เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 เทวตาสังยุต # 2 รวมเรื่องเทวดาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อถามข้อธรรมต่างๆ 834
 
 

ฉบับหลวง (ไทย) เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค หน้า ๑

เทวตาสังยุต (ประมวลเรื่องเทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า)


เทวดากล่าวถวายพระคาถาฯ

1
สิวเทพบุตร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้(สรรเสริญสัตบุรุษ) ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทสนม กับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว

เป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ

ย่อมได้ปัญญา ไม่คลาดเป็นอย่างอื่น
ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางแห่งความเศร้าโศก

ย่อมรุ่งโรจน์ในท่ามกลางหมู่ญาติ
ย่อมถึงสุคติ
ย่อมยืนยงตลอดไป

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบสิวเทวบุตร ด้วยพระคาถา ว่า
บุคคลควรสมาคม กับพวก สัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้ทั่วถึงสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฯ


2
เขมเทพบุตร
ได้กล่าว คาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า คนพาลผู้มี ปัญญาทราม ย่อมประพฤติกับตนเองดังศัตรู ย่อมทำกรรมลามก อันอำนวยผลเผ็ดร้อน

บุคคลทำกรรมใดแล้ว  ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย

บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีหัวใจแช่มชื่น เบิกบานเสวยผล แห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดี

บุคคลรู้กรรมใดว่า เป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์ เจ้าความคิด ด้วยความคิดอย่างพ่อค้าเกวียน พ่อค้าเกวียน ละหนทางสายใหญ่ ที่เรียบร้อยสม่ำเสมอเสีย แวะไปสู่ทางที่ขรุขระ เพลาก็หักสะบั้นซบเซา ฉันใด

บุคคล ละทิ้งธรรมหันไปประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น เป็นคนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไปสู่ ทางมฤตยูซบเซาอยู่ เหมือนพ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้ว ฉะนั้น ฯ


3
เสรีเทพบุตร
ได้กล่าวคาถา ทูลถวาย พระผู้มี พระภาคว่า เทวดาและมนุษย์ ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหาร ด้วยกันทั้งนั้น เออก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์ โดยแท้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบเสรีเทพบุตร ด้วยพระคาถา ว่าชนเหล่าใด มีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแลย่อม พะนอเขาทั้งในโลกนี้ และ โลกหน้า เพราะเหตุนั้น สมควรเปลื้องความเหนียวแน่น เสีย ครอบงำมลทิน ของใจ เสียพึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ ในโลกหน้า


4
ฆฏิการเทพบุตร ได้ กล่าวคาถานี้ ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหา เป็นผู้หลุดพ้น แล้วสิ้นราคะ โทสะแล้ว ข้ามพ้นเครื่อง ข้องต่างๆ ในโลกเสียได้แล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่าก็ภิกษุเหล่านั้น คือใครบ้างผู้ข้ามพ้นเครื่องข้อง เป็นบ่วงมาร อันแสนยากที่ใครๆจะข้ามพ้นได้ ละกายของมนุษย์แล้วก้าวล่วงเครื่อง ประกอบ อันเป็นทิพย์ ฯ ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า คือ ท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวมเป็น  ๓ ท่านท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพาหุรัคคิ ๑ ท่านลิงคิยะ ๑(รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้นล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงเครื่อง ประกอบ อันเป็นทิพย์ได้แล้ว ฯ


5
ชันตุเทพบุตร เข้าไปหาพวก ภิกษุ เหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงได้กล่าว กะภิกษุ เหล่านั้น ด้วยคาถาทั้งหลายว่า ครั้งก่อน พวกภิกษุผู้เป็นสาวกพระโคดม เป็นอยู่ ง่าย ไม่เป็นผู้มักได้ แสวงหา บิณฑบาต ไม่มักได้ที่นอนที่นั่ง ฯ ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวง ในโลกเป็นของไม่เที่ยง กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนให้เป็นคน เลี้ยงยาก เหมือนชาวบ้าน ที่โกงเขากินกินๆ แล้วก็นอน เที่ยวประจบไปในเรือน ของคนอื่น ฯ ข้าพเจ้าขอทำ อัญชลีต่อท่าน ขอพูดกะท่านบางพวก ในที่นี้ว่าพวกท่าน ถูกเขาทอดทิ้งหมดที่พึ่ง เป็นเหมือนเปรต ฯ ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้หมายเอาบุคคลจำพวก ที่ประมาทอยู่ ส่วนท่านพวกใดไม่ประมาทอยู่ ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน พวกนั้น ฯ


6
นันทเทพบุตร
ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า กาลย่อมล่วงไป ราตรี ย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละ ลำดับไป ฯ บุคคลมาพิจารณาเห็นภัยในมรณะนี้ ควรทำบุญอันนำความสุขมาให้ ฯ

พ. กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป  บุคคลมาพิจารณา เห็นภัยในมรณะนี้ มุ่งต่อสันติ ควรละโลกามิสเสีย ฯ


7
นันทิวิสาลเทพบุตร
ได้กล่าวคาถา ทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ สรีรยนต์ มีจักร ๑- ๔ มีทวาร ๒- ๙เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ประกอบด้วยความโลภ ย่อมเป็นประดุจ เปือกตม ไฉนจักมีความออกไปจากทุกข์ได้ ฯ

พ. บุคคลตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องรัดด้วย  ความปรารถนา และ ความโลภ อันชั่วช้าด้วย ถอนตัณหาพร้อมทั้งอวิชชาอันเป็นมูล รากเสียได้ อย่างนี้ จึงจัก ออกไปจากทุกข์ได้


(สุสิมสูตรที่ ๙)

พระผู้มีพระภาค กับพระอานนท์ กล่าวสรรเสริญคุณของพระสารีบุตร

สาวัตถีนิทาน ฯ ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งฯ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบ สารีบุตร หรือไม่ ฯ

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูดอดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิ คนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คน มีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน ฯ

พ. อย่างนั้นๆ อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญามีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญา แทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทน ต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร ฯ

ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร แวดล้อมไปด้วยเทพบุตร บริษัทเป็นอันมาก ขณะที่ พระผู้มีพระภาคและพระอานนท์เถระ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่าน พระสารีบุตรอยู่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อยืนเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบบังคมทูล พระผู้มีพระภาคว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจริง อย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่า ที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน พระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต ฯลฯเป็นผู้ตำหนิคนชั่วข้า

แต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์(สุสิมเทพบุตร) ได้เข้าร่วมประชุมเทพบุตร บริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน ฯ

ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของ สุสิมเทพบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติกำลัง กล่าวสรรเสริญ คุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าวสรรเสริญ คุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราวปรากฏอยู่ ฯ

แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงามโชติช่วง แปดเหลี่ยม อันบุคคล ขัดสีเรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ้งร่วง ฉันใด เทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญ คุณท่าน พระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราว ปรากฏอยู่ ฯ

แท่งทองชมพูนุท เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้า หลอมไล่จนสิ้นราคี เสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่งปลั่ง ฉันใด เทพบุตร บริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่าน พระสารีบุตร อยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราว ปรากฏอยู่ ฯ

ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆ ในฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของ สุสิมเทพบุตร ขณะที่ สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราว ปรากฏอยู่ ฯ

พระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดู  สรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสง แจ่มจ้าไพโรจน์ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่าน พระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราว ปรากฏอยู่ ฯ


8
ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร
ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่าน พระสารีบุตรว่า ท่านพระสารีบุตรคนรู้จักท่านดีว่า เป็นบัณฑิตไม่ใช่ คนมักโกรธ  มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดี อันพระศาสดาทรง สรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถาตอบสุสิมเทพบุตรปรารภ ถึงท่าน พระสารีบุตรว่า สารีบุตรใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาล เป็นที่ปรินิพพาน ฯ


9
เทวดาตนหนึ่
ง ครั้นลอยอยู่ในอากาศแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ใน สำนักพระผู้มี พระภาคว่าบุคคลใดประกาศตนอันมีอยู่โดยอาการอย่างอื่นให้เขารู้โดย อาการอย่างอื่น บุคคลนั้นลวงปัจจัยเขากินด้วยความเป็นขโมย เหมือนความลวงกิน แห่งพรานนก ก็บุคคลทำกรรมใดควรพูดถึง กรรม นั้น ไม่ทำกรรมใด ก็ไม่ควรพูด ถึงกรรมนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลนั้น ผู้ไม่ทำ มัวแต่พูดอยู่ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาทั้งหลายนี้ว่า ใครๆ ไม่อาจดำเนิน ปฏิปทานี้ด้วยเหตุ สักว่าพูด หรือฟังส่วนเดียว บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้มีฌาน ย่อมพ้นจากเครื่องผูก ของมารด้วยปฏิปทาอันมั่นคงนี้ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ทราบความเป็นไปของโลก แล้วรู้แล้ว เป็นผู้ดับ กิเลส ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง ในโลกแล้วย่อม ไม่พูด โดยแท้ ฯ

ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นลงมายืนบนแผ่นดิน หมอบลง ใกล้พระบาท ทั้งสอง ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลคำนี้ กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้เจริญ โทษของพวกข้าพเจ้าล่วงไปแล้ว พวกข้าพเจ้าเหล่าใด เป็นพาลอย่างไร เป็นผู้หลงแล้ว อย่างไรเป็นผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ได้สำคัญแล้วว่า พระผู้มีพระภาค อันพวกเราพึงรุกราน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดอดโทษ ของพวกข้าพเจ้านั้น เพื่อจะสำรวมในกาลต่อไป ฯ

ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงยิ้มแย้ม ฯ

.................................................................................................

10
ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นผู้เพ่งโทษโดยประมาณยิ่งกลับ ขึ้นไปบนอากาศ เทวดาตนหนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
เมื่อเราแสดงโทษอยู่ ถ้าบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษ ให้บุคคลนั้น ย่อมสอดสวมเวร หากว่าในโลกนี้โทษก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มี เวรทั้งหลาย ก็ไม่สงบ ในโลกนี้ใครพึงเป็นคนฉลาด เพราะเหตุไร โทษทั้งหลายของใครก็ไม่มี ความผิด ของใครก็ไม่มี ใครไม่ถึงแล้วซึ่งความหลงใหล ในโลกนี้ ใครย่อมเป็นผู้มี ปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าโทษทั้งหลายก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มี แก่พระตถาคตนั้น ผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้เอ็นดูแก่สัตว์ทั้งปวง พระตถาคตนั้น ไม่ถึงแล้ว ซึ่งความหลงใหล พระตถาคตนั้น ย่อมเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง เมื่อพวกท่านแสดงโทษ อยู่ หากบุคคลใด มีความ โกรธอยู่ในภายใน มีความเคือง หนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร เราไม่ชอบเวร นั้น เราย่อมอดโทษ แก่ท่านทั้งหลาย ฯ


11
เทวดาตนหนึ่ง
ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนัก พระผู้มีพระภาค ว่าศรัทธาเป็นเพื่อน สองของคน หากว่า ความเป็นผู้ ไม่มี ศรัทธา ไม่ตั้งอยู่ แต่นั้นบริวารยศและเกียรติยศ ย่อมมีแก่เขานั้นอนึ่ง เขานั้นละทิ้ง สรีระแล้ว ก็ไปสู่สวรรค์ บุคคลพึง ละความโกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวง เสียกิเลสเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง ย่อมไม่ เกาะเกี่ยวบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้อง ในนามรูป ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ฯ

(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พวกชนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมตาม ประกอบความ ประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความ ไม่ประมาท เหมือนบุคคล รักษาทรัพย์ อันประเสริฐบุคคล อย่าตามประกอบความประมาท และอย่าตามประกอบ ความสนิทสนม ด้วยอำนาจความยินดี ทางกาม เพราะว่าบุคคลไม่ประมาท แล้วเพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุบรมสุข ฯ


ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็น พระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้วประชุมกันมาก เพื่อจะเห็น
พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์ ฯ

ในครั้งนั้นแล เทวดา ๔ องค์ที่เกิดในหมู่พรหมชั้นสุทธาวาส  ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แล ประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุง กบิลพัสดุ์แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็น พระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่ โลกธาตุสิบประชุม กันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มี พระภาค และพระภิกษุสงฆ์ ไฉนหนอ แม้เราทั้งหลายควรเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไป เฝ้าแล้ว พึงกล่าวคาถา คนละคาถา ในสำนักพระผู้มีพระภาค ฯ

ในครั้งนั้นแล พวกเทวดาทั้ง ๔ นั้นจึงหายจากหมู่พรหมชั้น สุทธาวาส มาปรากฏอยู่ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขน ที่เหยียดเข้า ฉะนั้น ฯ

12
เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าว คาถานี้ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคว่า การประชุมใหญ่ ในป่าใหญ่ มีพวกเทวดามา ประชุมกันแล้ว  พวกข้าพเจ้ามาสู่ที่ชุมนุมอันเป็นธรรมนี้ เพื่อจะเยี่ยมหมู่พระผู้ที่ใครๆ ให้แพ้ไม่ได้ ฯ

13
ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาค ว่า ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้นตั้งจิตมั่นแล้ว ได้ทำจิตของตน ให้ตรงแล้ว ภิกษุทั้งปวง นั้นเป็น บัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ดุจดังว่านายสารถี ถือบังเหียน ฉะนั้น ฯ

14
ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก  พระผู้มี พระภาคว่า ภิกษุทั้งหลายนั้น ตัดกิเลสดังตะปูเสียแล้ว ตัดกิเลสดังว่าลิ่มสลัก เสียแล้ว ถอนกิเลส ดังว่าเสาเขื่อนเสียแล้ว มิได้มีความหวั่นไหว เป็นผู้หมดจด ปราศจากมลทิน อันพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว เป็นหมู่นาคหนุ่มประพฤติอยู่ ฯ

ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาค ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้น จักไม่ไปสู่ อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้วจักยังหมู่เทวดา ให้บริบูรณ์ ฯ



เทวดาเปล่งอุทาน


ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ มิคทายวัน ในสวนมัททกุจฉิ เขตพระนครราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาค ถูกสะเก็ด หินกระทบแล้ว ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคมาก เป็นความลำบาก มีในพระสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อนไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติ สัมปชัญญะ อดกลั้นเวทนา ทั้งหลาย ไม่ทรงเดือดร้อน ในครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่ง ให้ปูผ้า สังฆาฏิสี่ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยาส โดย พระปรัสเบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมด้วย พระบาท ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอยู่ ฯ

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา เจ็ดร้อย มีวรรณงาม ยังสวนมัททกุจฉิทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ

15
เทวดาตนหนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่ง อุทานนี้

ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นนาคหนอก็แหละ
พระสมณโคดม ทรงมีพระสติ สัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นซึ่งเวทนา ทั้งหลายอันมีใน พระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นนาค มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ

16
ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นสีหะหนอก็แหละ พระสมณโคดม
ทรงมีพระสติ สัมปชัญญะ อดกลั้น ซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระ สมณโคดมเป็นสีหะ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ

17
ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นอาชาไนยหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น เวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณ โคดม เป็นอาชาไนย มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ

18
ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้องอาจหนอ ก็แหละพระสมณโคดม  ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ซึ่งเวทนาทั้งหลาย อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่ 
พระสมณ โคดมเป็นผู้องอาจ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ

19
ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้ใฝ่ธุระหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมี พระสติสัมปชัญญะอดกลั้น เวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความ ลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณ โคดมเป็น ผู้ใฝ่ธุระ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ


20
ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้
ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้ฝึกแล้วหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมี พระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความ ลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดม เป็นผู้ฝึกแล้ว มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ

21
ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้
ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า ท่านทั้งหลาย จงดูสมาธิที่พระสมณโคดมให้เจริญดีแล้ว อนึ่งจิตพระสมณ โคดมให้พ้นดีแล้วอนึ่ง จิตเป็นไปตามราคะ พระสมณโคดมไม่ให้น้อมไปเฉพาะแล้ว อนึ่ง จิตเป็นไปตามโทสะ พระสมณ โคดม ไม่ให้กลับมาแล้ว อนึ่ง จิตพระสมณโคดม หาต้องตั้งใจข่ม ต้องคอยห้ามกันไม่บุคคลใด พึงสำคัญ พระสมณโคดม ผู้เป็น บุรุษนาค เป็นบุรุษสีหะ เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษองอาจเป็น บุรุษใฝ่ธุระ เป็นบุรุษ ฝึกแล้วเห็นปานนี้ว่าเป็นผู้อันตนพึงล่วงเกิน บุคคลนั้นจะเป็นอะไรนอกจาก ไม่มีตา ฯ

22
เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้กล่าว
คาถาทั้งหลายนี้ว่า พราหมณ์ ทั้งหลายมีเวทห้า มีตบะ ประพฤติอยู่ตั้งร้อยปี แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้น ไม่พ้นแล้ว โดยชอบ พราหมณ์เหล่านั้น มีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง ฯพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้อัน ตัณหาครอบงำแล้ว เกี่ยวข้องด้วยพรต และศีล ประพฤติตบะอันเศร้าหมองอยู่ตั้งร้อยปี แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ

พราหมณ์เหล่านั้นมีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง ฯ ความฝึกฝนย่อมไม่มีแก่ บุคคลที่ใคร่มานะ ความรู้ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น บุคคลผู้เดียวเมื่ออยู่ในป่า ประมาทอยู่แล้ว ไม่พึงข้ามพ้น ฝั่ง แห่งแดนมัจจุได้ ฯบุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่น ดีแล้ว มีจิตดี พ้นในธรรมทั้งปวง แล้วผู้เดียว อยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว บุคคลนั้นพึง ข้ามพ้นฝั่ง แห่งแดนมัจจุได้ ฯ


23
ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่าหม่อมฉัน ชื่อว่า โกกนทา เป็นธิดาของท้าวปัชชุนนะ ย่อมไหว้เฉพาะพระสัมพุทธเจ้า ผู้เลิศกว่า สัตว์ ผู้เสด็จอยู่ในป่าเขตพระนครเวสาลี สุนทรพจน์ว่า ธรรมอัน พระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาจักษุ ตามตรัสรู้แล้วดังนี้ หม่อมฉันได้ยินแล้ว ในกาลก่อนแท้จริง หม่อมฉันนั้น เมื่อพระสุคตผู้เป็นมุนีทรงแสดงอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ ในกาลนี้ ชนเหล่าใด เหล่าหนึ่งมีปัญญาทราม ติเตียนธรรมอันประเสริฐเที่ยวไปอยู่  ชนเหล่านั้น ย่อมเข้าถึง โรรุวนรก อันร้ายกาจ ประสบทุกข์ตลอดกาลนาน ส่วนชน ทั้งหลายเหล่าใดแล ประกอบด้วยความอดทน และความสงบ ในธรรมอันประเสริฐ ชนทั้งหลายเหล่านั้น ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้ว จักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์ ฯ


ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอานาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีวรรณงาม ยังพระวิหาร เชตวัน ทั้งสิ้นให้สว่าง  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึง อภิวาท พระผู้มีพระภาค แล้วยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

24
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถา 
เหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่าเมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอา ภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด ฯโลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก(ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่า นำออกดีแล้ว ฯ ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อมไม่เป็น เหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้เพลิง ยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้ ฯ

อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัย ด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน ฯ เมื่อได้ให้ทาน และใช้สอยตาม ควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึง สถานที่อันเป็นสวรรค์ ฯ


25
ปัญจาลจัณฑเทวบุตร ได้ภาษิตคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า

1) บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาส ในที่คับแคบหนอ ผู้ใดได้รู้ ฌานเป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจเป็นมุนีฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับแคบ แต่ได้เฉพาะแล้วซึ่งสติ 
เพื่อการบรรลุธรรม คือพระนิพพาน ชนเหล่านั้น ตั้งมั่นดีแล้ว โดยชอบ ฯ


26
(ภาษิตคาถา)

ตายนเทวบุตร ได้ภาษิตคาถา เหล่านี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์
มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ

ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้น ให้มั่น เพราะว่าการบรรพชา ที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ความชั่วไม่ทำ เสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลังฯ

ก็กรรมใด ทำแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคา อันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติ ไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อเกิดในนรกฉันนั้น ฯ

กรรม อันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่า รังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้นไม่มีผลมาก

ตายนเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง

ครั้งนั้น โดยล่วงราตรีนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทวบุตรนามว่า ตายนะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ มาแต่ก่อน เมื่อ ราตรีปฐมยามสิ้นไป มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้ามา หาเราถึงที่อยู่

ครั้นแล้ว ก็อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิต คาถาเหล่านี้ใน สำนัก ของเราว่า

(จากนั้น พระผู้มีพระภาคกล่าวทวนภาษิตของเทวดาทุกคำกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงศึกษา จงเล่าเรียน จงทรงจำตายนคาถาไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบ ด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์


27
(กล่าวคาถา)

จันทิมสเทวบุตร ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติชนเหล่านั้น จักถึง ความสวัสดี ประดุจเนื้อในชวากเขา ไร้ริ้นยุง ฉะนั้น ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้ ชนเหล่านั้น จักถึงฝั่งประดุจปลา ทำลายข่ายได้แล้ว ฉะนั้น ฯ


28
(กล่าวคาถา)

เวณฑุเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า ชนเหล่าใด นั่งใกล้พระสุคต ประกอบตน ในศาสนาของพระโคดม ไม่ประมาทแล้ว ศึกษาตามอยู่ ชนเหล่านั้นถึงความสุข แล้วหนอ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าชนเหล่าใด เป็นผู้เพ่งพินิจ ศึกษาตามในข้อสั่งสอน อันเรา กล่าวไว้แล้ว ชนเหล่านั้น ไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุ ฯ


29
(กล่าวคาถา)

ทีฆลัฏฐิเทวบุตร ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติ เพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้นแล้ว พึงหวังความไม่เกิดขึ้น แห่งหทัย รู้ความเกิดขึ้น และ ความเสื่อมไปแห่งโลกแล้ว มีใจดี อันตัณหาและทิฐิไม่อิงอาศัยแล้ว มีคุณข้อนั้นเป็น อานิสงส์ ฯ


30
(กล่าวคาถา)

นันทนเทวบุตร
ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย คาถาว่า 1) ข้าแต่พระโคดม ผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ถึงญาณทัสสนะ อันไม่เวียนกลับแห่งพระผู้มีพระภาค  บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคล ชนิดไรว่า เป็นผู้มีศีล เรียกบุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีปัญญาบุคคลชนิดไรล่วงทุกข์อยู่ได้ เทวดาทั้งหลาย บูชาบุคคลชนิดไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าบุคคลใด มีศีล มีปัญญา มีตนอบรมแล้ว มีจิตตั้งมั่นยินดีใน ฌานมีสติ เขาปราศจากความโศกทั้งหมด ละได้ขาดมีอาสวะสิ้นแล้ว ทรงไว้ซึ่ง ร่างกายมีในที่สุด บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลชนิดนั้นว่า เป็นผู้มีศีล เรียกบุคคลชนิด นั้นว่าเป็นผู้มีปัญญาบุคคลชนิดนั้นล่วงทุกข์อยู่ได้ เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลชนิดนั้น


31
(กล่าวคาถา)

จันทนเทวบุตร ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย คาถาว่า บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้ง กลางคืนและกลางวัน จะข้ามโอฆะได้อย่างไร สิใคร จะไม่จม ในห้วงน้ำลึก อันไม่มีที่พึ่งพิงไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ในกาลทุกเมื่อ มีปัญญา มีใจตั้งมั่น ดีแล้ว ปรารภความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก เข้าเว้นขาดแล้ว จากกามสัญญา ล่วงรูปสัญโญชน์ได้ มีภพเป็นที่เพลิดเพลินสิ้นไปแล้ว ย่อมไม่จมใน ห้วงน้ำลึก ฯ


32
(กล่าวคาถา)

วาสุทัตตเทวบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุพึงมีสติเพื่อละ กาม ราคะ งดเว้นเสีย ประดุจบุคคลถูกแทงด้วย หอกประดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าภิกษุพึงมีสติเพื่อการละสักกายทิฏฐิ งดเว้นเสีย ประดุจบุคคล ถูกแทงด้วยหอก ประดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ ฯ


33
(กล่าวคาถา)
สุพรหมเทวบุตร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคด้วย คาถาว่า จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียว อยู่เป็นนิตย์ ถ้าเมื่อกิจทั้งหลาย ยังไม่เกิด ขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถาม แล้ว ขอจงตรัสบอกข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่านอกจากปัญญาและความเพียร นอกจาก ความสำรวมอินทรีย์  นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย


34
(กล่าวคาถา)

อุตตรเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้าง  หนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน บุคคลเห็นภัยในมรณะนี้แล้ว พึงทำบุญ อันจะนำความสุขมาให้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูก ชราต้อนเข้าไป แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน ผู้เห็นภัยในความตายนี้ พึงละ โลกามิสเสีย (ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ) มุ่งต่อสันติ ฯ (ความสงบ-นิพพาน)


35
(กล่าวคาถา)

อนาถบิณฑิกเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณ พำนัก อยู่ พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ ฯ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม  วิชชา ธรรมศีล และชีวิตอันอุดม หาใช่บริสุทธิ์ ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ ของตนพึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ ในธรรมนั้น พระสารีบุตร รูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรม เครื่องสงบระงับ ภิกษุใด เป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม ฯ

อนาถบิณฑิกเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อล่วงราตรีนั้นแล้ว จึงตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทวบุตรองค์หนึ่ง เมื่อราตรี ปฐมยาม สิ้นไปแล้ว มีวรรณ งามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้ามาหาเรา... (พระองค์กล่าวทวนคาถา ของเทวดาตั้งแต่ต้นจนจบ)

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิก เทวบุตรแน่ อนาถบิณฑิก คฤหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถูกละๆ ดูกรอานนท์ ข้อที่จะพึงถึงด้วยการ นึกคิด มีประมาณเพียงใดนั้นเธอถึงแล้ว ดูกรอานนท์ ก็เทวบุตรนั้น คืออนาถบิณฑิกเทวบุตร





 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์