พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖
ธรรมกถิกสูตร
(ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง)
[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า ธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าธรรมกถึก
[๔๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชรา และ มรณะ ควรจะกล่าวว่าภิกษุธรรมกถึก
ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชรา และมรณะ ควรจะกล่าวว่าภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะ ความดับ เพราะไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน
ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชาติ ...ภพ ... อุปาทาน ...ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ...วิญญาณ ... สังขาร ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ อวิชชา ควรจะกล่าวว่าภิกษุธรรมกถึก
ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ อวิชชา ควรจะกล่าวว่าภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน
…………………………........................................................................................……………..
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๑
(ตรัสกับสารีบุตร)
[๒๖๗] โก. น่าอัศจรรย์ ท่านสารีบุตร ไม่เคยมีมา ท่านสารีบุตรเท่าที่ท่าน สารีบุตร
กล่าวนี้ เป็นอันกล่าวดีแล้ว ก็แลเราทั้งหลายพลอยยินดีสุภาษิตนี้ของท่าน สารีบุตรด้วยเรื่อง ๓๖ เรื่องเหล่านี้
ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ ควรจกล่าวว่าภิกษุธรรมกถึก
ถ้าภิกษุปฏิบัติ เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่าภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ้าภิกษุหลุดพ้น เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะ ไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่าภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน
ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชาติ ฯลฯ ภพ ... อุปาทาน... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ...สังขารทั้งหลาย ... อวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก
ถ้าภิกษุปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับอวิชชา ควรจะกล่าว ว่าภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ้าภิกษุหลุดพ้นเพราะความหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน
…………………………........................................................................................……………..
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๗
ธัมมกถิกสูตรที่ ๑
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าพระธรรมกถึก
[๓๐๒] พระนครสาวัตถี. ภิกษุรูปนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า พระธรรมกถึก พระธรรมกถึก ดังนี้ ภิกษุชื่อว่า เป็นธรรมกถึก ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไร? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกรภิกษุ หากว่าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลาย กำหนัด เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่าภิกษุ ธรรมกถึก
หากว่า ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
หากว่า ภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ได้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน
…………………………........................................................................................……………..
ธัมมกถิกสูตรที่ ๒
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าพระธรรมกถึก
[๓๐๓] พระนครสาวัตถี. ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าพระธรรมกถึก พระธรรมกถึก ดังนี้
ภิกษุชื่อว่าเป็นธรรมกถึกด้วยเหตุเพียงเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกรภิกษุ หากว่า ภิกษุแสดงธรรม เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่าภิกษุผู้ธรรมกถึก
หากว่า ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่าภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม
หากว่าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่าภิกษุผู้ได้บรรลุ นิพพาน ในปัจจุบัน |