เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  มารขัดขวางพระผู้มีพระภาค  (รวม ๑๐ พระสูตร) 925
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

มารขัดขวางพระผู้มีพระภาค  (รวม ๑๐ พระสูตร)

ปาสานสูตรที่ ๑
มารกลิ้งหินก้อนใหญ่เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัส ต่อให้มารกลิ้งทั้งภูเขาคิชฌกูฏ พระองค์ก็ไม่ทรง หวั่นไหว เพราะหลุดพ้นแล้ว ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเรา พระสุคตทรง รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง


สีหสูตรที่ ๒
มารผู้มีบาปเห็นว่าพระสมณโคดมกำลังแสดงธรรม จึงเข้าไปใกล้ที่ประทับ เพื่อบังตา พร้อมกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ องอาจ บันลือสีหนาท ดุจราชสีห์ ฉะนั้นหรือ ก็ผู้ที่พอจะต่อสู้ท่านยังมี ท่านเข้าใจว่า เป็นผู้ชนะ แล้วหรือ พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ตถาคตเป็นมหาวีรบุรุษ องอาจในบริษัท บรรลุทสพลญาณ ข้ามตัณหา อันเป็นเหตุ ข้องในโลกเสียได ...มารเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง


สกลิกสูตรที่ ๓
สมัยหนึ่ง พระบาทของพระผู้มีพระภาค ถูกสะเก็ดหินเจาะ เวทนาทั้งหลาย อันยิ่งเป็นไปในพระสรีระ เป็นทุกข์ แรงกล้า ไม่เป็นที่ยินดี พระองค์มีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นไม่กระสับกระส่าย จากนั้นทรง สำเร็จสีหไสยา

มารทูลถามว่า ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ ประโยชน์ทั้งหลายของท่าน ไม่มีมาก ท่านตั้งหน้านอนหลับหรือ พระผู้มีพระภาค ตอบว่าเราไม่ได้นอนด้วยความเขลา ทั้งมิได้มัวเมา คิดกาพย์ กลอนอยู่ เราบรรลุประโยชน์แล้ว ปราศจากความโศก เรานอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ ทั้งปวง มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา จึงได้หายตัวไป


ปฏิรูปสูตรที่ ๔
มารผู้มีบาปคิดว่าสมณโคดมแวดล้อม ด้วยคฤหัสถ์ บริษัทหมู่ใหญ่ ทรงแสดงธรรมอยู่ งั้นเราพึงเขาหา ถึงที่ประทับ เพื่อกำบังจักษุเถิด มารทูลถามพระองค์ด้วยคาถาว่า ท่านพร่ำสอนผู้อื่นอย่าได้ข้องอยู่ ในความยินดียินร้าย

พระสัมพุทธเจ้า มีปรกติอนุเคราะห์ด้วยจิตอัน เกื้อกูล ทรงพร่ำสอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด ตถาคตมีจิตหลุดพ้น จากความ ยินดียินร้าย ในสิ่งนั้นแล้ว มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา จึงได้ หายไปในที่นั้น


มานสสูตรที่ ๕
มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า บ่วงใดมีใจ ไปได้ใน อากาศ กำลังเที่ยวไป ข้าพระองค์จักคล้องพระองค์ไว้ด้วยบ่วงนั้น สมณะ ท่านไม่พ้นเรา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราหมดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นของรื่นรมย์ ใจแล้ว แน่ะมาร เรากำจัดท่านได้แล้ว ฯ ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์ เสียใจว่าพระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไป ในที่นั้นนั่นเอง


ปัตตสูตรที่ ๖
พระสมณโคดม ยังภิกษุให้เห็นแจ้ง ใน อุปาทานขันธ์ ๕ .. ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรเป็นอันมากไว้ กลางแจ้ง.. มารผู้มีบาปแปลงเพศเป็นโค เดินไปยังที่บาตรที่วางอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกะภิกษุ อีกรูปหนึ่งว่า โคทำบาตร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ภิกษุนั่นมิใช่โค นั่น เป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาพวกเธอ

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะมารว่า พระอริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ของเรา แม้มาร แล ะเสนามาร แสวงหา อยู่ในที่ ทั้งปวง ก็ไม่พบอริยสาวก ผู้เบื่อหน่ายแล้วอย่างนี้มีอัตภาพอันเกษม ล่วงพ้นสังโยชน์ ทั้งปวงแล้ว ...มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา จึงได้หายไปในที่นั้น


อายตนสูตรที่ ๗
มารผู้มีบาปได้ร้อง เสียงดัง พิลึกพึงกลัว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า แผ่นดินนี้เห็น จะถล่มเสีย ละกระมัง พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุนั้น แผ่นดินนี้ย่อมไม่ถล่ม นั่นมารผู้มีบาปมาแล้ว เพื่อกำบังตาพวก เธอ จึงตรัสกะมาร ว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งสิ้นนี้ เป็น โลกามิส ส่วนสาวกของ พระพุทธเจ้า มีสติก้าวล่วงโลกามิสนั้น และก้าวล่วงบ่วงมารแล้ว.. มารผู้มีบาป เป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคตทรง รู้จัก เรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง

ปิณฑิกสูตรที่ ๘
พราหมณ์ คฤหบดี ถูกมารผู้มีบาปเข้าดลใจ ไม่ให้ใส่บาตรพระสมณโคดม ทำให้พระองค์เสด็จกลับมา ด้วย บาตรเปล่า มารผู้มีบาปกล่าวว่า สมณะ ท่านได้บิณฑบาตบ้างไหม พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านได้กระทำให้เราไม่ได้ บิณฑบาตมิใช่หรือ

มารผู้มีบาปกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงเสด็จบิณฑบาตครั้งที่สองอีกเถิด ข้าพระองค์จักกระทำ ให้พระองค์ ได้บิณฑบาต พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า มารมาขัดขวางตถาคต ได้ประสพสิ่ง มิใช่บุญ แล้ว พวกเราไม่มีความ กังวล ย่อมอยู่เป็นสุขสบาย พวกเราจักมีปีติเป็นภักษา ดุจอาภัสสรเทพ ...ลำดบนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ จึงได้หายไปในที่นั้น

กัสสกสูตรที่ ๙

มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นชาวนา แบกไถใหญ่ ถือปะฏักด้ามยาว มีผมยาว เข้าไปถามพระผู้มีพระภาค ว่า ท่านได้เห็นฝูงโคไหม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านจะต้องการอะไร ด้วยฝูงโคเล่า

มารกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ
(อายตนะ ๖)
จักษุเป็นของเราแท้ รูปก็เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแก่จักษุสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเรา ไปไหนพ้น ...

โสตเป็นของเรา
เสียงเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ โสต สัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเรา
ไปไหนพ้น ....

จมูกเป็นของเรา
กลิ่นเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิด แต่ ฆานสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะ หนีเรา ไปไหนพ้น ....

ลิ้นเป็นของเรา
รสเป็นของเรา อายตนะคือ วิญญาณ อันเกิดแต่ ชิวหาสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเรา ไปไหนพ้น ....

กายเป็นของเรา
โผฏฐัพพะเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิด แต่กาย สัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเรา ไปไหนพ้น ...

ใจเป็นของเรา
ธรรมารมณ์เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิด แต่ มโน สัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเรา ไปไหนพ้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มารผู้มีบาป
จักษุเป็นของท่าน
รูปเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุสัมผัส ก็เป็นของท่านแท้ มารผู้มีบาป แต่ในที่ใด ไม่มีจักษุ ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุ สัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนิน ของท่าน
       
โสตเป็นของท่าน เสียงเป็นของท่านอายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่โสตสัมผัส ก็เป็น ของท่าน
แต่ในที่ใด ไม่มีโสต ไม่มีเสียง ไม่มีอายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่ โสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน

จมูกเป็นของท่าน กลิ่นเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ฆานสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

ลิ้นเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ชิวหาสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่านอายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่ กายสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

ใจเป็นของท่าน ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ มโนสัมผัส ก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะ คือ วิญญาณ อันเกิดแต่ มโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนิน ของท่าน(ของมาร)

     มารกราบทูลว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า นี้ของเรา และกล่าวว่า นี้เป็นเราถ้าใจของท่านมีอยู่ ในสิ่งนั้น ข้าแต่สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นเราไปได้ ... พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึง สิ่งใด สิ่งนั้น ไม่มีแก่เรา ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงรู้ อย่างนี้ ท่านย่อมไม่เห็น แม้ทาง ของเรา ... (พระองค์ไม่ได้ยึดในอายตนะทั้ง ๖ จึงไม่มีตัวตนให้มารได้จับ)
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง

รัชชสูตรที่ ๑๐
ขณะพระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า เราจะสามารถ เสวยรัชสมบัติ โดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียน เอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำผู้อื่นให้เสื่อมเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศกได้หรือไม่.. มารผู้มีบาป ทราบความ จงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึงได้พูด กะเราอย่างนี้ ..มารกราบทูลว่า อิทธิบาท ทั้ง ๔ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นดุจยาน เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์ ย่อมได้สิ่งนั้น อธิษฐานภูเขา หิมพานต์ให้ เป็นทองคำล้วน ภูเขานั้นก็พึงเป็นทองคำล้วน (เสกภูเขาให้เป็นทองคำได้)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าภูเขาทองคำล้วน มีสีสุก ถึงสองเท่า ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบ ดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใดได้เห็น ทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้วไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบ อุปธิว่า เป็นเครื่องข้อง ในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์ เสียใจ จึงได้หายไป ในที่นั้นนั่นเอง

 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค หน้าที่ ๑๓๖ - ๑๔๕


ทุติยวรรคที่ ๒

ปาสานสูตรที่ ๑
(มารแกล้งพระพุทธเจ้า กลิ้งหินเข้าไปใกล้)

       [๔๔๗] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปต้องการจะยังความกลัว ความหวาดเสียวขนพอง สยองเกล้า ให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไป ณ ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ครั้นแล้ว กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ๆ ไปใกล้พระผู้มีพระภาค

     ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงตรัสสำทับกะมารผู้มีบาป ด้วยพระคาถาว่าแม้ถึงว่า ท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหว ก็จะไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบแน่แท้

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรง รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง


สีหสูตรที่ ๒
(มารโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า ว่าคู่ต่อสู้ของท่านยังมี คิดว่าท่านเป็นผู้ชนะแล้วหรือ)

         [๔๔๙] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมนี้แล แวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ แสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้ ณ ที่พระสมณโคดมประทับอยู่เพื่อการกำบังจักษุเถิด

     ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว กล่าวกะ พระผู้มี พระภาคด้วยคาถาว่า ท่านเป็นผู้องอาจในบริษัท บันลือสีหนาท ดุจราชสีห์ ฉะนั้นหรือ ก็ผู้ที่พอจะต่อสู้ท่านยังมี ท่านเข้าใจว่าเป็นผู้ชนะแล้วหรือ

   พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบด้วยพระคาถาว่าตถาคตเป็นมหาวีรบุรุษ องอาจในบริษัท บรรลุทสพลญาณ ข้ามตัณหาอันเป็นเหตุข้องในโลกเสียได้ บันลืออยู่โดยแท้

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา   พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง


สกลิกสูตรที่ ๓
(มารตำหนิพระพุทธเจ้าขณะสำเร็จสีหไสยาว่า นอนด้วยความเขลา มัวเมาคิดคาถา)

        [๔๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิมิคทายวัน เขตกรุงราชคฤห์ ฯ  ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มี พระภาค ถูกสะเก็ดหินเจาะแล้ว ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย อันยิ่ง เป็นไปในพระสรีระ เป็นทุกข์ แรงกล้า เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ทรงสบาย ย่อมเป็นไปแด่พระผู้มี พระภาค พระองค์มีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาเหล่านั้น ไม่กระสับกระส่าย

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วสำเร็จ สีหไสยา โดยพระปรัศเบื้องขวา พระบาทซ้ายเหลื่อมพระบาทขวา มีพระสติ สัมปชัญญะ ฯ

   ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ แล้วทูล ถามพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ ประโยชน์ ทั้งหลายของท่านไม่มีมาก ท่านอยู่ ณ ที่นั่งที่นอนอันสงัดแต่ผู้เดียว ตั้งหน้านอนหลับ นี่อะไร ท่านหลับทีเดียวหรือ

   พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่าเราไม่ได้นอนด้วยความเขลา ทั้งมิได้มัวเมาคิดกาพย์ กลอนอยู่ เราบรรลุประโยชน์แล้วปราศจากความโศก อยู่ ณ ที่นั่งที่นอนอันสงัด แต่ผู้เดียว นอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ลูกศรเข้าไปในอกของชนเหล่าใด ร้อยหทัย ให้ลุ่มหลงอยู่ แม้ชนเหล่านั้นในโลกนี้ ผู้มีลูกศรเสียบอกอยู่ ยังได้ความหลับ เราผู้ปราศจาก ลูกศรแล้ว ไฉนจะไม่หลับเล่าเราเดินทางไปในทางที่มีราชสีห์เป็นต้น ก็มิได้หวาดหวั่น ถึงหลับในที่เช่นนั้นก็มิได้กลัวเกรง กลางคืนและกลางวันย่อมไม่ทำ ให้เราเดือดร้อน เราย่อมไม่พบเห็นความเสื่อมอะไรๆในโลก ฉะนั้น เราผู้มีความเอ็นดู ในสัตว์ทั้งปวง จึงนอนหลับ

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรง รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง



ปฏิรูปสูตรที่ ๔

(มารตำหนิการสอนของพระพุทธเจ้าว่า ไม่สมควรสอนคนอื่น)

           [๔๕๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดขึ้นว่า พระสมณโคดมนี้แวดล้อม ด้วยคฤหัสถ์ บริษัทหมู่ใหญ่ ทรงแสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้พระ สมณโคดม ถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังจักษุเถิด

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทูลถาม พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ท่านพร่ำสอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นไม่สมควร แก่ท่าน เมื่อท่านกล่าวถึงธรรมนั้น อย่าได้ข้องอยู่ในความยินดียินร้าย ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระสัมพุทธเจ้า มีปรกติอนุเคราะห์ด้วยจิตอัน เกื้อกูล ทรงพร่ำสอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด ตถาคตมีจิตหลุดพ้นจากความยินดียินร้าย ในสิ่งนั้นแล้ว

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต ทรงรู้จัก เรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



มานสสูตรที่ ๕

(มารอวดตัวว่าได้จับพระพุทธเจ้าคล้องบ่วง แต่ถูกพระองค์โต้ว่า พระองค์หมดความพอใจในขันธ์ ๕ แล้ว)

          [๔๕๙] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า บ่วงใดมีใจไปได้ในอากาศ กำลังเที่ยวไป ข้าพระองค์จักคล้องพระองค์ไว้ด้วยบ่วงนั้น สมณะ ท่านไม่พ้นเรา

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าเราหมดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นของรื่นรมย์ใจแล้ว แน่ะมาร เรากำจัดท่านได้แล้ว ฯ ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์ เสียใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไป ในที่นั้นนั่นเอง



ปัตตสูตรที่ ๖

(มารแปลงเพศเป็นโค เดินไปทำลายบาตรของภิกษุ พระองค์ตรัสกับมารว่า
สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายในรูป เวทนา... นั่นไมใช่ของเรา)

           [๔๖๑]ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่าพระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุ ทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วย อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความ เต็มใจ เงี่ยโสตลง สดับธรรมอยู่ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตาเถิด ฯ ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรเป็นอันมากไว้ใน ที่กลางแจ้ง

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปแปลงเพศเป็นโค เดินไปยังที่บาตรเหล่านั้น วางอยู่ ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกะภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า ภิกษุๆ โคนั้นพึงทำบาตร ทั้งหลาย ให้แตก

    เมื่อภิกษุนั้นพูดอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ภิกษุนั่นมิใช่โค นั่น เป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาพวกเธอ ฯ

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาปจึงตรัสกะมารผู้มีบาป ด้วยพระคาถาว่า พระอริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร  และ วิญญาณ อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ของเรา แม้มาร และเสนามาร แสวงหา อยู่ในที่ ทั้งปวง ก็ไม่พบอริยสาวก ผู้เบื่อหน่ายแล้วอย่างนี้มีอัตภาพอันเกษม ล่วงพ้นสังโยชน์ ทั้งปวงแล้ว ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จัก เรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง


อายตนสูตรที่ ๗
(พระผู้มีพระภาคสอนเรื่องอายตนะ ๖ แก่ภิกษุ มารเข้ามาทำเสียงดังน่ากลัว พระองค์ตรัสว่า เป็นการกระทำของมาร)

            [๔๖๔] ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมือ งเวสาลี ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยผัสสายตนะ ๖ ก็ ภิกษุเหล่านั้น ทำในใจ ให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่  

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยว ด้วยผัสสายตนะ ๖ และภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึก มาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลง สดับธรรมอยู่ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระ สมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตา เถิด

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ร้อง เสียงดังพิลึกพึงกลัว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ในที่ใกล้ พระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุอีกรูปหนึ่งอย่างนี้ว่าภิกษุ  ภิกษุแผ่นดินนี้ เห็นจะถล่มเสียละกระมัง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ แผ่นดินนี้ย่อมไม่ถล่ม ดูกรภิกษุ นั่นมารผู้มีบาปมาแล้ว เพื่อกำบังตาพวกเธอ

     ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงตรัส กะมาร ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งสิ้นนี้  เป็นโลกามิสอันแรงกล้า โลกหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ ส่วนสาวก ของพระพุทธเจ้า มีสติก้าวล่วงโลกามิสนั้น และก้าวล่วงบ่วงมารแล้ว รุ่งเรือง อยู่ดุจ พระอาทิตย์ ฉะนั้น

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเราพระสุคตทรง รู้จัก เรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



ปิณฑิกสูตรที่ ๘
(มารบังตาคหบดีที่เตรียมใส่บาตรไม่ให้เห็นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จกลับ ด้วยบาตรเปล่า ตรัสกับมารว่า พระองค์มีปิติเป็นอาหาร ไม่เดือดร้อน)

             [๔๖๗] ก็สมัยนั้นแล ที่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม มีนักขัตฤกษ์แจกของ แก่พวกเด็กๆ ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ เข้าไปสู่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคามเพื่อบิณฑบาต ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ ผู้คฤหบดีชาว ปัญจสาลคาม ถูกมารผู้มีบาปเข้าดลใจ ด้วยประสงค์ว่า พระสมณโคดมอย่าได้ บิณฑบาตเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาต ด้วยบาตรเปล่าอย่างใด ก็เสด็จกลับมาด้วยบาตร เปล่าอย่างนั้น

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะ พระผู้มีพระภาคว่า สมณะ ท่านได้บิณฑบาตบ้างไหม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านได้กระทำให้เราไม่ได้ บิณฑบาตมิใช่หรือ

    มารผู้มีบาปกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จเข้าไปสู่บ้าน พราหมณ์ ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาตครั้งที่สองอีกเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ จักกระทำให้ พระผู้มีพระภาคได้บิณฑบาต

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มารมาขัดขวางตถาคต ได้ประสพสิ่ง มิใช่ บุญแล้ว ดูกรมารผู้มีบาปท่านเข้าใจว่า"บาปย่อมไม่ให้ผลแก่เรา" ฉะนั้นหรือพวกเรา ไม่มีความ กังวล ย่อมอยู่เป็นสุขสบายหนอ พวกเราจักมีปีติเป็นภักษา ดุจอาภัสสรเทพ ฉะนั้น

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



กัสสกสูตรที่ ๙

(มารโต้วาทะกับพระพุทธเจ้าว่า จักษุเป็นของเรา โสต จมูก ลิ้น กาย ใจ ของสมณะ เป็นของเรา ท่านหนีเราไปไม่ได้ พระองค์ตอบว่า ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน และท่านก็ไม่เห็นทางของเรา)

            [๔๗๐] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ทรงยังภิกษุ ทั้งหลาย ให้เห็น แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วย พระนิพพาน ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบัง ตาเถิด

   ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปจึงนิรมิตเพศเป็นชาวนาแบกไถใหญ่  ถือปะฏัก มีด้ามยาว มีผมยาวรุงรังปกหน้าปกหลัง นุ่งผ้าเนื้อหยาบ มีเท้าทั้งสองเปื้อนโคลน เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่สมณะ ท่านได้เห็นโคทั้งหลายบ้างไหม พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านจะต้องการอะไร ด้วยโคทั้งหลาย เล่า

มารกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ จักษุเป็นของเราแท้ รูปก็เป็นของเรา  อายตนะคือ วิญญาณอันเกิดแก่จักษุสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น 

ข้าแต่สมณะ โสตเป็นของเรา เสียงเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ โสตสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ จมูกเป็นของเรา กลิ่นเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ ฆานสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะ หนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ ลิ้นเป็นของเรา รสเป็นของเรา อายตนะคือ วิญญาณอันเกิดแต่ ชิวหาสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ กายเป็นของเรา โผฏฐัพพะเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิด แต่กาย สัมผัสก็เป็นของเราท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ ใจเป็นของเรา  ธรรมารมณ์เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิด แต่ มโน สัมผัสก็เป็นของเราท่านจะหนีเราไปไหนพ้น

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป

     จักษุเป็นของท่าน รูปเป็นของ ท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุสัมผัส ก็เป็นของท่านแท้ ดูกรมารผู้มีบาป แต่ในที่ใด ไม่มีจักษุ ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะคือ วิญญาณ อันเกิดแต่จักษุ สัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน

     โสตเป็นของท่าน เสียงเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่โสตสัมผัส ก็เป็น ของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีโสต ไม่มีเสียง ไม่มีอายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่ โสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน

    จมูกเป็นของท่าน กลิ่นเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ฆานสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

    ลิ้นเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ชิวหาสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

    กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่าน อายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่ กายสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ

    ใจเป็นของท่าน ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิด แต่ มโนสัมผัส ก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะ คือ วิญญาณ อันเกิดแต่ มโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน

     มารกราบทูล ว่าชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่านี้ของเรา และกล่าวว่านี้เป็นเรา ถ้าใจของท่านมีอยู่ ในสิ่งนั้น ข้าแต่สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นเราไปได้  

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้น ไม่มีแก่เรา ชนเหล่าใด กล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงรู้ อย่างนี้ ท่านย่อมไม่เห็น แม้ทาง ของเรา

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรง รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง



รัชชสูตรที่ ๑๐
(มารรู้ใจทราบปริวิตกของพระองค์ จึงขอให้พระองค์เสวยราชสมบัติ)

            [๔๗๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับทรงพักผ่อนอยู่ในที่ลับ ได้ทรงปริวิตก ว่า เราจะสามารถ เสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่น เบียดเบียน ไม่ทำผู้อื่น ให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศกได้หรือไม่

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัยของ พระผู้มี พระภาคด้วยจิตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ครั้นแล้ว จึงกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่าขอพระผู้มีพระภาค จงทรงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคต จงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่น เบียดเบียน ไม่ทำให้ ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำคนอื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึงได้พูด กะเราอย่างนี้ว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคต จงเสวย รัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียนไม่ทำให้ ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่น เศร้าโศก

    มารกราบทูลว่า พระเจ้าข้า อิทธิบาททั้ง ๔ พระองค์ทรงบำเพ็ญให้เจริญ   กระทำ ให้มากกระทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นวัตถุที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมปรารภ ด้วยดีแล้ว พระเจ้าข้าก็เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์ ทรงอธิษฐานภูเขา หลวงชื่อ หิมพานต์ให้เป็น ทองคำล้วน ภูเขานั้นก็พึงเป็นทองคำล้วน

พระผู้มีพระภาคตรัสกะมารด้วยพระคาถาว่า ภูเขาทองคำล้วน มีสีสุก ถึงสองเท่า ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใดได้เห็น ทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้วไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบ อุปธิว่า เป็นเครื่องข้อง ในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย

     ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรง รู้จัก เรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง ฯ

จบวรรคที่ ๒

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์