เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อินทริยภาวนาสูตร ดับอารมณ์อันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ให้ไวดุจกระพริมตา
789
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ

ผู้เจริญอินทรีย์ ดับได้ไว..(6 แบบ)
   1. เห็นรูปด้วยจักษุ.. ดับได้ไวเหมือนกระพริบตา
   2. ได้ยินเสียงด้วยโสต.. ดับได้ไวเหมือนดีดนิ้วมือ
   3. ดมกลิ่นด้วยฆานะ.. ดับได้ไวเหมือนหยดน้ำกลิ้งไปบนใบบัว
   4. ลิ้มรสด้วยชิวหา.. ดับได้ไวเหมือนตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น
   5. ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย.. ดับได้ไวเหมือนเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขน ที่เหยียดโดยไม่ลำบาก
   6. รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน .. ดับได้ไวเหมือนหยดน้ำสอง หรือสามหยาด ลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัด

อารมณ์ของ เสขะ (ผู้ยังปฏิบัติ)
   ย่อมอึดอัด ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ
   เบื่อหน่าย ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ
   เกลียดชัง ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ

อารมณ์ของ
อริยะ วางเฉย และ มีสติสัมปชัญญะในสิ่งนั้นๆ
   เห็นปฏิกูล ว่า เป็นปฏิกูล
   เห็นไม่เป็นปฏิกูล ว่า เป็นปฏิกูล
   เห็นปฏิกูล และ ไม่ปฏิกูล ว่า เป็นปฏิกูล
   เห็นปฏิกูล และไม่ปฏิกูล ว่า ไม่เป็นปฏิกูล
   (เห็นได้ืทุกรูปแบบ)



 
 


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๔๖๔-๔๗๐

อินทริยภาวนาสูตร


             [๘๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าไผ่ ในนิคมชื่อกัชชังคลา ครั้งนั้นแล อุตตรมาณพ ศิษย์พราหมณ์ปาราสิริยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

             [๘๕๔] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามดังนี้ว่า ดูกรอุตตระ ปาราสิริยพราหมณ์ แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือเปล่า
             อุ. แสดง พระโคดมผู้เจริญ

             พ. ดูกรอุตตระ แสดงอย่างใด ด้วยประการใด
             อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ท่านปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญ อินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียงด้วยโสต ฯ

             พ. ดูกรอุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้วตามคำของปาราสิริย พราหมณ์ ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอดไม่เห็นรูปด้วย จักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ อุตตรมาณพ ศิษย์ปาราสิริยพราหมณ์ นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตกก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

(การเจริญอินทรีย์แบบอริยะ)

             [๘๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุตตรมาณพศิษย์ปาราสิริย พราหมณ์ นิ่ง คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ปาราสิริยพราหมณ์ ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์ แก่สาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง ส่วนการเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อม เป็นอีกอย่างหนึ่ง

             ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต เป็นการสมควรแล้วที่ พระผู้มีพระภาค จะทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

             พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

             [๘๕๖] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ ก็การเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร

( อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ทั้งไม่ชอบใจและไม่ชอบใจ ผู้เจริญอินทรีย์ สามารถดับได้ไว..อุปมา 6 แบบ)

ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูป ด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแลเป็นสังขตะ หยาบอาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขา จึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่าการเจริญ อินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วย จักษุ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของ พระอริยะ

             [๘๕๗] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้น แล้ว เช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยการเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบากเหมือนอย่างบุรุษมีกำลังดีดนิ้วมือ โดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อย่างไม่มี วิธีอื่น ยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ

             [๘๕๘] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจ ขึ้นแล้ว เช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้ได้เร็ว พลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างหยาดน้ำกลิ้งไปบนใบบัว ย่อมไม่ติดในที่ ที่กลิ้ง ไปสักน้อยหนึ่ง ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในกลิ่น ที่รู้ได้ด้วย ฆานะ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ

             [๘๕๙] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และ ไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้ได้เร็ว พลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษ มีกำลัง ตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น แล้วถ่มไปโดยไม่ลำบากฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรสที่รู้ได้ ด้วยชิวหา อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของ พระอริยะ

             [๘๖๐] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้น แล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใด รูปหนึ่งดับ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้ ได้ โดยเร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือ คู้แขน ที่เหยียดโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เรา เรียกว่า การเจริญอินทรีย์ใน โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ

             [๘๖๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอรู้ชัดอย่างนี้ ว่า เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ เกิดทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจ ขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะหยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วได้เร็วพลัน ทันที โดยไม่ลำบากอย่างนี้ เหมือนบุรุษ มีกำลัง หยดหยาดน้ำสอง หรือสามหยาด ลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน ความหยดลง แห่งหยาดน้ำยังช้า ทันทีนั้น หยาดน้ำนั้น จะถึงความสิ้นไป แห้งไปเร็วทีเดียวฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกวา การเจริญอินทรีย์ ในธรรมารมณ์ ที่รู้ได้ ด้วยมโนอย่างไม่มีวิธีอื่น ยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ

             ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลเป็นการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ
..............................................................................................................................

(อารมณ์ของเสขะ ผู้กำลังเดินมรรค ย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชัง..)

             [๘๖๒] ดูกรอานนท์ ก็พระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่เป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ... เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชัง ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่

..............................................................................................................................

(อารมณ์ของอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมวางเฉยในของปฏิกูล และไม่ปฏิกูล ที่เห็นรูปด้วยจักษุ ให้เป็นของมีปฏิกูลก็ได้ ไม่ปฏิกูลก็ได้ วางจิตได้ทุกรูปแบบ)

             [๘๖๓] ดูกรอานนท์ ก็พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้วเป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ

เธอถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญใน สิ่งปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ไม่ปฏิกูล ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ทั้งปฏิกูล และไม่ปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ทั้งไม่ปฏิกูล และปฏิกูลว่า เป็นของปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูล และไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น อยู่อย่างมีสติ สัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้

..............................................................................................................................

(อินทรีย์ที่เหลือ -โสต ฆานะ ชิวหา โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ทำนองเดียวกัน กับข้างต้น)

             [๘๖๔] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน

เธอ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูล ว่า เป็นของไม่ปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ไม่ปฏิกูล ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ทั้งปฏิกูล และไม่ปฏิกูล ว่า เป็นของไม่ปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญ ในสิ่ง ทั้งไม่ปฏิกูล และปฏิกูล ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมมีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น อยู่อย่างมีสติสัมป ชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้

ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว

             [๘๖๕] ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่น ยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความ อนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคฉะนี้แล

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์