เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  จูฬอัสสปุรสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ 881
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

คำปฏิญญาของสมณะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอปฏิญญา ว่าจะศึกษาข้อปฏิบัติที่ดียิ่งของ สมณะ เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ปฏิญญาของพวกเรา ก็จักเป็นความจริงแท้ บรรพชาของพวกเรา ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ

ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติ อันดียิ่ง?
มีอภิชฌา(โลภ) มาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยังละพยาบาทไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ ยังมีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมายา มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด ... (กิเลส มลทินเหล่านี้) ยังละไม่ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะยังละไม่ได้ซึ่งกิเลสเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาด ของสมณะ อันเป็นเหตุ ให้เกิด ในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล เราจึงไม่กล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อปฏิบัติอันดียิ่ง ของสมณะ



 
 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๓๕๙



จูฬอัสสปุรสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

[๔๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคม ของ หมู่อังคราชกุมาร เขตอังคชนบท.ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่า สมณะๆ ก็แหละพวกเธอ เมื่อ เขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร ก็ปฏิญญาว่า พวกเราเป็นสมณะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอนั้น มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ จึงควรศึกษาอยู่ว่า ข้อปฏิบัติที่ดียิ่งของ สมณะ อันใดมีอยู่ เราทั้งหลายจะปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเรา ก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้น ของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ในเพราะพวกเรา อีกอย่างหนึ่งเล่า บรรพชานี้ของพวกเรา ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ.

[๔๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติ อันดียิ่ง?

(ภิกษุมีอกุศล มลทิน แต่ยังละไม่ได้ ถือว่าไม่เป็นผู้ปฏิบัติอันดียิ่ง)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดรูปหนึ่ง
มีอภิชฌา(โลภ) มาก ยังละอภิชฌาไม่ได้
มีจิตพยาบาท ยังละพยาบาทไม่ได้
เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้
มีความผูกโกรธ ยังละความโกรธไม่ได้
มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้
มีความตีเสมอ ยังละความตีเสมอไม่ได้
ยังมีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้
มีความตระหนี่ ยังละความตระหนี่ไม่ได้
มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้
มีมายา ยังละมายาไม่ได้
มีความปรารถนาลามก ยังละความปรารถนาลามกไม่ได้
มีความเห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะยังละไม่ได้ซึ่งกิเลสเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาด ของสมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล เราจึงไม่กล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาวุธชื่อ มตชะ มีคมสองข้าง ทั้งชุบ และ ลับดีแล้ว สอดไว้ในฝัก และพันไว้แม้ฉันใด เรากล่าวบรรพชาของภิกษุนี้ มีอุปมาฉันนั้น.

[๔๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ครองผ้าสังฆาฏิ เราหากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วย อาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิไม่

(ผู้เป็นสมณะ ไม่ใช่สักแต่ว่าได้ครองผ้าสังฆาฏิ)
บุคคลถือเพศเปลือยกาย
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเปลือยกายไม่.
บุคคลที่หมักหมมด้วยธุลี
          
เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเป็นคนหมักหมมด้วยธุลีไม่
บุคคลลงอาบน้ำ (วันละสามครั้ง)
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงลงอาบน้ำไม่.
บุคคลอยู่โคนไม้เป็นวัตร
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอยู่โคนไม้เป็นวัตรไม่.
บุคคลอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเป็นผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรไม่
บุคคลลอบกายเป็นวัตร
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอบกายไม่.
บุคคลกินภัตโดยวาระ
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงกินภัตโดยวาระไม่.
บุคคลที่ท่องมนต์
          เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงท่องมนต์ไม่.
บุคคลที่มุ่นผม (มวยผม)
           เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงมุ่นผมไม่.
.....................................................................................

(มีอกุศล-มลทิน แต่ละได้.. ท่านจงมาเป็นสมณะเถิด)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า
เมื่อบุคคลครองผ้าสังฆาฏิแล้ว
มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาได้
มีจิตพยาบาท ก็ละพยาบาทได้
มีความมักโกรธ ก็สละความมักโกรธได้
มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธได้
มีความลบหลู่ ก็ละความลบหลู่ได้
มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอได้
มีความริษยา ก็ละความริษยาได้
มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่ได้
มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดได้
มีมายา ก็ละมายาได้
มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกได้
มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดได้
ด้วยอาการสักว่า ครองผ้าสังฆาฏิไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต พึงทำให้บุคคลนั้น ครองผ้าสังฆาฏิตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงเชิญชวนผู้นั้นให้ครองผ้าสังฆาฏิ อย่างเดียว ว่า ท่านผู้มีหน้าอันเจริญ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ครองผ้าสังฆาฏิ

...ฯลฯ ...
.....................................................................................

(ภิกษุผู้ปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ คือละอกุศลเสียได้)

[๔๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติ อันดียิ่ง ของสมณะ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาเสียได้
มีจิตพยาบาท ก็ละพยาบาทเสียได้
มีความมักโกรธ ก็ละความมักโกรธเสียได้
มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธเสียได้
มีความลบหลู่ ก็ละความลบหลู่เสียได้
มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอเสียได้
มีความริษยา ก็ละความริษยาเสียได้
มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่เสียได้
มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดเสียได้
มีมายา ก็ละมายาเสียได้
มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกเสียได้
มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดเสียได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่า น้ำฝาดของ สมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้ แล เราจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติ อันดียิ่งของสมณะ

........ฯลฯ...........

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

(ผู้ประพฤติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของ สกุลกษัตริย์ พราหมณ์..ผู้เข้ามาบวช)

ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์ มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่า เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

ถ้ากุลบุตร ออกจากสกุลพราหมณ์ ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลแพศย์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลศูทร ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุล ไหนๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน เรากล่าวว่า กุลบุตรนั้น เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติ อันดียิ่งของสมณะ


(บรรพชิตจากสกุลกษัตริย์-พราหมณ์ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมิติ ปัญญาวิมุตติ กล่าวว่า เป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะ)

ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์ บวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะสิ้นอาสวะ ด้วยความรู้ยิ่ง โดยตนเองเขาถึง พร้อม แล้ว อยู่ในชาตินี้ เรากล่าวว่า เป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลแพศย์ ...ถ้ากุลบุตร ออกจากสกุลศูทร ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลไหนๆ ก็ตาม บวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยความรู้ยิ่ง โดยตนเองเข้าถึงพร้อมแล้วในชาตินี้ เรากล่าวว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิต ของ พระผู้มี พระภาคแล้วแล.

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์