เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (การเข้าวิมุตติ) อานาปานสติเป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน ๔
   โพชฌงค์ ๗ วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์
806
 

(เนื้อหาพอสังเขป)

กระบวนการรู้ชัดซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ ย่อมทำให้ โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ ย่อมทำให้ วิชชา และ วิมุตติบริบูรณ์
วิชชา และ วิมุตติบริบูรณ์
ย่อมรู้ชัดว่า “ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.


คลิปการเข้าวิมุตติ 1

คลิปการเข้าวิมุตติ 2

คลิปการเข้าวิมุตติ 3

 
 


พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๓๐
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๕๕/๒๘๗-๒๙๑.


กระบวนการรู้ชัดซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ



เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้
สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ วิชชา และ วิมุตติบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเอกนั้นมีอยู่ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์

ครั้นธรรมทั้ง ๔ นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ ครั้นธรรมทั้ง ๗ นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๒ ให้บริบูรณ์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธินี้แล เป็นธรรมอันเอก ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา และ วิมุตติ ให้บริบูรณ์ได้.

อานาปานสติบริบูรณ์ ย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขาร ให้รำงับ หายใจออก”


กาย

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกาย อยู่ เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัด ศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้ พร้อมเฉพาะ ซึ่งสุข หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ” หายใจออก”



เวทนา

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นเวทนา ในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็น ประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวการทำในใจ เป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้า และลม หายใจออก ว่าเป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนา ในเวทนา ทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและ โทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ รู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งหายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิต ให้ตั้งมั่น หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำ จิต ให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”


จิต
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติ อันลืมหลง แล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่ เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ เห็นซึ่งความไม่เที่ยง อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ เห็นซึ่ความจางคลาย อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ เห็นซึ่งความดับไม่เหลือ อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ เห็นซึ่งความสลัดคืน อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”


ธรรม

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็น ประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการ ละอภิชฌา และโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและ โทมนัส ในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้.


สติปัฏฐานบริบูรณ์  ย่อมทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ ก็ดี เป็นผู้เห็นเวทนา ในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ ก็ดี เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ ก็ดี

เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำก็ดี มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้นสติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่า ถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการ ใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรม นั้น อยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญธัมมวิจย สัมโพชฌงค์ สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ของภิกษุชื่อว่า ถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรม อันภิกษุนั้นปรารภแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ความเพียรไม่ย่อหย่อน อันภิกษุผู้เลือกเฟ้น ใคร่ครวญ ในธรรม นั้น ด้วยปัญญา สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียร อันปรารภแล้ว ปีติ อันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการ เจริญ
ภิกษุนั้น เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมรำงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความ เต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้วมีความสุขอยู่ ย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อม เจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไป เพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้ว อย่างนั้น เป็นอย่างดี.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้.


โพชฌงค์บริบูรณ์ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงจะทำวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้

ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ (ความจางคลาย) อันอาศัยนิโรธ (ความดับ) อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ (ความสละ ความปล่อย)

ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อโวสสัคคะ

ภิกษุทั้งหลาย ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำวิชชา และวิมุตติให้ บริบูรณ์ได้ ดังนี้.

พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๑๑ - ๒๓
(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๓๕/๑๓๘๐-๑๔๐๓.



สติปัฏฐานบริบูรณ์
เพราะอานาปานสติบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ได้ ?

[หมวดกายานุปัสสนา]

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น.

[หมวดเวทนานุปัสสนา]

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็น ประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลก ออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวการทำในใจเป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออกทั้งหลายว่า เป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนา ในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น.

[หมวดจิตตานุปัสสนา]


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตหายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งหายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิต ให้ตั้งมั่น หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ ทำจิตให้ปล่อยอยู่หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคล ผู้มีสติ อันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัส ในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น.

[หมวดธัมมานุปัสสนา]


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌา และโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ได้.



โพชฌงค์บริบูรณ์

เพราะสติปัฏฐานบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ได้ ?


[โพชฌงค์เจ็ด หมวดกายานุปัสสนา]


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการ ใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติ เช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมนั้น อยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจย สัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว, สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญธัมมวิจย สัมโพชฌงค์ สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรม อันภิกษุนั้น ปรารภแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ความเพียร ไม่ย่อหย่อน อันภิกษุผู้เลือกเฟ้น ใคร่ครวญ ในธรรมนั้น ด้วยปัญญา สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญวิริย สัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่า ถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ทั้งกาย และทั้งจิตของภิกษุ ผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมรำงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้น ปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่จิตย่อมตั้งมั่น. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกาย อันรำงับแล้วมีความสุขอยู่ ย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดเวทนานุปัสสนา]


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออก เสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่า ถึงความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือกย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการ ใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา (ต่อไปนี้มีข้อความอย่างเดียวกันกับใน โพชฌงค์ เจ็ด หมวดกายานุปัสสนา จนจบหมวด).

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดจิตตานุปัสสนา]


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุ ผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด สติของภิกษุ ผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุ นั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการ ใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา (ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับใน โพชฌงค์เจ็ด หมวดกายานุปัสสนา จนจบหมวด).

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดธัมมานุปัสสนา]


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติ ไม่ลืมหลง. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึง ความเต็มรอบ แห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการ ใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา (ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์ เจ็ด หมวดกายานุปัสสนา จนจบหมวด).

ภิกษุทั้งหลาย ! สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ด ให้บริบูรณ์ได้.



วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์

เพราะโพชฌงค์บริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! โพชฌงค์ทั้งเจ็ด อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้

ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ (ความจางคลาย) อันอาศัยนิโรธ (ความดับ) อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ (ความสละ ความปล่อย)

ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! โพชฌงค์ทั้งเจ็ด อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่า ทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได, ดังนี้.



วิญญาณหลุดออกจาก 4 ธาตุ ก็ไม่สามารถปรุงแต่งรูปนามได้
เมื่อหลุดพ้นก็ตั้งมั่น..อะไรตั้งมั่น..(((สิ่งๆ หนึ่ง)))

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ ภิกษุละได้แล้ว เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณ ก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไป เพราะไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นไปก็ตั้งมั่น เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพาน เฉพาะตน.

ย่อมรู้ชัดว่า “ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์