กึสุกสูตร (กายนคร) เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มีกำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู นายประตูเมืองนั้น เป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญาคอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก(อกุศล) อนุญาตให้คนที่ตนรู้จัก(กุศล) เข้าไปในเมืองนั้น อุปมามีดังนี้ คำว่าเมือง... เป็นชื่อของกายนี้ ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ คำว่าประตู ๖ ประตู.... เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖ คำว่านายประตู... เป็นชื่อของ สติ คำว่าเจ้าเมือง.. คือวิญญาณ
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค หน้าที่ ๒๐๘ กึสุกสูตร (กายนคร) [๓๔๒] ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างว่า เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มีกำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู นายประตูเมืองนั้นเป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญาคอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จัก เข้าไปในเมืองนั้น ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศบูรพา พึงถามนายประตูนั้นว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทาง สามแพร่งกลางเมือง ทีนั้นแล ราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำ ตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไป ตามทางที่มาแล้ว ราชทูตคู่หนึ่ง มีราชการด่วนมาแต่ทิศปัจจิม... ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมา แต่ทิศอุดร... ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมา แต่ทิศทักษิณ แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูนั้นพึงตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมืองทีนั้นแล ราชทูตคู่หนึ่งนั้น มอบถ้อยคำ ตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปทางตามที่มาแล้ว ดูกรภิกษุ อุปมานี้แล เรากระทำแล้วเพื่อจะให้เนื้อความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานั้น มีเนื้อความดังต่อไปนี้ คำว่าเมือง เป็นชื่อของกายนี้ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดา และบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้น ด้วยข้าวสุกและขนมสด มีอันต้องอบ ต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอันทำลาย และกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา คำว่าประตู ๖ ประตู เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖ คำว่านายประตู เป็นชื่อของ สติ คำว่าราชทูตคู่หนึ่ง มีราชการด่วน เป็นชื่อของ สมถะ และ วิปัสนา คำว่าเจ้าเมือง เป็นชื่อของ วิญญาณ คำว่าทางสามแพร่งกลางเมือง เป็นชื่อของ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ คำว่าถ้อยคำตามความเป็นจริง เป็นชื่อของ นิพพาน คำว่าทางตามที่มาแล้ว เป็นชื่อของ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ฯ จบสูตรที่ ๘