


เมื่อจะกระทำ
ราหุล ! เธอใคร่จะทำกรรมใดด้วยกาย พึงพิจารณากรรมนั้นเสียก่อนว่า “กายกรรม ที่เราใคร่จะกระทำนี้เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียน ผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็น วิบาก หรือไม่หนอ? ” ดังนี้.
ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้ เธอ ไม่พึงกระทำกายกรรมชนิดนั้น โดยถ่ายเดียว.
ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า“กายกรรมที่เราใคร่จะกระทำนี้ ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ไซร้.

ราหุล ! เธอพึงกระทำกายกรรมชนิดนั้น.

เมื่อกระทำอยู่
ราหุล ! เมื่อเธอกระทำกรรมใดด้วยกายอยู่ พึงพิจารณากรรมนั้นว่า “กายกรรม ที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็น อกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้.
ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกละกายกรรมชนิดนั้นเสีย.
ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า“กายกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ ไม่เป็น ไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็น วิบาก” ดังนี้ไซร้.

ราหุล ! เธอพึงเร่งเพิ่ม การกระทำกายกรรมชนิดนั้น.

เมื่อกระทำแล้ว
ราหุล ! เมื่อเธอกระทำ กรรมใด้ดวยกายแล้วพึงพิจารณากรรมนั้น ว่า “กายกรรม ที่เรากระทำแล้วนี้เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก หรือไม่หนอ ?” ดังนี้.
ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ไซร้ เธอพึงแสดง พึงเปิดเผย พึงกระทำให้ เป็นของหงายซึ่งกายกรรมนั้น ในพระศาสนาหรือในเพื่อนสพรหมจารี ผู้เป็นวิญญูชน ทั้งหลาย ครั้นแสดง ครั้นเปิดเผย ครั้นกระทำให้เป็นของ หงายแล้ว พึงถึงซึ่งความระวังสังวรต่อไป.
ราหุล ! ถ้าเธอพิจารณา รู้สึกอยู่ดังนี้ว่า “กายกรรมที่เรากระทำแล้วนี้ ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียด เบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นกายกรรมที่เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก” ดังนี้ ไซร้.

ราหุล ! เธอพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ตามศึกษา ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ ทั้งกลางวัน และกลางคืนเถิด.

(ในกรณีแห่ง วจีกรรม และ นโนกรรม ก็ตรัสไว้โดยมีนัยยะอย่างเดียวกัน)

หน้า 114

๒๙
การบวชที่ไร้ประโยชน์

ภิกษุทั้งหลาย ! อาชีพต่ำที่สุด ในบรรดาอาชีพทั้งหลาย คือการขอทาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! คำ สาปแช่งอย่างยิ่งในโลกนี้ คือคำสาปแช่งว่า “แกถือกระเบื้องในมือเที่ยวขอทานเถอะ” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! กุลบุตรทั้งหลาย เข้าถึงอาชีพนี้เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่ง ประโยชน์ เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์ ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ ไม่ใช่ เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่เป็นคนหนีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนหนีภัย ไม่ใช่เป็นคนไร้อาชีพ จึงบวช.

อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่าเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกหยั่ง เอาแล้ว โดยชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย เป็นผู้อันความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้วทำไฉน การทำ ที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏแก่เราดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่ากุลบุตรผู้บวชแล้วอย่างนี้กลับเป็นผู้มากไปด้วยอภิชฌา มีราคะแก่กล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทาง ประทุษร้ายมีสติอันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น แล้วมีจิตหมุนไป ผิดแล้ว มีอินทรีย์อันตนไม่สำรวมแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน ดุ้นฟืนจากเชิงตะกอน ที่เผาศพ ยังมีไฟติดอยู่ ทั้งสอง ตรงกลางก็เปื้อน อุจจาระ ย่อมใช้ประโยชน์เป็นไม้ในบ้านเรือน ก็ไม่ได้ ย่อมใช้ประโยชน์เป็นไม้ในป่าก็ไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวบุคคลนี้ว่ามีอุปมาเช่นนั้น คือ เป็นผู้เสื่อมจากโภคะแห่ง คฤหัสถ์ด้วย ไม่ทำประโยชน์แห่งสมณะให้บริบูรณ์ ด้วย.

ท่านจงถวายทานในสงฆ์เถิด เมื่อท่านถวายทานในสงฆ์อยู่ จิตจักเลื่อมใส ท่านเป็นผู้มีจิตอันเลื่อมใสแล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

หน้า  117

๓๐
สังฆทานดีกว่า !

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ทานประจำ สกุลวงศ์ ข้าพระองค์ยังให้อยู่ แต่ว่าทานนั้น ข้าพระองค์ให้เฉพาะ หมู่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้ปฏิบัติอรหัตตมรรค ที่อยู่ป่า ที่ถือบิณฑบาต ที่ถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร”.

คหบดี ! ข้อที่จะรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นพระอรหันต์หรือปฏิบัติอรหัตตมรรคนั้น เป็นสิ่ง ที่รู้ได้ยากสำหรับท่านผู้เป็น คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ผู้ยังมีการนอนเบียดบุตร บริโภคใช้สอยกระแจะจันทน์และผ้าจากเมืองกาสี ทัดทรงมาลา และเครื่องกลิ่น และเครื่องผัดทา ยินดีอยู่ด้วยทองและเงิน.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตรถ้าเป็น ผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติลืมหลงปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิมีจิตหมุน ไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียน ด้วยองค์นั้นๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตรถ้าเป็น ผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิมี เอกัคคตาจิต สำรวมอินทรีย์ ด้วยอาการอย่างนี้ภิกษุนั้น อันใครๆ ควรสรรเสริญ ด้วยองค์นั้นๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ดี... บิณฑบาตเป็นวัตร ก็ดี... ฉันในที่นิมนต์ ก็ดี... ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ดี... นุ่งห่มคหบดีจีวร ก็ดี
ถ้าเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียนด้วยองค์นั้นๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ดี... บิณฑบาตเป็นวัตร ก็ดี... ฉันในที่นิมนต์ ก็ดี... ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ดี... นุ่งห่มคหบดีจีวร ก็ดี ถ้าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มี เอกัคคตา จิตสำรวมอินทรีย์ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น อันใครๆ ควรสรรเสริญ ด้วยองค์นั้นๆ.

เอาละ คหบดี ! ท่านจงถวายทานในสงฆ์เถิด เมื่อท่านถวายทานในสงฆ์อยู่ จิตจักเลื่อมใส ท่านเป็นผู้มีจิต อันเลื่อมใสแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการ ทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! จำ เดิมแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์จะถวายทานในสงฆ์ ”.

“ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใดประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้น ชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพนับถือบูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด”

หน้า 121

๓๑
ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร

วัจฉะ ! ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง คือ
ทำอันตรายต่อบุญของทายก (ผู้ให้ทาน) ทำอันตรายต่อลาภของ ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) และตัวเองก็ขุดรากตัวเองกำจัดตัวเองเสียตั้งแต่ แรกแล้ว.

วัจฉะ ! ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง ดังนี้แล.

วัจฉะ ! เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อ หรือน้ำล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำ หรือทางน้ำโสโครก ซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้น ด้วยคิดว่า สัตว์ในนั้น จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่านั่น เป็นทางมาแห่งบุญ เพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ด้วยกัน” ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล เป็นทานมีผลมาก. ทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่. และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ ๕ และประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕.

ละองค์ ๕ คือ :-
ละกามฉันทะ
ละพยาบาท
ละถีนมิทธะ (หดหู่ซึมเซา)
ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่านรำคาญ)
ละวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย)

ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ :-
ประกอบด้วยกองศีลชั้นอเสขะ (คือชั้นพระอรหันต์)
ประกอบด้วยกองสมาธิชั้นอเสขะ
ประกอบด้วยกองปัญญาชั้นอเสขะ
ประกอบด้วยกองวิมุตติชั้นอเสขะ
ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะชั้นอเสขะ.
เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ห้า และประกอบด้วยองค์ห้า ด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมาก ดังนี้.

มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ แปดอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ ไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

หน้า 124

๓๒
ผลแห่งทาน


คหบดี ! บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดย ไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชน ของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยาทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟังส่งจิตไปที่อื่นเสีย.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ทั้งนี้เป็นเพราะ ผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดย ไม่เคารพ.

คหบดี ! บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือเชื่อกรรม และผลของ กรรม ให้ทานทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทาน ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไป เพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยาทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ.

คหบดี ! เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็น มหาทานอย่างนี้ คือได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะ เต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คันหุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง

มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวกใช้ ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดี ทำด้วย หนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง

ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิเป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียดจะป่วย กล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภคเครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือน แม่น้ำ.

คหบดี ! ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้นผู้อื่นไม่ใช่ เวลาม พราหมณ์ผู้ที่ ให้ทานเป็นมหาทานนั้น.

คหบดี ! แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้นเราเป็น เวลามพราหมณ์ เราได้ให้ ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็น พระทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้น ให้หมดจด.

คหบดี ! ทานที่บุคคลถวายให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (พระโสดาบัน) ผู้เดียว บริโภค มีผลมากกว่าทานที่ เวลามพราหมณ์ให้แล้ว.

ทานที่บุคคลถวายให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วย ทิฏฐิ ๑๐๐ ท่านบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระสกทาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระอนาคามี ๑๐๐ ท่านบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ ๑๐๐ รูปบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ รูปบริโภค.

ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค.

การที่บุคคล สร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศมีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขบริโภค.

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลสร้าง วิหารถวายสงฆ์ อันมาจากจาตุรทิศ.

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คืองดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีผลมากกว่า การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ.

การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่า การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทาน สิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาตฯลฯ.

และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่า การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุด แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม.

หน้า 130

๓๓
ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน

ภิกษุทั้งหลาย !
อริยสาวกในกรณีนี้ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต.
ภิกษุทั้งหลาย !อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้วย่อมชื่อว่าให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลาย มากไม่มีประมาณ

ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทานแก่สัตว์ทั้งหลาย มากไม่มีประมาณ แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง ความไม่มีภัย ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มี ประมาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นทานชั้นปฐม เป็นมหาทานรู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของ มีมานานเป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอด ทิ้ง ในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูก ทอดทิ้ง ในอนาคต อันสมณพราหมณ์ ผู้รู้ ไม่คัดค้าน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดีมีสุข เป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขอันพึงปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ.

(ในกรณีศีล ๕ อีกสี่ข้อที่เหลือ คือ การเว้นขาดจากอทินนาทาน การเว้นขาดจาก กาเมสุมิฉาจาร การเว้นขาดจากมุสาวาท และ การเว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็ได้ตรัส โดยมีนัย อย่างเดียวกัน).

ภิกษุทั้งหลาย ! ทาน ๕ ประการ นี้แล เป็นมหาทานรู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานานเป็นของประพฤติ สืบกันมา แต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลยไม่เคย ถูกทอดทิ้งในอดีตไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้ง ในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.

หน้า 132

๓๔
เหตุที่ทำให้เป็นผู้มีรูปงามมีทรัพย์มากและสูงศักดิ์

มัลลิกา ! มาตุคามบางคนในโลกนี้ไม่เป็นผู้มักโกรธไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่าแม้มากก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความไม่พอใจ ให้ปรากฏ เป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์และเป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉา ในลาภ-สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้กลับมาเกิดในชาติ ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์.

หน้า 133

๓๕
ผู้ให้โภชนะ

ภิกษุทั้งหลาย ! ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ ประการ แก่ปฏิคาหก (ผู้รับทาน ผู้รับของถวาย).

๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า? คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ อันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ...ครั้นให้สุขะแล้ว ...

ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วน แห่งพละอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย ! ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ ประการนี้ แก่ปฏิคาหก.

ผู้ใดย่อมให้โภชนะ ตามกาลอันควร โดยเคารพแก่ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว ผู้บริโภค โภชนะที่ผู้อื่นให้เป็นอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมให้ฐานะ ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะสุขะ และพละ นรชนผู้มีปกติให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มีบริวาร มียศ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว.

หน้า 134

๓๖
กัลยณมิตร คือ อริยมรรค

อานนท์ ! ภิกษุผู้ชื่อว่า มีมิตรดี มีสหายดีมีเพื่อนดี ย่อมเจริญทำให้มาก ซึ่ง อริยมรรคมีองค์แปดโดยอาการ อย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญ ทำให้มากซึ่งสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ชนิดที่วิเวกอาศัยแล้ว ชนิดที่วิราคะอาศัยแล้ว ชนิดที่นิโรธ อาศัยแล้ว ชนิดที่น้อมไปรอบ เพื่อการสลัดคืน.

อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุผู้มีมิตรดีมีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญ ทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคมีองค์แปด.

อานนท์ ! ข้อนั้นเธอพึงทราบโดยปริยายอันนี้เถิด คือว่าพรหมจรรย์นี้ทั้งหมด นั่นเทียว ได้แก่ความเป็นผู้มี มิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดังนี้.

อานนท์ ! จริงทีเทียว สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาได้อาศัย กัลยาณมิตร ของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นหมดจากชาติ ผู้มีความแก่ชรา ความเจ็บป่วย ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายความทุกข์ใจ ความแห้งผากใจ เป็นธรรมดาครั้นได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้น หมดจากชาติ ความแก่ชรา ความเจ็บป่วยความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายความทุกข์ใจ ความแห้งผากใจ.

อานนท์ !ข้อนั้น เธอพึงทราบโดยปริยายอันนี้เถิด คือว่าพรหมจรรย์นี้ทั้งหมด นั่นเทียว ได้แก่ความเป็นผู้ มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดังนี้.

“ในธรรมวินัยนี้ เธอผู้ใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วจักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้... พวกเธอจงเป็นผู้ ไม่ประมาท มีสติ มีศีลเป็นอย่างดีมีความดำริ อันตั้งไว้แล้ว ด้วยดีตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด”

หน้า 137

๓๗
สังสารวัฏ ไม่ปรากฏที่สุดแก่สัตว์ผู้มีอวิชชา

ภิกษุทั้งหลาย ! กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือว่าเท่านี้ แสนปี.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหมือนอย่างว่าภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้ว ปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการ หมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแลส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไปสิ้นไป กัปนานอย่างนี้ แล.

บรรดากัปที่นานอย่างนี้พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่ พันกัป มิใช่แสนกัป.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

หน้า 139

๓๘

น้ำตาที่เราได้ร้องไห้มาแล้วทั้งหมด

ภิกษุทั้งหลาย ! ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออก ของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่เพราะ ประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่ง ที่พอใจ โดยกาลนาน นี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ไม่มากกว่าเลย.

พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออก ของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบ มรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.

พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา... ของพี่ชายน้องชาย... พี่สาวน้องสาว... ของบุตร... ของธิดา... ได้ประสบความเสื่อมแห่งญาติ... ได้ประสบความเสื่อม แห่งโภคะ... ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหล ออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อม เพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชา เป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็น ครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

หน้า 141

๓๙
สุข ทุกข์ ที่เราได้ประสบมาแล้วทุกๆ รูปแบบ

ภิกษุทั้งหลาย ! สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือ และเท้า ไม่สมประกอบ หรือเห็น บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมีบริวาร คอยรับใช้พึงลงสันนิษฐาน ในบุคคลนี้ ว่าเราทั้งหลาย ก็เคยเสวยทุกข์หรือเสวยสุขเห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้.

...สัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นมารดา สัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นบิดา สัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็น พี่ชายน้องชาย สัตว์ ที่ไม่เคยเกิด เป็นพี่สาวน้องสาว สัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นบุตร สัตว์ที่ไม่เคยเกิดเป็นธิดา โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ มื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชา เป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็น เครื่องผูกท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ ปรากฏ.

ภิกษุทั้งหลาย !ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

หน้า 143


๔๐
ที่รักที่เจริญใจในโลก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก.
ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี่.

ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี่.

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ (วิญญาณ) ทางตา สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ทางหู ...ทางจมูก ...ทางลิ้น ...ทางกาย ...ทางใจ.

ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ.

เวทนาจากผัสสะทางตา เวทนาจากผัสสะทางหู ...ทางจมูก ...ทางลิ้น ...ทางกาย ...ทางใจ.

การหมายรู้ (สัญญา) เกี่ยวกับรูป การหมายรู้เกี่ยวกับเสียง ...กลิ่น ...รส ...กายสัมผัส ...ธรรมารมณ์.

เจตนาในการหมายรู้ (สัญเจตนา) เกี่ยวกับรูป...เกี่ยวกับเสียง ...กลิ่น ...รส ...กายสัมผัส ...ธรรมารมณ์.

การตรึก (วิตก) ที่เป็นไปทางรูป การตรึกที่เป็นไปทางเสียง ...กลิ่น ...รส ...กายสัมผัส ...ธรรมารมณ์.

การตรอง (วิจาร) ที่เป็นไปทางรูป การตรองที่เป็นไปทางเสียง ...กลิ่น ...รส ...กายสัมผัส ...ธรรมารมณ์.

ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่นตัณหาในรส ตัณหาในกายสัมผัส ตัณหาในธรรมารมณ์. (แต่ละอย่างๆ เหล่านี้) เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก.

ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี่.
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี่.

หน้า 145


๔๑

ทางแห่งความสิ้นทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์) เป็นไฉน ?

นี้คือ มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ก็สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน ?
ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคา มินีปฏิปทา.

สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ?
ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่ เบียดเบียน.

สัมมาวาจา เป็นไฉน ?
การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด (พูดให้คนแตกแยกกัน) งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ.

สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน ?
การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอา สิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจาก การประพฤติผิดในกาม.

สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน ?
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการ เลี้ยงชีพที่ชอบ.

สัมมาวายามะ เป็นไฉน ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมปลูกความพอใจย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ตั้งจิตไว้เพื่อ มิให้อกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้นเพื่อ ละ อกุศลธรรมเป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญเต็มเปี่ยมยิ่งแห่งกุศลธรรม ที่บังเกิดขึ้นแล้ว.

สัมมาสติ เป็นไฉน ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัส ในโลกออกเสียได้.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้.

สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจาก อกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจารมีปีติ และสุข อันเกิด แต่วิเวก แล้วแลอยู่เพราะวิตกวิจารรำงับลง

เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรม อันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่ เพราะปีติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุข ด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติมีความเป็นอยู่ เป็น ปกติสุข แล้วแลอยู่เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และความดับหายแห่งโสมนัส และโทมนัส ในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลเราเรียกว่า อริยสัจคือ หนทางเป็นเครื่องให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

จบ ฆราวาสชั้นเลิศ

บรรณานุกรม
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (บาลีสยามรัฐ)
พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง (ไทยสยามรัฐ)
หนังสือธรรมโฆษณ์ ชุดจากพระโอษฐ์ (ผลงานแปลพุทธวจน โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ในนามกองตำราคณะธรรมทาน)