พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๖๗๐
ภิกษุณีเมตติยา กล่าวหาพระทัพพมัลลบุตร ล่วงละเมิดว่าเสพเมถุนธรรม
[๕๔๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุณีเมตติยา เข้าไปหาพระเมตติยะ และ พระภุมมชกะ ถึงสำนัก ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ
เมื่อนางกล่าวอย่างนั้นแล้ว พระเมตติยะ และ พระภุมมชกะ ก็มิได้ทักทายปราศรัย นางจึงกล่าวว่าดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ เป็นครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สอง พระเมตติยะ และ พระภุมมชกะ ก็มิได้ทักทายปราศรัย นางจึงได้กล่าวอีก เป็นครั้งที่สามว่า ดิฉันไหว้เจ้าค่ะ แม้ครั้งที่สาม พระเมตติยะ และพระภุมมชกะก็มิได้ทักทายปราศรัย
ภิกษุณีเมตติยาถามว่า ดิฉันผิดอย่างไรต่อพระคุณเจ้าๆ ไม่ทักทายปราศรัย กับดิฉัน เพื่อประสงค์อะไร? ภิกษุทั้งสองตอบว่า ก็จริงอย่างนั้นแหละ น้องหญิง พวกเราถูก พระทัพพมัลลบุตร เบียดเบียนอยู่ เธอยังเพิกเฉยได้
เม. ดิฉันจะช่วยเหลืออย่างไร เจ้าคะ
ภิ. น้องหญิงถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้แหละพระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก
เม. ดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันสามารถจะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีไหน
ภิ. มาเถิด น้องหญิง เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่มิดเม้น ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มี จัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมา มีลมแรงขึ้น หม่อมฉัน ถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตร ประทุษร้าย คล้ายน้ำ ถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุณีเมตติยา รับคำของพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ ว่าตกลงเจ้าค่ะ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ข้างหนึ่งกราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่มิดเม้น ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้า ทัพพมัลลบุตร ประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบสวน
[๕๔๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูล นั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
ท่านพระทัพพมัลลบุตร กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฉันใด
แม้ครั้งที่สองแล พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะเธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
ท่านพระทัพพมัลลบุตร กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฉันใด
แม้ครั้งที่สามแล พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะเธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
ท่านพระทัพพมัลลบุตร กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฉันใด
ภ. ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอทำก็จง บอกว่าทำ ถ้าเธอไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ
ท. พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมา แม้โดยความฝัน ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่เล่า
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุ เหล่านี้ รับสั่งดังนี้แล้วพระองค์เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ เข้าพระวิหาร
หลังจากนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุณีเมตติยาสึก จึงพระเมตติยะ และ พระภุมมชกะ ได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย อย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเลย นางไม่ผิดอะไร พวกกระผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตร เคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ก็นี่พวกคุณโจท ท่านพระทัพพ มัลลบุตร ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้หรือ
ภิกษุสองรูปนั้น สารภาพว่า อย่างนั้น ขอรับ
บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่สิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเมตติยะ และ พระภุมมชกะ จึงได้โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรม มีโทษถึงปาราชิก อันหามูล มิได้เล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูล นั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระเมตติยะ และพระภุมมชกะว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายข่าวว่า พวกเธอโจท ทัพพมัลลบุตร ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ จริงหรือ
ภิกษุสองรูปนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรง ติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้โจททัพพมัลลบุตร ด้วยธรรม มีโทษ ถึงปาราชิก อันหามูลมิได้เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใสและเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียน พระเมตติยะ และพระภุมมชกะ โดยเอนก ปริยาย ดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็น
คนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยเอนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความ สำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีล เป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะ อันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิด ในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใส ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๒. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัด ซึ่งภิกษุด้วยธรรม มีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจาก พรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตาม ก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้น เป็นเรื่องหามูลมิได้ แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส.
เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ จบ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
สังฆาทิเสส
คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติ ที่เรียกว่า อาบัติสังฆาทิเสส จัดเป็นอาบัติโทษรุนแรงรองจากปาราชิก มีทั้งหมด 13 ประการดังนี้
1.ทำน้ำอสุจิเคลื่อน
2.แตะต้องสัมผัสกายสตรี
3.พูดเกี้ยวพาราสีสตรี
4.พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้
5.ทำตัวเป็นพ่อสื่อ
6.สร้างกุฏิด้วยการขอ
7.มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน
8.ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
9.แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
10.ทำสงฆ์แตกแยก(สังฆเภท)
11.เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก
12.ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ
13.ประจบสอพลอคฤหัสถ์
คำว่าสังฆาทิเสสแปลว่าอาบัติที่ต้องอาศัยสงฆ์ ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ กล่าวคือเมื่อภิกษุต้องอาบัติดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งแก่สงฆ์ 4 รูป เพื่อขอประพฤติวัตร ที่ชื่อมานัต เมื่อสงฆ์อนุญาตแล้วจึงประพฤติวัตรดังกล่าวเป็นเวลา 6 คืน เมื่อพ้นแล้ว จึงขอให้สงฆ์ 20 รูปทำสังฆกรรมสวดอัพภานให้ เมื่อพระสงฆ์สวดอัพภานเสร็จสิ้น ถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติข้อนี้
ในกรณีที่ภิกษุต้องอาบัติข้อนี้แล้วปกปิดไว้ เมื่อมาแจ้งแก่หมู่สงฆ์แล้ว ต้องอยู่ปริวาส กรรมเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดไว้ก่อน เช่น ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ปกปิดไว้ หนึ่งเดือน เมื่อแจ้งแก่สงฆ์แล้วต้องอยู่ปริวาสหนึ่งเดือน แล้วจึงขอประพฤติวัตรมานัต ต่อไป |