เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 วิธีพิจารณาเพื่อกำจัด อกุศลวิตก ตามลำดับ 862
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

ภิกษุผู้ประกอบฝึกฝนเพื่อบรรลุอธิจิต พึงกระทำในใจ ถึง นิมิต ๕ ประการ

ประการที่ ๑ ภิกษุนั้นอาศัยนิมิตแห่งกุศล เพื่อละเสียซึ่ง นิมิตแห่งอกุศล ทำจิตให้เป็นสมาธิได้
ประการที่ ๒ ภิกษุนั้น อึดอัด ระอา ขยะแขยง ต่อโทษของอกุศลวิตกอยู่
ประการที่ ๓ ภิกษุนั้นจะไม่ทำการระลึกถึง ไม่กระทำไว้ในใจถึงอกุศลวิตก เหล่านั้น
ประการที่ ๔ ภิกษุนั้น พิจารณารูปพรรณสัณฐานแห่ง การปรุงแต่งแห่งวิตกไปตามลำดับๆ หยุดการวิจาร ใน เรื่องราวของจิตกนั้น แต่ไปพิจารณารูปพรรณสันฐานของวิตกนั้นแทน
ประการที่ ๕ ภิกษุนั้น ข่มขี่จิตด้วยจิต บีบบังคับจิตด้วยจิต เผาจิตด้วยจิต ให้เป็นอย่างยิ่ง


 
 


วิธีพิจารณาเพื่อกำจัด "อกุศลวิตก" ตามลำดับ
- มู.ม. ๑๒/๒๔๑-๒๔๖/๒๕๗-๒๖๒.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้ประกอบฝึกฝนเพื่อบรรลุอธิจิต พึงกระทำในใจ ถึง นิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร. ห้าประการ อย่างไรเล่า ? ห้าประการคือ :-

ประการที่ ๑

ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุในกรณีนี้ อาศัยนิมิตใด กระทำในใจซึ่งนิมิตใดอยู่ อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบอยู่ด้วยโทสะบ้าง ประกอบอยู่ ด้วยโมหะบ้าง ได้บังเกิดขึ้น ภิกษุนั้น พึงละนิมิตนั้นเสีย กระทำในใจซึ่งนิมิตอื่น อันประกอบอยู่ด้วย กุศล.

เมื่อภิกษุนั้นกระทำในใจถึงนิมิตอื่น นอกไปจากนิมิตนั้น อันประกอบอยู่ด้วยกุศลอยู่ อกุศลวิตกอันเป็นบาป ที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบอยู่ด้วยโทสะบ้าง ประกอบอยู่ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้. เพราะละ เสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุด มีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนช่างทำแผ่นไม้กระดาน หรือลูกมือของ เขาผู้ฉลาด ตอก โยก ถอนลิ่มอันใหญ่ออกเสียได้ ด้วยลิ่มอันเล็ก นี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (ภิกษุนั้นอาศัยนิมิตแห่งกุศล เพื่อละเสียซึ่ง นิมิตแห่งอกุศล ทำจิตให้เป็นสมาธิได้).

ประการที่ ๒

ภิกษุ ท. ! ถ้าแม้ภิกษุนั้น ละนิมิตนั้นแล้ว กระทำในใจซึ่งนิมิตอื่น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ อกุศลวิตกอันเป็นบาป ซึ่งประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ก็ยังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นอยู่นั่นเอง ดังนี้แล้วไซร้, ภิกษุนั้น พึง เข้าไปใคร่ครวญซึ่งโทษแห่งอกุศลวิตกเหล่านั้น ว่า “วิตกเหล่านี้เป็นอกุศล” ดังนี้บ้าง “วิตกเหล่านี้ ประกอบไปด้วยโทษ” ดังนี้บ้าง “วิตกเหล่านี้ มีทุกข์เป็นวิบาก” ดังนี้บ้าง.

เมื่อภิกษุนั้นใคร่ครวญซึ่งโทษแห่งอกุศลวิตกเหล่านั้นอยู่, อกุศลวิตกอันเป็นบาป ที่ประกอบ อยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้เพราะการละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอ ก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่น เทียว.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่ม ชอบการประดับ ตกแต่ง เมื่อถูกเขา เอาซากงู ซากสุนัข หรือซากคน มาแขวนเข้าที่คอ ก็จะรู้สึกอึดอัด ระอา ขยะแขยง นี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (ที่ภิกษุนั้น อึดอัด ระอา ขยะแขยง ต่อโทษของอกุศลวิตกอยู่).

ประการที่ ๓

ภิกษุ ท. ! ถ้าแม้ภิกษุนั้น ใคร่ครวญซึ่งโทษแห่งอกุศลวิตกเหล่านั้นอยู่อย่างนี้ อกุศลวิตกอันเป็นบาป ที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ก็ยังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นอยู่นั่นเอง ดังนี้แล้วไซร้ ภิกษุนั้น อย่าพึงระลึกถึง อย่าพึงกระทำ ไว้ในใจซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น. เมื่อภิกษุนั้นไม่ระลึกถึง ไม่กระทำไว้ในใจ ซึ่งอกุศล วิตก เหล่านั้น อยู่ อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละเสียได้ ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอก ผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษมีตา แต่ไม่ต้องการจะเห็นรูปอันมา สู่คลองแห่งจักษุ เขาก็จะหลับตาเสีย หรือจะเหลียวมองไปทางอื่นเสีย นี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (ที่ภิกษุนั้นจะไม่ทำการระลึกถึง ไม่กระทำไว้ในใจถึงอกุศลวิตก เหล่านั้น).

ประการที่ ๔

ภิกษุ ท. ! ถ้าแม้ภิกษุนั้น ไม่ระลึกถึง ไม่กระทำไว้ในใจซึ่งอกุศล วิตกเหล่านั้น อยู่อย่างนี้ อกุศลวิตกอันเป็นบาป ซึ่งประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ก็ยังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นอยู่นั่นเอง ดังนี้แล้วไซร้ ภิกษุนั้น พึงกระทำ ในใจซึ่งรูปพรรณสัณฐานแห่งการปรุงแต่งแห่งวิตก ของอกุศลวิตกทั้งหลายเหล่านั้น.

เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่งรูปพรรณสัณฐานแห่งการปรุงแต่งแห่งวิตก ของอกุศลวิตก ทั้งหลายเหล่านั้นอยู่, อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้. เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายใน นั่นเทียว.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษเดินเร็ว ๆ แล้วฉุกคิดว่า เราจะเดินเร็วๆ ไปทำไม เดินช้าๆ ดีกว่า เขาก็เดินช้าๆ แล้วฉุกคิดว่า จะเดินช้าๆ ไปทำไม ยืนเสียดีกว่า เขาก็ยืน แล้วฉุกคิดว่า จะยืนไปทำไม นั่งลงเสียดีกว่า เขาก็นั่งลง แล้วก็ฉุกคิดว่า จะนั่งอยู่ทำไม นอนเสียดีกว่า เขาก็นอน

ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แหละที่บุรุษนั้นเปลี่ยนอิริยาบถหยาบ ๆ มาเป็นอิริยาบถละเอียดๆ นี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (ที่ภิกษุนั้น พิจารณารูปพรรณสัณฐานแห่ง การปรุงแต่งแห่งวิตกไปตามลำดับๆ หยุดการวิจารในเรื่องราวของจิตกนั้นแต่ไป พิจารณารูปพรรณสันฐานของวิตกนั้นแทน).

ประการที่ ๕

ภิกษุ ท. ! ถ้าแม้ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่งรูปพรรณสัณฐานแห่ง การปรุงแต่งแห่งวิตก ของอกุศลวิตกทั้งหลายเหล่านั้นอยู่อย่างนี้ อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วย ฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ก็ยังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นอยู่นั่นเอง ดังนี้แล้วไซร้ ภิกษุนั้น พึง ขบฟันด้วยฟัน จรดเพดานด้วยลิ้น ข่มขี่จิตด้วยจิต บีบบังคับจิตด้วยจิต เผาจิตด้วยจิต ให้เป็นอย่างยิ่ง.

เมื่อภิกษุนั้นกระทำอยู่ดังนี้ อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้นย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้. เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษแข็งแรง จับบุรุษอ่อนแอที่ศีรษะที่คอ หรือที่ลำตัว แล้วข่มขี่ บีบคั้น ทำให้เร่าร้อนเป็นอย่างยิ่ง นี้ ฉันใด ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน (ที่ภิกษุนั้น ข่มขี่จิตด้วยจิต บีบบังคับจิตด้วยจิต เผาจิตด้วยจิต ให้เป็นอย่างยิ่ง).

ผลสำเร็จแห่งการกำจัดอกุศลวิตก

ภิกษุ ท. ! ในกาลใดแล เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใด กระทำในใจซึ่ง นิมิตใดอยู่ อกุศลวิตก อันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบอยู่ด้วยโทสะบ้าง ประกอบอยู่ด้วยโมหะบ้าง ได้บังเกิดขึ้น.

เมื่อภิกษุนั้นละนิมิตนั้นกระทำในใจซึ่งนิมิตอื่นอันประกอบด้วยกุศลอยู่ อกุศลวิตก อันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้.

เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายใน นั่นเทียว.

เมื่อภิกษุนั้น ใคร่ครวญซึ่งโทษแห่งอกุศลวิตกเหล่านั้นอยู่ อกุศลวิตกอันเป็นบาป ที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้.

เพราะการละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้นเป็นสมาธิอยู่ในภายในนั่นเทียว.

เมื่อภิกษุนั้น ใคร่ครวญซึ่งโทษแห่งอกุศลวิตกเหล่านั้นอยู่, อกุศลวิตกอัน เป็นปาบที่ ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้างเหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้.

เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้นเป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

เมื่อภิกษุนั้น ไม่ระลึกถึง ไม่กระทำไว้ในใจ ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้นอยู่ อกุศลวิตก อันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้.

เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่งรูปพรรณสัณฐานแห่งการปรุงแต่งแห่งวิตก ของอกุศลวิตก เหล่านั้นอยู่ อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้เพราะละเสียได้ ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอก ผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

เมื่อภิกษุนั้น ขบฟันด้วยฟัน จรดเพดานด้วยลิ้น ข่มขี่จิตด้วยจิต บีบบังคับจิตด้วยจิต เผาจิตด้วยจิต ให้เป็นอย่างยิ่งอยู่, อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้น ย่อมละไปย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้. เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้มีอำนาจในคลองแห่งชนิดต่างๆ ของวิตก เธอประสงค์จะตรึกถึงวิตกใด ก็ตรึกถึงวิตกนั้นได้ ไม่ประสงค์จะตรึงถึงวิตกใด ก็ไม่ตรึกถึงวิตกนั้นได้ เธอนั้น ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว รื้อถอนสังโยชน์แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วเพราะรู้เฉพาะซึ่งมานะโดยชอบ แล.

 



 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์