ฉบับหลวง (ไทย) เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ ๓๖
อุปมากาม ๗ ข้อ
[๔๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า (1) ดูกรคฤหบดี
เปรียบเหมือนสุนัข อันความเพลีย เพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ ใกล้เขียง ของนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยน ร่างกระดูก ที่เชือดชำแหละออก จนหมดเนื้อ แล้วเปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สุนัขนั้นแทะร่างกระดูก ที่เชือด ชำแหละออก จดหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด จะพึงบำบัดความเพลีย เพราะความหิว ได้บ้างหรือ?
ไม่ได้เลยพระองค์ผู้เจริญ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นร่างกระดูก ที่เชือด ชำแหละออก จนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด และสุนัขนั้น พึงมีแต่ส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อย คับแค้นเท่านั้น.
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้ มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้ว เจริญอุเบกขา ที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับ ความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.
[๔๘] (2) ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อ บินไปแร้งทั้งหลาย นกตะกรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลาย จะพึงโผ เข้ารุมจิก แย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ถ้าแร้ง นกตะกรุม หรือ เหยี่ยวตัวนั้น ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันจะถึงตาย หรือ ทุกข์ปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้น เป็นเหตุ?
อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้ มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ ตามความเป็นจริงด้วยปัญญา อันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขา ที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.
[๔๙] (3) ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟ ติดทั่ว แล้ว เดินทวนลมไป ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบเพลิงหญ้า อันไฟติดทั่วนั้นเสีย คบเพลิงหญ้าอันไฟ ติดทั่วนั้น พึงไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่ แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้น จะถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้นเป็นเหตุ?
อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญา อันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาด ซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขา ที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับ ความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.
[๕๐] (4) ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วย ถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงน้อมกายเข้าไปด้วยคิดเห็นว่า อย่างนี้ๆ บ้างหรือ?
ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้นรู้ว่า เราจักตกลง ยังหลุม ถ่านเพลิงนี้ จักถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะการตกลงยังหลุมถ่านเพลิง เป็นเหตุ.
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้น มาก ในกามนี้มีโทษ อย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญา อันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาด ซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขา ที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับ ความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวงหาส่วนเหลือมิได้.
[๕๑] (5) ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้น ตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้น มาก ในกามนี้ มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญา อันชอบอย่างนี้ แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญ อุเบกขา ที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็น ที่ดับ ความถือมั่น โลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.
[๕๒] (6) ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ คือ แก้วมณี และกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไป ภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้มีโภค สมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อม ใช้สอยโภคสมบัติ อย่างนี้ ดังนี้ พวกเจ้าของ พึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆพึงนำเอาของ ของตน คืนไปในที่นั้นๆ ฉันใดดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จะสมควร หรือหนอ เพื่อความที่บุรุษนั้นจะเป็นอย่างอื่นไป?
ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเจ้าของย่อมจะนำเอา ของของตน คืนไปได้.
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญา อันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาด ซึ่ง อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับ ความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือ มิได้.
[๕๓] (7) ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ ในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้น สักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้ อันมีผลรสอร่อยมีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้น ต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้างเขาขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่ม และห่อพกไว้
ลำดับนั้น บุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ถือขวาน อันคมเที่ยวมาเสาะ แสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้ มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้นเขาพึงคิด อย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้ เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แต่โคนต้น แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแต่โคนต้น ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน บุรุษคนโน้น ซึ่งขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น ถ้าแลเขาไม่รีบลง ต้นไม้นั้นจะพึงล้มลง หักมือ หักเท้า หรือหักอวัยวะน้อยใหญ่แห่งใด แห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะต้นไม้นั้น ล้มเป็นเหตุ?
เป็นอย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้ มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขา ที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.
|