(เนื้อหาพอสังเขป)
ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก
มรรคมีองค์ ๘ (ควรทำให้เจริญ) โลกธรรม ๘ (ควรกำหนดรู้) มิจฉัตตะ ๘ (ควรละ) ปรารภความเพียร ๘ (ควรทำให้แจ้ง)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้าที่ ๒๗๑ ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก 1) มรรคมีองค์ ๘ (ควรทำให้เจริญ) [๔๔๕] ธรรม ๘ อย่างที่ควรให้เจริญเป็นไฉน ได้แก่อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบเลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบตั้งใจชอบ ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ควรให้เจริญ 2) โลกธรรม ๘ (ควรกำหนดรู้) [๔๔๖] ธรรม ๘ อย่างที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน ได้แก่โลกธรรม ๘ คือความได้ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ความได้ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ควรกำหนดรู้ 3) มิจฉัตตะ ๘ (ควรละ) [๔๔๗] ธรรม ๘ อย่างที่ควรละเป็นไฉน ได้แก่ มิจฉัตตะ ๘ คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิด ธรรม๘ อย่างเหล่านี้ควรละ 4) ปรารภความเพียร ๘ (ควรทำให้แจ้ง) [๔๔๘] ธรรม ๘ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน 4.1) ได้แก่เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน ๘ อย่าง คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย การงานเป็นสิ่งอันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พึงกระทำ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า การงานจักเป็นสิ่งที่เราควรกระทำ เมื่อเรากระทำการงานอยู่ ร่างกายจักเหน็ดเหนื่อย ช่างเถิดเราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๑ 4.2) อีกข้อหนึ่ง การงานเป็นสิ่งอันภิกษุกระทำแล้ว เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้กระทำการงานแล้ว ก็เมื่อเรากระทำการงานอยู่ ร่างกายเหน็ดเหนื่อยแล้ว ช่างเถิด เราจะนอนเธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๒ 4.3) อีกข้อหนึ่ง ภิกษุจะต้องเดินทาง เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะต้องเดินทางก็เมื่อเราเดินทางไปอยู่ ร่างกายจักเหน็ดเหนื่อย ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๓ 4.4) อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเดินทางไปถึงแล้ว เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เดินทาง มาถึงแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ ร่างกายเหน็ดเหนื่อยแล้ว ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๔ 4.5 )อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่ได้ความบริบูรณ์ แห่งโภชนะ อันเศร้าหมอง หรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอย่อมมีความคิด อย่างนี้ว่า เราเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะอันเศร้าหมอง หรือประณีตพอ แก่ความต้องการกาย ของเรานั้น เหน็ดเหนื่อยแล้ว ไม่ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรม ที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๕ 4.6) อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะ อันเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการแล้ว เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะ อันเศร้าหมอง หรือประณีตพอแก่ความต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก เหมือนถั่วทองที่เขาหมักไว้ ไม่ควรแก่การงาน ช่างเถิดเราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๖ 4.7) อีกข้อหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อาพาธ เล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว ความสมควรเพื่อจะนอนมีอยู่ ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๗ 4.8) อีกข้อหนึ่ง ภิกษุหายอาพาธแล้ว หายจากความเป็นผู้อาพาธยังไม่นาน เธอย่อม มีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายอาพาธแล้ว หายจากความเป็นผู้อาพาธยังไม่นาน กายของเรานั้นยังมีกำลังน้อย ไม่ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๘