ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๓๖ โภชนทานสูตร [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ เป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ (อานิสสงส์ในแง่ของผู้ให้) ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง อายุ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง วรรณะ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง สุข ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง กำลัง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง ปฏิภาณ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทานชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้แล ฯ ปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุ ย่อมได้อายุ ให้กำลัง ย่อมได้กำลัง ให้วรรณะ ย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณ ย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุข ย่อมได้สุข ครั้นให้อายุกำลัง วรรณะ สุข และปฏิภาณแล้ว จะเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืนมียศ ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- กาลทานสูตร (ให้ทานตามกาล) [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ทายกย่อมให้ทานแก่ ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทาน ในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน๕ ประการนี้แล ฯ ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใด ย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณานั้น ทักขิณานั้น ย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนา หรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญเพราะฉะนั้น ผู้มีจิต ไม่ท้อถอย จึงควรให้ทาน ในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่ง ของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก ฯ (การอนุโมทนา และการเข้าไปช่วยเหลือ ได้อานิสงส์ทั้งผู้ที่ทำบุญ และ ผู้ช่วยเหลือ)