เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  12 พระสูตร ที่ตรัสสอน รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรวนเป็นธรรมดา 887
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

12 พระสูตร ที่ตรัสสอน รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา


1. ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ (ปฐมเทศนา)
2. ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย (พาลธรรม)
3. ตรัสกับโสณะภิกษุ
4. ตรัสกับภิกษุ (ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา)
5. พระปุณณมันตา กับพระอานนท์ กล่าวให้กับภิกษุใหม่
6. ตรัสกับติสสะภิกษุ ติสสสูตร (ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ)
7. พระสารีบุตร กับ ยมกะภิกษุ
8. ตรัสกับอนุราธะภิกษุ
9. ตรัสกับ วักกลิ ขณะอาพาธเป็นไข้หนัก
10. ตรัสกับอัสสชิ ขณะอาพาธ
11. ตรัสกับภิกษุ นขสิขสูตร ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕
12. ตรัสกับอานนท์ ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนิจจังและมิใช่ของเรา


 
 

1. ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์

(ช่วงแรก) พิจารณาขันธ์๕ ถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน ควรเห็นตามว่านั่นไม่ใช่ของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน
รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. สังขารทั้งหลาย เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

(ตรัสเพื่อให้เห็นว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน และนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)


(ช่วงสอง) ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ
(ให้มีปัญญาเห็นชอบตามความเป็นจริง)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลายพึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตนของเรา.

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลายพึงเห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.

สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร เธอทั้งหลายพึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตนของเรา.

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตนของเรา.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด
เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว

อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์ พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น



2. ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย
พาลธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อนึ่ง เมื่ออัตตามีอยู่ บริขารที่เนื่องด้วยอัตตามีก็พึงมีว่า ของเรา.
อย่างนั้น พระเจ้าข้า:

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เมื่อบริขารเนื่องอัตตามีอยู่ อัตตาพึงมีว่าของเรา.
อย่างนั้น พระเจ้าข้า:

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออัตตาและบริขารเนื่องด้วยอัตตาที่บุคคลถือเอาไม่ได้ โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ เหตุแห่งทิฏฐิว่า นั้นโลก นั้นอัตตา ในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่ด้วยความเที่ยงอย่างนั้นข้อนี้เป็นพาลธรรมบริบูรณ์สิ้นเชิงมิใช่หรือ?
ข้อนี้ ไฉนจะไม่พึงเป็น พระเจ้าข้า เป็นพาลธรรมบริบูรณ์สิ้นเชิงทีเดียว พระเจ้าข้า.

(ช่วงแรก) พิจารณาขันธ์๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรม ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นไฉน เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ทั้งหลาย ... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข.
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า?

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา?
ข้อนี้ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.

(ช่วงสอง) ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ
(ให้มีปัญญาเห็นชอบตามความเป็นจริง)


เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ รูปทั้งปวง เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
(ย่อ)
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ วิญญาณทั้งปวง เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเราเราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ อัตตา ของเรา.



3. ตรัสกับโสณะภิกษุ


(ช่วงแรก) พิจารณาขันธ์๕

ดูกรโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
คฤหบดีบุตรชื่อโสณะทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะพิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.

พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ส. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะพิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.


(ช่วงสอง) ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ
(ให้มีปัญญาเห็นชอบตามความเป็นจริง)

ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเราไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา.

ดูกรโสณะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว.

ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.



4. ตรัสกับภิกษุ


ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอนัตตาคือกรรม ได้อย่างไร?

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคน ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงสำคัญ สัตถุศาสน์ ว่าเป็นคำสอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตากรรม ที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร?

นี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อันเราได้แนะนำไว้แล้ว ด้วยการทวนถามในธรรมนั้นๆ ในบาลีประเทศนั้นๆ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.    

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

(ตรัสแบบย่อ ไม่แจกแจงโดยละเอียดเหมือนตรัสกับปัจวัคคีย์)

(ช่วงสอง) ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ (แบบย่อ)

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉะนี้แล.



5.
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร กับพระอานนท์
และพระอานนท์ นำมากล่าวให้กับภิกษุใหม่


อานันทสูตร ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิ

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี.

ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนทเถระ เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระอานนท์แล้ว.

ท่านพระอานนท์ จึงได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการะมากแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านกล่าวสอนพวกเราด้วยโอวาทอย่างนี้ ว่า ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่น จึงมีตัณหา มานะทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา.

เพราะถือมั่น อะไรจึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นอะไร จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา.

เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเราเพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา.

ดูกรท่านอานนท์ เปรียบเสมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มีนิสัยชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตน ที่กระจกหรือที่ภาชนะน้ำ อันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดถือจึงไม่เห็นฉันใด.

ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ดูกรท่านอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง อาวุโส.

ป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง อาวุโส ฯลฯ

ป. เพราะเหตุนี้แล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. (โดยเหตุนี้แล ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า)

ดูกรอาวุโส ท่านพระปุณณ-มันตานีบุตร เป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ ก็เราได้ตรัสรู้ธรรม เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระปุณณมันตานีบุตร.


6. ตรัสกับติสสะ ภิกษุ

ติสสสูตร (ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ)

พระนครสาวัตถี ฯลฯ ก็สมัยนั้น ท่านพระติสสะซึ่งเป็นโอรสของพระปิตุจฉา ของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย กายของ ข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรม ทั้งหลาย ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้า ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า.

ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูป พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านติสสะ ผู้เป็นโอรสของปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า อาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่ ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลาย ก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิต ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้ว รับสั่งว่า ดูกรภิกษุ เธอจงไป เรียกติสสภิกษุตามคำของเราว่า ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นรับ พระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านติสสะถึงที่อยู่แล้วบอกแก่ท่านติสสะอย่างนี้ว่า ท่านติสสะ  พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน.

ท่านพระติสสะรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูกรติสสะ ทราบว่าเธอได้บอก แก่ภิกษุหลายรูปว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนัก โดยแท้ ฯลฯ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า จริงหรือ?
ท่านพระติสสะกราบทูลว่า จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า.

พ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายาส ย่อมบังเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เพราะความที่รูปนั้น แปรปรวน เป็นอย่างอื่นไปใช่ไหม?
ต. ใช่ พระเจ้าข้า.
พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัดใน

รูป. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจาก ความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยาน ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะวิญญาณนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม?
ต. ใช่ พระเจ้าข้า.

พ. ดีละๆ ติสสะ
ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ในวิญญาณ.

พ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและ อุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ความ กระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะความที่วิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม?
ต. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดีละๆ ติสสะ
ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ในวิญญาณ.

ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. เพราะเหตุนั้นแล ติสสะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

พ. ดูกรติสสะ เปรียบเหมือน มีบุรุษ ๒ คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทางคนหนึ่ง ฉลาดในหนทาง บุรุษคนที่ไม่ฉลาดในหนทางนั้น จึงถามทางบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง บุรุษผู้ฉลาดในหนทางนั้น พึงบอกอย่างนี้ว่า

ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปตามทางนี้แหละสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบทาง ๒ แพร่ง ในทาง ๒ แพร่งนั้น ท่านจงละทางซ้ายเสีย ถือเอาทางขวาไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบราวป่าอันทึบ ท่านจงไปตามนั้นสักพักหนึ่งแล้ว จักพบที่กลุ่มใหญ่มีเปือกตม จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบหนองบึง จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจัก พบภูมิภาคอันราบรื่น.

ดูกรติสสะ เรากระทำอุปมานี้แล เพื่อให้เข้าใจเนื้อความ ในข้อนี้มีอธิบายอย่างนี้.

คำว่าบุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งปุถุชน. คำว่าบุรุษผู้ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

คำว่าทาง ๒ แพร่งนี้แล เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา. คำว่าทางซ้ายนี้แล เป็นชื่อแห่งมรรคผิดอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯมิจฉาสมาธิ. คำว่าทางขวานี้แล เป็นชื่อแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ

สัมมาสมาธิ. คำว่าราวป่าอันทึบนี้แล เป็นชื่อแห่งอวิชชา. คำว่าที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตมนี้แลเป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย.

คำว่าหนองบึงนี้แล เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น. คำว่าภูมิภาคอันราบรื่นนี้แล เป็นชื่อแห่งนิพพาน.

เธอจงยินดีเถิด ติสสะ เธอจงยินดีเถิด ติสสะตามโอวาทของเราตามความอนุเคราะห์ของเรา ตามคำพร่ำสอนของเรา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระติสสะปลื้มใจ ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคฉะนี้แล.



7. พระสารีบุตร กับ ยมกะภิกษุ


สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ

สา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ

สา. เพราะเหตุนี้นั้นแล ยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

สา. ดูกรท่านยมกะ
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูปว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นเวทนาว่าสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในรูปหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากรูปหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในเวทนาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากเวทนาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสัญญาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสังขารหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากสังขารหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในวิญญาณหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากวิญญาณหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ดูกรยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

ช่วงที่ 2


สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่า สัตว์บุคคลนี้นั้นไม่มี รูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ดูกรท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคลใน ขันธ์ ๕ เหล่านี้ ในปัจจุบัน ไม่ได้เลย ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ย. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้วเพราะฟังธรรม เทศนานี้ ของท่านพระสารีบุตร.

สา. ดูกรท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลาย พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านยมกะ ภิกษุผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้น จะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร?

ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่า รูปแลไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ ไม่ได้ เวทนา



8. ตรัสกับอนุราธะภิกษุ

ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
อ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนี้แล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมรู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

......................................................................................................

พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นรูปว่าเป็นสัตว์ บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมเห็นว่าสัตว์บุคคลในรูปหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากรูปหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในเวทนาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากเวทนาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในสัญญาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากสัญญาหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในสังขารหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากสังขารหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในวิญญาณหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากวิญญาณหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

......................................................................................................

พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลนี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรอนุราธะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ เธอค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือที่เธอจะพยากรณ์ว่า พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นยอดบุรุษ ถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม เมื่อจะบัญญัติ ย่อมบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔ เหล่านี้ คือ

สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑
ย่อมไม่เกิดอีก ๑
ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑
ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑


อ. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.

พ. ถูกละๆ อนุราธะ ทั้งเมื่อก่อนและทั้งบัดนี้ เราย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์



9. ตรัสกับ วักกลิ ขณะอาพาธเป็นไข้หนัก

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป หาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิ เธออย่าลุก จากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.

ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิเธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ.

ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถ ยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.

พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น
เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?
ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคได้.

พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม.

วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.



10. ตรัสกับอัสสชิ

อัสสชิสูตร (ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเวทนา)

(เสด็จเข้าไปหาอัสสชิ ขณะเป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอัสสชิอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่อารามของกัสสปเศรษฐี.

ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมา แล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโสทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า

พระเจ้าข้า อัสสชิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา และท่านทั้งหลาย จงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด.

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านอัสสชิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า อัสสชิภิกษุ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย เศียรเกล้า และสั่งมากราบทูลว่า พระเจ้าข้าขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ.

ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่พักผ่อนแล้ว เสด็จเข้าไปหา ท่านพระอัสสชิถึงที่อยู่ ท่านพระอัสสชิได้แลเห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอัสสชิว่า อย่าเลยอัสสชิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น.

พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.

ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระอัสสชิว่าดูกรอัสสชิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ?

ท่านพระอัสสชิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถ จะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่า กำเริบขึ้นไม่ทุเลาลงเลย.

พ. ดูกรอัสสชิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
อ. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ ไม่น้อยเลย.

พ. ดูกรอัสสชิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
อ. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนข้าพระองค์เองได้โดยศีลก็หาไม่.

พ. ดูกรอัสสชิ  ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและความเดือดร้อนอะไร?

อ. พระเจ้าข้า ครั้งก่อน ข้าพระองค์ระงับกายสังขาร (ลมหายใจเข้าออก) ได้อย่างลำบาก จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้สมาธิ จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราไม่เสื่อม หรือหนอ.      

พ. ดูกรอัสสชิ สมณพราหมณ์ที่มีสมาธิเป็นสาระ มีสมาธิเป็นสามัญญะ เมื่อไม่ได้ สมาธินั้น ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายไม่เสื่อมหรือหนอ.

ดูกรอัสสชิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ถ้าอริยสาวกนั้นได้ เสวยสุขเวทนา
ก็ทราบชัดว่า สุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน

หากว่า เสวยทุกขเวทนา
ก็ทราบชัดว่า ทุกขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าหากว่า เสวยอทุกขมสุขเวทนา
ก็ทราบชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน
...................................................................

หากว่า เสวยสุขเวทนา
ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยสุขเวทนานั้น

ถ้าหากว่า เสวยทุกขเวทนา
ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยทุกขเวทนานั้น

ถ้าหากว่า เสวยอทุกขมสุขเวทนา
ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยอทุกขมสุขเวทนา นั้น

ย่อมทราบชัดว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน.
...................................................................

หากว่า เสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด
ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

ถ้า เสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด
ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนา  มีชีวิตเป็นที่สุด

ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวล ในโลกนี้ ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.

ดูกรอัสสชิ อุปมาเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงติดอยู่ได้ เพราะอาศัยน้ำมัน และไส้เชื้อ ไม่มีก็พึงดับ เพราะหมดน้ำมันและไส้นั้น ฉันใด.
...................................................................

ดูกรอัสสชิ
ภิกษุเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตกความเสวยอารมณ์ทั้งมวล ในโลกนี้ ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.



11. ตรัสกับภิกษุ


นขสิขสูตร ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕

พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุนั้นนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปอะไรๆที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล

เวทนาอะไรๆ ฯลฯ สัญญาอะไรๆ ฯลฯ สังขารอะไรๆ ฯลฯ วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล?

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้นไม่มีเลย.
เวทนาอะไรๆ ... สัญญาอะไรๆ ... สังขารอะไรๆ ... วิญญาณอะไรๆที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นนิดหน่อยด้วยปลายเล็บแล้ว ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ แม้รูปมีประมาณเท่านี้แล เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มี.

ถ้าว่ารูปแม้มีประมาณเท่านี้ จักได้เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์ โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ.

ก็เพราะเหตุที่ รูป แม้มีประมาณเท่านี้แล เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความ แปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความ สิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ.

เวทนา แม้มีประมาณเท่านี้แล ฯลฯ
วิญญาณแม้มีประมาณเท่านี้แล เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มี.

ถ้าแม้ว่าวิญญาณมีประมาณเท่านี้ จักเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ.

ก็เพราะเหตุที่วิญญาณแม้มีประมาณเท่านี้แล เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ.

ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ อริยสาวกผู้ได้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่าฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.    



12. ตรัสกับอานนท์


ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนิจจังและมิใช่ของเรา

พระนครสาวัตถี.
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้ๆเดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด.

ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า?
อา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน ของเรา?
อา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์