เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  เรื่องภิกษุหลายรูป .. ภิกษุฆ่าตัวตาย (วินัยปิฎก) 799
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

ภิกษุฆ่าตัวตาย….

ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดง อสุภกถา ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญ อุสภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนา คุณอสุภ สมาบัติเนืองๆ แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เราจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆอย่า เข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว

ภิกษุเหล่านั้นสนทนากัน ว่าเราจะพากันประกอบความเพียร ในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลาย อย่าง หลายกระบวนอยู่  ภิกษุเหล่านั้นจึงรู้สึก อึดอัด ระอา เกลียดชัง ร่างกายของตน ดุจมีศพงู ซากศพ สุนัข หรือซากศพมนุษย์ มาคล้องอยู่ที่คอ รู้สึกสะอิดสะเอียน จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกัน ให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหา มิคลัณฑิกสมณกุตตก์ ว่าพ่อคุณขอท่านได้ปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน

ครั้งนั้นมิคลัณฑิกฯ กำลังล้างดาบที่เปื้อนเลือด รู้สึกกังวลใจว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเรา ไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เราสร้างบาปไว้มากจริงหนอ เพราะเราได้ปลงชีวิต ภิกษุผู้มีศีล

ขณะนั้นเทพดาตนหนึ่ง ผู้นับเนื่องในหมู่มาร เดินมาบนน้ำมิได้แตก ได้กล่าวคำนี้ กะเขา ว่าดีแล้ว ดีแล้วท่านสัตบุรุษ เป็นลาภท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านได้สร้างสมบุญไว้มาก เพราะท่านได้ช่วยส่งคน ที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้นได้

ครั้นมิคลัณฑิกฯ ทราบว่าเป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว ส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้นให้ข้ามพ้นได้ จึงถือดาบ อันคม เข้าไปสู่วิหาร แล้วกล่าวว่า “ใครยังข้ามไม่พ้น ข้าพเจ้าจะช่วยส่ง ให้ข้ามพ้น”

บรรดาภิกษุที่ยังไม่ปราศจากราคะ ความกลัว ความหวาดเสียว ความสยอง ย่อมมีแก่ภิกษุเหล่านั้น ส่วนภิกษุที่ ปราศจากราคะแล้ว ความกลัวความหวาดเสียว ความสยองย่อมไม่มีแก่ภิกษุเหล่านั้น

ครั้งนั้นมิคลัณฑิกฯ ปลงชีวิตภิกษุ วันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง ๕ รูปบ้าง ๖ รูปบ้าง ๗ รูปบ้าง ๘ รูปบ้าง ๙ รูปบ้าง๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง.

ครั้นล่วงกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น รับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า เหตุไฉนหนอ ภิกษุสงฆ์จึงดูน้อย ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า จริงอย่างนั้น จึงเล่าความจริงให้ฟัง....

พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า การกระทำของภิกษุเหล่านั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส ยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงทรงติโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคน บำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคน ไม่สันโดษ

ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่ายความเป็นคนบำรุงง่าย ความเป็นคนมักน้อย ความเป็นคนสันโดษ แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
  ๑.เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์  
  ๒.เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์  
  ๓.เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก  
  ๔.เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
  ๕.เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน  
  ๖.เพื่อกำจัดอาสวะจักบังเกิดในอนาคต  
  ๗.เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  
  ๘.เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว  
  ๙.เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม  
  ๑๐. เพื่อถือตามพระวินัย

พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา อันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ (ให้สึก - อยู่ร่วมกับสงฆ์ไม่ได้ ต้อง- ขับออกจากวัด)

 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๘๘


ตติยปาราชิกสิกขาบท

นิทานปฐมบัญญัติ เรื่องภิกษุหลายรูป



          [๑๗๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดง อสุภกถา ทรงพรรณนา คุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญ อุสภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนา คุณอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยอเนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไป หาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียวภิกษุเหล่านั้นรับ รับสั่งแล้ว ไม่มีใครกล้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาต เข้าไปถวาย รูปเดียว

ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อสุภกถา ทรงพรรณนาคุณ แห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณ แห่ง อสุภ-สมาบัติเนืองๆ โดยอเนกปริยายดังนี้ แล้วพากันประกอบความเพียร ในการ
เจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายกระบวนอยู่

ภิกษุเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชัง ร่างกายของตน ดุจสตรีรุ่นสาวหรือบุรุษรุ่นหนุ่ม พอใจในการตกแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้า มีซากศพงู ซากศพสุนัขหรือซากศพมนุษย์ มาคล้องอยู่ที่คอ พึงอึดอัด สะอิดสะเอียน เกลียดชัง ฉะนั้น จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหา มิคลัณฑิกสมณกุตตก์ กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อคุณขอท่านได้ปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน
(คนโกนผมไว้จุกนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ทำนองเป็นตาเถนฯ)

ครั้งนั้นมิคลัณฑิกสมณกุตตก์ อันภิกษุทั้งหลายจ้างด้วยบาตรจีวร จึงปลงชีวิตภิกษุ เป็นอันมากแล้ว ถือดาบเปื้อนเลือดเดินไปทางแม่น้ำวัคคุมุทา ขณะเมื่อมิคลัณฑิก สมณกุตตต์ กำลังล้างดาบที่เปื้อนเลือดนั้นอยู่ได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เราสร้างบาปไว้มากจริงหนอ เพราะเราได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

ขณะนั้นเทพดาตนหนึ่งผู้นับเนื่องในหมู่มาร เดินมาบนน้ำมิได้แตก ได้กล่าวคำนี้ กะเขา ว่าดีแล้ว ดีแล้ว ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านได้สร้างสมบุญ ไว้มาก เพราะท่านได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้นให้ข้ามพ้นได้ ครั้น มิคลัณฑิก สมณกุตตก์ ได้ทราบว่าเป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว เราได้สร้างสมบุญไว้มาก เพราะเราได้ช่วย ส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้นให้ข้ามพ้นได้ ดังนี้ จึงถือดาบอันคม จากวิหาร เข้าไปสู่วิหาร จากบริเวณเข้าไปสู่บริเวณ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ใครยังข้ามไม่พ้น ข้าพเจ้าจะช่วยส่ง ให้ข้ามพ้น

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใด ยังไม่ปราศจากราคะ ความกลัว ความหวาดเสียว ความสยอง ย่อมมีแก่ภิกษุเหล่านั้นในเวลานั้น ส่วนภิกษุเหล่าใดปราศจากราคะ แล้ว ความกลัวความหวาดเสียวความสยองย่อมไม่มีแก่ภิกษุเหล่านั้น ในเวลานั้น

ครั้งนั้นมิคลัณฑิกสมณกุตตก์ ปลงชีวิตภิกษุเสียวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง ๕ รูปบ้าง ๖ รูปบ้าง ๗ รูปบ้าง ๘ รูปบ้าง ๙ รูปบ้าง๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง.


รับสั่งให้เผดียงสงฆ์ (นิมนต์ภิกษุ)

          [๑๗๗] ครั้นล่วงกึ่งเดือนนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับเร้นแล้ว รับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ เหตุไฉนหนอ ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป

       ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า เพราะพระองค์ทรง แสดง อสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการ เจริญ อสุภกัมมัฏฐานทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยอเนกปริยายแก่ ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า และภิกษุเหล่านั้นก็พากันพูดว่า พระผู้มีพระภาคทรง แสดง อสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยอเนกปริยาย จึงพากัน ประกอบความเพียร ในการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน หลายอย่างหลายกระบวนอยู่ เธอเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน ดุจสตรีรุ่นสาวหรือบุรุษรุ่นหนุ่ม พอใจในการตกแต่งกาย อาบน้ำ สระเกล้า มีซากศพงู ซากศพสุนัข หรือซากศพ มนุษย์ มาคล้องอยู่ที่คอ จะพึงอึดอัด สะอิดสะเอียน เกลียดชัง ฉะนั้น จึงปลงชีวิต ตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหา มิคลัณฑิก สมณกุตตก์ กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อคุณ ขอท่านได้ช่วยปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้ จะเป็นของท่าน พระพุทธเจ้าข้า

ครั้นมิคลัณฑิกสมณกุตตก์ได้บาตรจีวรเป็นค่าจ้างแล้ว จึงปลงชีวิตภิกษุเสียวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง ๕ รูปบ้าง ๖ รูปบ้าง ๗ รูปบ้าง ๘ รูปบ้าง ๙ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ภิกษุสงฆ์นี้จะพึงดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล ด้วยปริยายใด ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายอื่นนั้นเถิดพระพุทธเจ้าข้า     

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเผดียง(นิมนต์) ภิกษุ ที่อาศัย พระนคร เวสาลีอยู่ทั้งหมด ให้ประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา  เป็นดังรับสั่งพระพุทธเจ้า ข้า ท่านพระอานนท์รับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จึงเผดียงภิกษุสงฆ์ที่อาศัยพระนคร เวสาลีอยู่ทั้งสิ้น ให้ประชุมที่อุปัฏฐานศาลา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณา โปรดทราบ กาลอันควร ในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า.

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท

          [๑๗๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกภิกษุปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็ไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อคุณ ขอท่านได้ช่วยปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน ดังนี้จริงหรือ?

          ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

          พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของ ภิกษุเหล่านั้นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุเหล่านั้นจึงได้ปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่า ก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์ พูดอย่างนี้ว่า พ่อคุณ ขอท่านได้ช่วยปลงชีวิต พวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน ดังนี้เล่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของภิกษุเหล่า นั้นนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของผู้ที่ยัง ไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกผู้เลื่อมใสแล้ว

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยายแล้ว จึงทรงติโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคน ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคน เลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความเป็นคนมักน้อย ความเป็นคนสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงแสดงธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระปฐมบัญญัติ


          ๓. อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา อันจะ ปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

          ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ ฯ

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์