ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๒๕๘
1. อาหุเนยยสูตร
[๒๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาค แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลีเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉนคือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่
2. ฟังเสียงด้วยหู ...
3. สูดกลิ่นด้วยจมูก ...
4. ลิ้มรสด้วยลิ้น ...
5. ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
6. รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลีเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นดีใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฯ
2. อาหุเนยยสูตร
[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของต้อนรับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายประการคือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือน ไปใน ที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือน เดินบนแผ่นดินก็ได้เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมี ฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้
2. ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสต ของมนุษย์
3. เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจคือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะจิตมีโทสะก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะจิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น
4. เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ
ด้วยประการฉะนี้เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอัน บริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์
5. เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อม รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้
6. เธอย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต หน้าที่ ๒๒๘
3.อาหุเนยยสูตร
[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการเป็นผู้ควร ของคำนับเป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑
เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ๑
เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ๑
เป็นสัมมาทิฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบ ๑
มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่
เป็นสุขในปัจจุบัน ๑
ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกชาติ ก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ๑
ย่อมเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ๑
กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
4. อาหุเนยยสูตร
[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการเป็นผู้ ควร ของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๘ ประการ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑
เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ๑
เป็นผู้ปรารภความเพียร มีกำลังมีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ทั้งหลาย ๑
เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ในเสนาสนะ อันสงัด
๑
เป็นผู้อดกลั้นความไม่ยินดี และความยินดี ระงับความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้ว ๑
เป็นผู้อดกลั้นความกลัวต่อภัยเสียได้ ระงับความกลัวต่อภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ๑
มีปรกติได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งเป็น เครื่อง อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑
กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลาย สิ้นไป ฯลฯ เข้าถึงอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต หน้าที่ ๒๙๘
5. อาหุเนยยสูตร
[๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๙ จำพวกเป็นไฉน คือ
พระอรหันต์ ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ๑
พระอนาคามี ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑
พระสกทาคามี ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๑
พระโสดาบัน ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑
โคตรภูบุคคล ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๒๓
6. อาหุเนยยสูตร
[๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๑๐ จำพวกเป็นไฉน
คือ
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑
ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต ๑
ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต ๑
ท่านผู้เป็นกายสักขี ๑
ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ๑
ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต ๑
ผู้เป็นธัมมานุสารี ๑
ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี ๑
ท่านผู้เป็นโคตรภู ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๑๖๙
7. อาหุเนยยสูตร
[๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับเป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า
ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกข์สังวร ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑
2. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสม สุตะเป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑
3. เป็นผู้มีคนดีเป็นมิตร มีคนดีเป็นสหาย มีคนดีเป็นเพื่อน ๑
4. เป็นสัมมาทิฐิ ประกอบด้วยความเห็นอันชอบ ๑
5. ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้หลายคน เป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฎก็ได้ทำให้หายไปก็ได้ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือน ไปใน อากาศก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินไปบนน้ำไม่แยก เหมือน เดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ และ พระอาทิตย์ ซึ่งมี ฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด พรหมโลกก็ได้ ๑
6. ย่อมได้ยินเสียงสองอย่าง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ๑
7. ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น ๑
8. ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างสี่ชาติบ้างห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติ จากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ๑
9. ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาจึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ๑
10. ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
|