เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ทาน การให้ จาคะ รวมเรื่องทาน 808
 
 
1. พระพุทธเจ้าทรงเล่าสมัยเป็นพราหมณ์เวลามะ (ให้กับโสดาบัน สู้ให้กับสกทาคามี ไม่ได้)
2. ผลของทานในบุคคลต่างๆ (สกทาคามี 1 เท่าโสดาบัน100 อนาคามี 1 = สกทาคามี 100...)
3. อานิสงส์ การให้ทาน (ให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน ผู้ทุศีล ผู้มีศีล ผู้ปราศจากกาม ให้กับโสดาบัน)

4. ทานของคนดี (นัยที่ ๑) ของสะอาด ของประณีต ตามกาล ให้ของสมควร เมื่อให้ จิตผ่องใส
5. ทานของคนดี (นัยที่ ๒) ให้ด้วยศรัทธา โดยเคารพ โดยกาล จิตอนุเคราะห์ ไม่กระทบตน-ผู้อื่น
6. ทานของคนไม่ดี หรือทานของคนดี ไม่เคารพ ไม่อ่อนน้อม ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของเดน
7. ทาน (การให้) เป็นอย่างไร หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลก สวรรค์
8. การให้ทานเป็นเหตุให้เกิดทรัพย์ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไมคับแค้นใจ ถูกว่าแม้มากก็ไม่ขัดเคือง

9. ควรให้ทานในที่ใด จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้น ให้กับผู้มีศีล มีผลมากกว่าผู้ทุศีล

10. ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นอมิตร
11. อานิสงส์แห่งการให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชน สัปบุรุษย่อมคบหา เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

12. การให้ทานอันเป็นอริยะ (นัยที่ ๑) ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปราศจากมลทิน
13. การให้ทานอันเป็นอริยะ (นัยที่ ๒) ให้ทานโดยไม่หวังผล ไม่ผูกพันในผล ไม่มุ่งการสั่งสมบุญ
14. การให้ทานอันเป็นอริยะ (นัยที่ ๓) ความสลัดคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง
15. สิ่งที่ประเสริฐกว่าทาน เข้าถึงบทแห่งธรรม (นิพพาน) ประเสริฐกว่าการให้ทานทั้งหลาย
16. ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน การให้ธรรมทาน การแจกจ่ายธรรม การอนุเคราะห์ด้วยธรรม
17. ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน

18. องค์ประกอบของทาน ที่ให้แล้วมีผลมาก (นัยที่ ๑) ก่อนให้เป็นผู้ดีใจ กำลังให้อยู่จิตเลื่อมใส
19. องค์ประกอบของทาน ที่ให้แล้วมีผลมาก (นัยที่ ๒) ต้องบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้และผู้รับ
20. ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของทีพ่อใจ ให้ของที่เลิศย่อมได้ของที่เลิศ ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี
21. องค์ ๓ ของผู้รับเป็นอย่างไร ปราศจากราคะโทสะโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะโทสะโมหะ

22. เจริญเมตตาจิตมีผลมากกว่าให้ทาน ให้ทาน ๑๐๐ หม้อใหญ่ ไม่เท่าเจริญเมตตา ชั่วหยดน้ำนม
23. การรับที่ไม่เป็นธรรม หรือการรับที่เป็นธรรม การรับที่เป็นธรรม เขาให้ด้วยกาย รับด้วยกาย...
24. การวางจิตเมื่อให้ทาน ไม่มีความหวังผล ไม่มีมีจิตผูกพันในผล ไม่คิดว่าให้ทานเป็นการดี
25. จาคะ (การบริจาค) เป็นอย่างไร มีใจปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีการบริจาคเป็นประจำ


 
 


1. การให้ทาน

พระพุทธเจ้าทรงเล่าสมัยเป็นพราหมณ์ชื่อ เวลามะ

(เวลามะสูตร)

พระองค์แจกถาดเงินถาดทองให้คนเป็นร้อยเป็นพัน
ก็สู้ให้กับโสดาบันองค์เดียวไม่ได้

ให้ทานกับโสดาบัน 100 องค์ ก็สู้ให้กับ สกทาคามี (1องค์) ไม่ได้
ให้ทานกับสกทาคามี 100 องค์ ก็สู้ให้กับ อานาคามี (1องค์) ไม่ได้
ให้ทานกับ อานาคามี 100 องค์ ก็สู้ให้กับ พระอรหันต์ (1องค์) ไม่ได้
ให้ทานกับ พระอรหันต์ 100 องค์ ก็สู้ สร้างกุฏิวิหารครั้งเดียวไม่ได้
สร้างกุฏิวิหาร 100 ครั้ง ก็สู้รักษาศีลครั้งเดียวไม่ได้
รักษาศีล 100 ครั้ง ก็สู้ทำสมาธิครั้งเดียวไม่ได้



2. ผลของทานในบุคคลต่าง ๆ (แบบย่อ)
(เวลามะสูตร)

1 ให้ทาน พระโสดาบัน มีผลมากกว่าทานที่ให้กับ เวลามพราหมณ์
2 ให้ทาน พระสกทาคามี 1 รูป มีผลมากกว่า ทานที่ถวายพระโสดาบัน 100 รูป
3 ให้ทาน พระอนาคามี 1 รูปมีผลมากกว่า ถวายให้พระสกทาคามี 100 รูป
4 ให้ทาน พระอรหันต์ 1 รูปมีผลมากกว่า ถวายให้พระอนาคามี 100 รูป
5 ให้ทาน พระปัจเจกพุทธเจ้า1 รูป มีผลมากกว่า ถวายให้พระอรหันต์ 100 รูป
6 ให้ทาน พระพุทธเจ้า 1 รูป มีผลมากกว่า ถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 รูป
7.ให้ทาน แด่ภิกษุที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มีผลมากกว่า ทานที่ถวายให้ พระพุทธเจ้า
8.สร้างกุฏิวิหาร มีผลมากกว่าทานที่ถวายให้ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
9.มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ มีผลมากกว่าทานที่ สร้างวิหาร ถวายสงฆ์
10.ผู้ที่รักษาศีล5 มีผลมากกว่าบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส ในพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์
11.บุคคลเจริญเมตตา เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่า บุคคลผู้รักษาศีล5
12.บุคคลทำสมาธิด้วยอานา-เพียงลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการเจริญเมตตาจิต


3. อานิสงส์ การให้ทาน   
(ปาฏิปุคคลิกมี ๑๔)

ให้ทาน ในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลได้ ร้อยเท่า
ให้ทาน ในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังได้ พันเท่า
ให้ทาน ในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลได้ แสนเท่า
ให้ทาน ในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากกาม หวังผลได้ แสนโกฏิเท่า
ให้ทาน ในผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง หวังผล นับประมาณไม่ได้
จะป่วยกล่าวไปไย ที่ให้ทานแก่อริยะบุคคล


4. ทานของคนดี (นัยที่ ๑)
ภิกษุทั้งหลาย ! สัปปุริสทาน ๘ ประการ นี้มีอยู่

๘ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ให้ของสะอาด
(๒) ให้ของประณีต
(๓) ให้ตามกาล
(๔) ให้ของสมควร
(๕) เลือกให้
(๖) ให้เนืองนิตย์
(๗) เมื่อให้ จิตผ่องใส
(๘) ให้แล้วดีใจ
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สัปปุริสทาน ๘ ประการ


5. ทานของคนดี (นัยที่ ๒)
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๙๒/๑๔๘./ -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๔๐/๑๒๒.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ย่อมให้ทานด้วยศรัทธา
(2) ย่อมให้ทานโดยเคารพ
(3) ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร
(4) เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน
(5) ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและไม่กระทบผู้อื่น


6. ทานของคนไม่ดี หรือทานของคนดี
(ทานของอสัปบุรุษ และสัปบุรุษ)
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๙๒/๑๔๗.

ภิกษุทั้งหลาย ! อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ให้โดยไม่เคารพ
(2) ให้โดยไม่อ่อนน้อม
(3) ไม่ให้ด้วยมือตนเอง
(4) ให้ของที่เป็นเดน
(5) ให้โดยไม่คำนึงผลที่จะมาถึง (อนาคมนทิฏฐิ)

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล อสัปปุริสทาน ๕ ประการ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ให้โดยเคารพ
(2) ให้โดยอ่อนน้อม
(3) ให้ด้วยมือตนเอง
(4) ให้ของไม่เป็นเดน
(5) ให้โดยคำนึงผลที่จะมาถึง (อาคมนทิฏฐิ)
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สัปปุริสทาน ๕ ประการ.


7. ทาน (การให้) เป็นอย่างไร
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.

มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตามบุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือ พราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ-โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก.


8. การให้ทานเป็นเหตุให้เกิดทรัพย์
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙. -บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๗๘/๑๙๗.

มัลลิกา ! มาตุคามบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธไม่มากไปด้วยความ คับแค้นใจ ถูกว่าแม้มาก ก็ไม่ขัดเคืองไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้าง กระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ และ เป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์

ถ้ามาตุคามนั้นจุติจาก อัตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วย ความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์.

มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคทรัพย์มากนี้ คือ การให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่ สมณะหรือพราหมณ์.

9. ควรให้ทานในที่ใด (นัยที่ ๑)
-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๑๔๓/๔๐๕.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ทาน บุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอ.
มหาราช ! จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้น.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก.

มหาราช ! ทานพึงให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และ
ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง.
มหาราช ! ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแล
มีผลมาก
ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหา มีผลมากไม่.


10. ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๐๕/๔๙๗.

วัจฉะ ! ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นอมิตร
ผู้ทำอันตรายต่อสิ่ง ๓ สิ่ง คือ
(1) ทำอันตรายต่อบุญของทายก (ผู้ให้)
(2) ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก (ผู้รับ)
(3) และตัวเองก็ขุดรากตัวเอง กำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว


11. อานิสงส์แห่งการให้ทาน
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๓/๓๕

ภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ

(1) ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก
(2) สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
(3) กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
(4) ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
(5) ผู้ให้ทานเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์


12. การให้ทานอันเป็นอริยะ (นัยที่ ๑)
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๔๐/๑๔๕๑.

ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาเป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

ธรรม ๔ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
(2) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
(3) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
(4) มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ  มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การ ขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน

13. การให้ทานอันเป็นอริยะ (นัยที่ ๒)
-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๖๐/๔๙.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้
1. ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
2. ให้ทานโดยไม่มีจิต ผูกพันในผล
3. ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม (บุญ)
4. ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราตายไป จักได้เสวยผลของทานนี้”
5. ให้ทานโดยไม่คิดว่า “การให้ทานเป็นการดี”
6. ให้ทานโดย ไม่คิดว่า “บิดามารดา ปู่ย่า ตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำ ให้เสียประเพณี”

7. ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน เรา หุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร”

8.
ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสา-มิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐ-ฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ

9.
ให้ทานโดย ไม่คิดว่า “เมื่อเราให้ทานอย่างนี้จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและ โสมนัส” แต่ให้ทานเป็นเครื่องประดับจิต ปรุงแต่งจิต (จิตฺตาลงฺการํ จิตฺตปริกฺขารํ)

10.
เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ …

11.
เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา เหล่าพรหม กายิกาเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้วเป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

14. การให้ทานอันเป็นอริยะ (นัยที่ ๓)
ความสลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๔๔/๖๙๑.

          ภิกษุ ! เปรียบเหมือนประทีปน้ำ มัน เพราะอาศัยน้ำมัน และไส้แล้วจึงลุก โพลง อยู่ได้ เมื่อหมดน้ำมันและหมดไส้พร้อมกับไม่เติมน้ำมันและไส้อีก ย่อมเป็น ประทีปหมดเชื้อ แล้วดับไป

         ภิกษุ ! ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลนั้น เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัด ว่าเรา เสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุดรอบเมื่อเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัด ว่าเรา เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบ และย่อมรู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวง อันเราไม่เพลิด เพลิน แล้ว จักเป็นของเย็นในอัตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการ แตกทำลายแห่งกายดังนี้

         เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา อันเป็นธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจเป็นอย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้ก็ปัญญานี้ คือ ความรู้ใน ความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ

         ภิกษุ !เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ ส่วนสิ่งที่ไม่เลอะเลือน เป็นธรรมดา ได้แก่นิพพานนั้นจริง ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ถึง พร้อม ด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ด้วยประการอย่างนี้ก็สัจจะนี้ คือ นิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง

         อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิ เข้าไว้อุปธิเหล่านั้น อันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือน ตาลยอดด้วน แล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อม ด้วยการสละอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ (การบริจาค) อันเป็น ธรรมควรตั้งไว้ ในใจอย่างยิ่ง ด้วยประการอย่างนี้ก็จาคะนี้ คือ ความสลัดคืนซึ่งอุปธิ ทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

         อนึ่ง บุคคลนั้นแลยังไม่ทราบในกาลก่อนจึงมีความโลภ (อภิชฌา) ความพอใจ (ฉันทะ) ราคะกล้า(สาราคะ) ความอาฆาต (อาฆาตะ) ความพยาบาท (พยาปาทะ) ความคิดประทุษร้าย (สัมปะโทโส) ความไม่รู้ (อวิชชา)ความหลงพร้อม (สัมโมโห) ความหลงงมงาย (สัมปะโมโห) อกุศลธรรมนั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้น แล้วทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไป เป็นธรรมดา

         เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย อุปสมะ (ความสงบ) อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือ ความเข้าไป สงบ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง ข้อที่เรากล่าว ดังนี้ ว่าไม่พึง ประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะพึงเพิ่มพูนจาคะพึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัย เนื้อความนี้กล่าวแล้ว.

15. สิ่งที่ประเสริฐกว่าทาน
-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๓๐/๑๐๑.

ก็การให้ทานด้วยศรัทธาอันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว โดยส่วนมากก็แต่ บทแห่งธรรม (นิพพาน) นั้นแหละประเสริฐกว่าการให้ทานทั้งหลาย

เพราะว่าสัปบุรุษทั้งหลาย ผู้มีปัญญาในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนกว่าก็ดี บรรลุซึ่ง นิพพานแล้ว.(ทำให้ถึงการบรรลุนิพพาน ประเสริฐกว่าทาน)

16. ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน
-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๓๐๕/๒๗๘.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทาน ๒ อย่างนี้ คือ
(1) อามิสทาน
(2) ธรรมทาน
ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ.

ภิกษุทั้งหลาย ! การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ คือ
(1) การแจกจ่ายอามิส
(2) การแจกจ่ายธรรม

ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้
การแจกจ่ายธรรมเป็นเลิศ

ภิกษุทั้งหลาย ! การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ
(1) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส
(2) การอนุเคราะห์ด้วยธรรม

ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้
การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ.

17. ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน
-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๕๐/๑๒๙.

          ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมชื่อว่าให้ อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลาย มากไม่มีประมาณ ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลาย มากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วน แห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มีประมาณ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นทานชั้นปฐม เป็นมหาทาน รู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูก ทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อัน สมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขอันพึงปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ.

18. องค์ประกอบของทาน ที่ให้แล้วมีผลมาก (นัยที่ ๑)
-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๗๕/๓๐๘.

ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสิกาชื่อนันทมารดาชาวเมืองเวฬุ-กัณฑกะนั้นถวายทักษิณา อันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประมุข ก็ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการเป็นอย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย ! องค์ ๓ ของผู้ให้ (ทายก) และ องค์ ๓ ของผู้รับ (ปฏิคาหก).
องค์ ๓ ของผู้ให้เป็นอย่างไร คือ
(๑) ก่อนให้เป็นผู้ดีใจ
(๒) กำลังให้อยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส
(๓) ครั้นให้แล้วย่อมปลื้มใจ

นี้แล องค์ ๓ ของผู้ให้.

19. องค์ประกอบของทาน ที่ให้แล้วมีผลมาก (นัยที่ ๒)
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๔/๗๘.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นอย่างไร คือ

(1) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้)ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)
(2) บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
(3) บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์
(4) บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
* ต้องบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้และผู้รับ

20. ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๓/๔๔.

... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการ ต่างๆด้วยความพอใจ ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้ว นั้น ย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่า พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญบริจาค สิ่งที่บริจาค ได้ยากแล้ว ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้.

... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของ ที่เลิศให้ของที่ดี และให้ของที่่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้.

21. องค์ ๓ ของผู้ให้และผู้รับเป็นอย่างไร คือ

(๑) เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
(๒) เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
(๓) เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ

อย่างนี้แล องค์ ๓ ของผู้ให้ และ องค์ ๓ ของผู้รับ.

22. เจริญเมตตาจิต มีผลมากกว่าให้ทาน
-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๓๐๘/๖๖๗.

ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ ในเวลาเช้า
ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ ในเวลาเที่ยง
ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ ในเวลาเย็น

ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือ ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยงโดยที่สุด แม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค
หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค

การเจริญเมตตาจิตนี้ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้งในวันหนึ่ง นั้น
เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ เมตตาเจโตวิมุตติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว กระทำให้เป็นของ ที่อาศัยได้ กระทำให้มั่นคง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอด้วยดี.

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

23. การรับที่ไม่เป็นธรรม หรือการรับที่เป็นธรรม
-บาลี ปริวาร. วิ. ๘/๔๙๕/๑๑๗๓.

อุบาลี ! การรับที่ไม่เป็นธรรม (อธัมมิกา ปฏิคคห) มี ๕ อย่าง คือ
(1) ของเขาให้ด้วยกาย ไม่รับด้วยกาย
(2) ของเขาให้ด้วยกาย ไม่รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
(3) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย ไม่รับด้วยกาย
(4) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกายไม่รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
(5) ของเขาให้ด้วยโยนให้ ไม่รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย
อุบาลี ! เหล่านี้แล การรับที่ไม่เป็นธรรม ๕ อย่าง.

อุบาลี ! การรับที่เป็นธรรม (ธมฺมิกา ปฏิคคห) มี ๕ อย่าง คือ
(1) ของเขาให้ด้วยกาย รับด้วยกาย
(2) ของเขาให้ด้วยกาย รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
(3) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย รับด้วยกาย
(4) ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกายรับด้วยของเนื่อ.งด้วยกาย
(5) ของเขาให้ด้วยโยนให้รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย
อุบาลี ! เหล่านี้แล การรับที่เป็นธรรม ๕ อย่าง.

24. การวางจิตเมื่อให้ทาน
บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๖๐/๔๙.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากอะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยมีความหวังผล
ให้ทานโดยมีจิตผูกพัน ในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยคิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผล ของทานนี้” เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่มยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัยและประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ ...
เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า จาตุ มหาราชิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้. (มาสู่คติ5 ไม่พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ให้ทานโดยไม่มีจิต ผูกพันในผล ให้ทานโดยไม่มุ่ง การสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราตายไป จักได้เสวยผลของทานนี้” แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” เขาจึงให้ ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดาวดึงส์ เขาสิ้น กรรมสิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมาคือ มาสู่ความเป็น อย่างนี้. (มาสู่คติ5 ไม่พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” แต่ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายายเคย ให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทานคือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึง ความเป็นสหายแห่ง เทวดาเหล่ายามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็น ใหญ่แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้. (มาสู่คติ5 ไม่พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร ! 
บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทาน ด้วย คิดว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำห้เสียประเพณี แต่ให้ ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุง หากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือข้าว น้ำ …ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดุสิต เขาสิ้นกรรมสิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้ กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้. (มาสู่คติ5 ไม่พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร !
 บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากิน ได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะ หรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วย คิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษีภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่านิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้. (มาสู่คติ5 ไม่พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก แจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คืออัฏฐกฤาษี …ภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความ ปลื้มใจ และโสมนัสเขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาเหล่า ปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.(มาสู่คติ5 ไม่พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่าเมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัสแต่ให้ ทานเป็นเครื่องประดับจิต ปรุงแต่งจิต (จิตฺตาลงฺการํ จิตฺตปริกฺขารํ) เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มา สู่ความเป็นอย่างนี้. (เป็นอริยบุคคล พ้นนรก อบาย)

สารีบุตร ! นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

25. จาคะ (การบริจาค) เป็นอย่างไร
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

คหบดี ! ก็ จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) เป็นอย่างไรอริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอัน ปล่อย อยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการ ให้ และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์