เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 จักกวัตติสูตร ภิกษุผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง 869
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

พระราชาจักรพรรดิ์ ผู้ทรงธรรม พระนามว่า ทัลหเนมิ (ยุคมนุษย์อายุ 80,000 ปี)

ก็ภิกษุผู้มีตน เป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เป็นไฉน

- พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
- พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรม





 
 


ฉบับหลวง (ไทย) เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้าที่ ๔๓



จักกวัตติสูตร

                [๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลาในแคว้นมคธ ณ ที่ นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯ

     ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีตน เป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เป็นไฉน

     ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ

     ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ฯ

     ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ฯ

     ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลก เสียได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรม เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล (สติปัฏฐาน ๔)

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดา ของตน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบ มาจากบิดา ของตน มารจักไม่ได้โอกาส มารจักไม่ได้ อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ เจริญขึ้นอย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ฯ

...........................................................................................

พระราชาจักรพรรดิ์ ผู้ทรงธรรม พระนามว่า ทัลหเนมิ
(ยุคมนุษย์อายุ 80,000 ปี)

                [๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาจักรพรรดิ์  พระนามว่า ทัลหเนมิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน  มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะ โดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาคร เป็นขอบเขต

รับส่งว่า ถ้าจักรแก้วเคลื่อนจากที่ ให้บอกพระราชาด้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น โดยล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลาย พันปี ท้าวเธอตรัส เรียกบุรุษ คนหนึ่งมารับสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ถอย เคลื่อนจากที่ ในกาลใด พึงบอกแก่เราในกาลนั้นทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทูลสนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว

ผ่านไปหลายร้อยหลายพันปี จักรแก้วเคลื่อนจากที่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี บุรุษนั้นได้เห็น จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลว่า ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พึงทรงทราบ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ของพระองค์ถอย เคลื่อนจากที่แล้ว ฯ

(ราชาทัลหเนมิ จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน..ทรงสละราชสมบัติ เพื่อแสวงหากามอันเป็นทิพย์)

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่มา รับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร ได้ยินว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อ ถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ก็พ่อได้ สดับ มาดังนี้ว่า จักรแก้วอัน เป็นทิพย์ของ พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ใด ถอยเคลื่อนจากที่ พระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์นั้น พึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นานในบัดนี้ ก็กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นสมัยที่จะแสวงหา กามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ของพ่อ มาเถิดพ่อกุมาร พ่อจงปกครองแผ่นดิน อันมีสมุทร เป็นขอบเขตนี้  ฝ่ายพ่อจักปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงสั่งสอนพระกุมารองค์ใหญ่ในราชสมบัติ
เรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้าย้อม น้ำฝาด เสด็จออก จากเรือน ทรงผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤาษี ทรงผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ฯ

(พระจักรพรรดิ์ เสียพระทัยหลังจักรแก้วอันตรธาน จึงเสด็จไปหาฤาษี)

                [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระราชา ผู้เป็นกษัตริย์ ซึ่งได้มูรธาภิเษกแล้ว ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ  พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึง ทรงทราบเถิด จักรแก้ว อันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอ ได้ทรงเสียพระทัย และทรงเสวยแต่ความเสียพระทัย ท้าวเธอเสด็จเข้าไปหา พระราชฤาษี ถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึง ทรงทราบว่าจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ อันตรธานไปแล้ว

(ฤาษีปลอบใจ บอกจักรแก้วไม่ใช่สมบัติของพระจักรพรรดิ์ จึงขอเชิญให้มา ประพฤติธรรม - จักกวัตติวัตร
)

ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชฤาษีจึงตรัสกะท้าวเธอว่า ดูกรพ่อ พ่อ อย่าเสียใจ และอย่าเสวยแต่ความเสียใจไปเลย ในเมื่อจักรแก้ว อันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ดูกรพ่อ ด้วยว่าจักรแก้ว อันเป็นทิพย์หาใช่สมบัติ สืบมาจากบิดาของพ่อไม่ ดูกรพ่อ เชิญพ่อประพฤติในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล เมื่อพ่อประพฤติ ในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐ จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ซึ่งมีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการ ทุกอย่างจักปรากฏมี แก่พ่อผู้สระพระเศียร แล้วรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาทอัน ประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ

     ร. พระพุทธเจ้าข้า ก็จักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นไฉน

(จักกวัตติวัตร อันประเสริฐคือ .. เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรม เป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม เป็นใหญ่.. อย่าให้มีอธรรมในแวนแคว้น พึงให้ทรัพย์แก่ บุคคล งดเว้นความเมา และความประมาท ตั้งมั่นในขันติ อยู่วิเวก เพื่อดับกิเลส พึงเข้าหา สมณพราหมณ์ เนืองๆ พึงละอกุศล ไม่ควรเสพกาม พึงกระทำพื่อความสิ้นทุกข์ )

     ราช. ดูกรพ่อ ถ้าเช่นนั้น พ่อจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม ทำความเคารพ ธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม เป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครอง อันเป็นธรรมในชนภายใน ในหมู่พล ในพวกกษัตริย์ผู้เป็นอนุยนต์ ในพวกพราหมณ์ และ คฤหบดี ในชาวนิคมและ ชาวชนบททั้งหลาย ในพวกสมณพราหมณ์ ในเหล่าเนื้อ และนก

ดูกรพ่อ การ อธรรม อย่าให้มีได้ในแว่นแคว้นของพ่อเลย ดูกรพ่อ อนึ่งบุคคลเหล่า ใด ในแว่นแคว้น ของพ่อ ไม่มีทรัพย์ พ่อพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้น

ด้วยดูกรพ่อ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้นของพ่อ งดเว้นจากความเมา และความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ และโสรัจจะ(อดทน) ฝึกตนแต่ผู้เดียว สงบตนแต่ผู้เดียว ให้ตนดับกิเลส อยู่แต่ผู้เดียว พึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์ เหล่านั้น โดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบถาม ว่า

ท่านขอรับ กุศลคืออะไร ท่านขอรับ อกุศลคืออะไร กรรมมีโทษคืออะไร กรรมไม่มีโทษ คืออะไร กรรมอะไรควรเสพ กรรมอะไร ไม่ควรเสพ กรรมอะไร อันข้าพเจ้า กระทำอยู่ พึงมีเพื่อไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน

พ่อได้ฟังคำ ของสมณพราหมณ์ เหล่านั้นแล้ว สิ่งใด เป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่น สิ่งนั้นประพฤติ ดูกรพ่อ นี้แลคือจักกวัตติวัตร อันประเสริฐนั้น ฯ

พระจักรพรรดิ์รับสนองฯ และทรงประพฤติ จักกวัตติวัตร อันประเสริฐ จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ จึงปรากฏมีแก่ท้าวเธอผู้สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถ อยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ ชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวเธอรับสนองพระดำรัสพระราชฤาษีแล้ว ทรงประพฤติใน จักกวัตติวัตร อันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรงประพฤติจักกวัตติวัตรอันประเสริฐอยู่ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ซึ่งมี กำพัน หนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ ด้วยอาการทุกอย่าง ปรากฏมีแก่ท้าวเธอผู้สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถ อยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ ชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ

ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นแล้ว  มีพระดำริว่า ก็เราได้สดับมาว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุมบริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ปรากฎมีแก่พระราชา ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ใด ผู้ได้ มูรธาภิเษก สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาท อันประเสริฐ ชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระราชาพระองค์นั้น เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ เราได้เป็น พระเจ้าจักพรรดิ์หรือหนอ ฯ

(พระจักรพรรดิ์ตรัสว่า ขอจักรแก้วอันประเสริฐ จงเป็นไปเถิด ขอจักรแก้วอันประเสริฐ จงชนะโลกทั้งปวงเถิด ขณะนั้น จักรแก้วนั้นก็เป็นไปทางทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วย จตุรงคินีเสนา ก็เสด็จติดตามไป)

                [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จลุกจากพระที่แล้ว  ทรงทำผ้า อุตตราสงค์เฉวียง พระอังสาข้างหนึ่ง จับพระเต้าด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงประคองจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า ขอจักรแก้ว อันประเสริฐ จงเป็นไปเถิด ขอจักรแก้วอันประเสริฐ จงชนะโลกทั้งปวงเถิด ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น จักรแก้ว นั้นก็เป็นไปทางทิศบูรพา(ตะวันออก) พระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วย จตุรงคินีเสนา ก็เสด็จติดตามไป ฯ

(พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ทิศบูรพา พากันเสด็จเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ์ เพื่อขอรับพระบรม ราโชวาท พวกท่าน ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่เอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าวคำเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา จงบริโภคตามเดิมเถิด)

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศบูรพาพากันเสด็จ เข้าไปเฝ้า พระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่าขอเชิญเสด็จมาเถิด มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ราชอาณาจักรเหล่านี้ เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ขอพระองค์ พระราชทานพระบรมราโชวาท เถิด
มหาราชเจ้า ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า
พวกท่าน ไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ไม่พึงกล่าวคำเท็จ
ไม่พึงดื่มน้ำเมา
จงบริโภคตามเดิมเถิด


ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศบูรพาได้พากันตาม  เสด็จท้าวเธอไป

(พระจักรพรรดิ์ได้เสด็จไปทิศตะวันตก โดยจักรแก้วนำลงสู่สมุทรทางทิศตะวันออก แล้วโผล่ขึ้นทิศใต้ เพื่อพระราชทานพระบรมราโชวาท แด่พระเจ้าแผ่นดินทางทิศตะวันตก)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น จักรแก้วนั้น ก็ลงไปสู่สมุทร ด้านบูรพา แล้วโผล่ขึ้นไป ลงที่สมุทร ด้านทักษิณ แล้วโผล่ขึ้นไปสู่ ทิศปัจฉิม ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จติดตามไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด ท้าวเธอ ก็เสด็จเข้าไปพักอยู่ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศปัจฉิมก็พากันเสด็จ เข้าไปเฝ้า ท้าวเธอ ได้กราบทูล อย่างนี้ว่า ขอเชิญเสด็จมาเถิด มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมา ดีแล้ว มหาราชเจ้า อาณาจักรเหล่านี้ เป็นของ พระองค์ทั้งสิ้น มหาราชเจ้า ขอพระองค์ พระราชทานพระบรม ราโชวาทเถิด ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า
พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ไม่พึงกล่าวคำเท็จ
ไม่พึงดื่มน้ำเมา
จงบริโภคตามเดิมเถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศอุดร (เหนือ) ได้พากันตาม เสด็จท้าวเธอไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นจักรแก้วนั้นได้ชนะวิเศษยิ่งซึ่งแผ่นดินมีสมุทรเป็น ขอบเขต ได้แล้วจึงกลับคืนสู่ราชธานีนั้น ได้หยุดอยู่ที่ประตูพระราชวังของท้าวเธอ ปรากฏเหมือน เครื่องประดับ ณ มุขสำหรับทำเรื่องราวสว่างไสวอยู่ทั่วภายใน พระราชวังของท้าวเธอ ฯ
.......................................................................................................................

                [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่ ๒ ก็ดี องค์ที่ ๓ ก็ดี องค์ที่ ๔ ก็ดีองค์ที่ ๕ ก็ดี องค์ที่ ๖ ก็ดี องค์ที่ ๗ ก็ดี โดยกาลล่วงไปหลายปี หลาย ร้อยปี หลายพันปี ได้ตรัสเรียกบุรุษ คนหนึ่ง มารับสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็น จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ในกาลใด พ่อพึงบอกแก่เราในกาลนั้น ทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทูลสนองพระราชดำรัสของ ท้าวเธอแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปีหลายพันปี บุรุษนั้นได้แล เห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พึงทรงทราบ จักรแก้วอัน เป็นทิพย์ของ พระองค์ถอยเคลื่อนจากที่แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่มารับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร ได้ยินว่า จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ก็พ่อได้ สดับมาดังนี้ว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์ใด ถอยเคลื่อน ออกจากที่ พระเจ้าจักรพรรดิ์ พระองค์นั้นพึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ในบัดนี้ ก็กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นสมัยที่จะแสวงหากาม ทั้งหลาย อันเป็นทิพย์ ของพ่อ มาเถิดพ่อกุมาร พ่อจงปกครองแผ่นดิน อันมีสมุทรเป็น ขอบเขตนี้ ฝ่ายพ่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงสั่งสอนพระกุมารองค์ ใหญ่ในราชสมบัติ เรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงครองผ้า ย้อมน้ำฝาด เสด็จออก จากเรือนทรงผนวช เป็นบรรพชิตแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤาษี ทรงพระผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอัน เป็นทิพย์ อันตรธาน ไปแล้ว ฯ



 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์