เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 พระราชาจักรพรรดิ์ ทัลหเนมิ ทรงปกครองโดยธรรม มีมหาสมุทรทั้ง4 เป็นขอบเขต 772
 
(เนื้อหาพอสังเขป)
๓. จักกวัตติสูตร (๒๖)
พระราชาจักรพรรดิ์ พระนามว่า ทัลหเนมิ

พระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่า ทัลหเนมิ ปกครองโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว

พระราชบุตรของพระองค์ มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ สมเป็น วีรกษัตริย์ ทรงชนะข้าศึกโดยธรรม มิต้องใช้ศัสตรา

ล่วงไปหลายร้อยหลายพันปี พระเจ้าจักรพรรดิ์ ตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมารับสั่งว่า หากท่านเห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ เมื่อใด พึงบอกเราเมื่อนั้น... ล่วงไปอีกหลายร้อยหลายพันปี บุรุษนั้น เห็น จักรแก้ว ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ์เพื่อกราบทูล

ลำดับนั้นทรงตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่ มารับสั่งว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อ ถอยเคลื่อนจาก ที่แล้ว พ่อจะมีพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ในบัดนี้ ก็กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยที่จะ แสวงหากามอันเป็นทิพย์ (ต้องการกามที่สูงขึ้นคือกามของเทวดา) ...มาเถิดพ่อกุมาร เจ้าจงปกครองแผ่นดินนี้ ฝ่ายพ่อจักปลงผม และ หนวด ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต(ฤาษี) เมื่อทรงผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันตรธานหายไป (จักรแก้วหายไป อันเนื่องจากพระเจ้าจักรพรรดิ์ บริโภคกาม)


เรื่องราวของ พระเจ้าจักรพรรดิ์ ทัลหเนมิ เช่นเดียวกับ พระเจ้ามฆเทวะ (พระพุทธเจ้าในอดีต) แต่พระเจ้ามฆเทวะ ใช้คำว่าราชา มีอายุ 336,000 ปี (แบ่งเป็น 4 ช่วงๆละ 84,000 ปี) สมบูรณ์ด้วย แก้ว 7 ประการเหมือนกัน ส่วนพระจักรพรรดิ์ ทัลหเนมิ ไม่ได้กล่าวถึงอายุ แต่กล่าวว่า โดยล่วงไปอีก หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี กล่าวเรื่องผมหงอก กล่าวถึงจักรแก้วเคลื่อนถอย และหายไป



 
 


ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้า ๔๔  - ๖๔


๓. จักกวัตติสูตร (๒๖)
พระราชาจักรพรรดิ์ พระนามว่า ทัลหเนมิ ผู้ทรงธรรม


      [๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มี พระราชาจักรพรรดิ์ พระนามว่า ทัลหเนมิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗

พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนา ของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น โดยล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ท้าวเธอ ตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมารับสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ในกาลใด พึงบอกแก่เรา ในกาลนั้นทีเดียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทูลสนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี บุรุษนั้นได้เห็น จักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พึงทรงทราบ จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ ของพระองค์ถอย เคลื่อนจากที่แล้ว ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่มา รับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร ได้ยินว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ก็พ่อได้สดับมา ดังนี้ว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของ พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ใด ถอยเคลื่อน จากที่ พระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์นั้น พึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ในบัดนี้ ก็กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้วบัดนี้ เป็นสมัยที่จะแสวงหา กามทั้งหลาย อันเป็นทิพย์ของพ่อ(แสวงหาความเป็นเทวดากามภพ) มาเถิดพ่อกุมาร พ่อจงปกครองแผ่นดิน อันมีสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ฝ่ายพ่อจักปลงผมและ หนวด นุ่งห่ม ผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงสั่งสอนพระกุมารองค์ใหญ่ ในราชสมบัติ เรียบร้อยแล้ว ทรงปลง พระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้าย้อม น้ำฝาด เสด็จออกจากเรือน ทรงผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราช ฤาษี ทรงผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ฯ

      [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระราชา ผู้เป็นกษัตริย์ ซึ่งได้ มูรธาภิเษกแล้ว ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึงทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นเมื่อจักรแก้ว อันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอ ได้ทรงเสียพระทัยและทรงเสวย แต่ความเสียพระทัย ท้าวเธอเสด็จเข้าไป หาพระราชฤาษีถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึง ทรงทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชฤาษีจึงตรัสกะ ท้าวเธอว่า ดูกรพ่อ พ่ออย่าเสียใจ และอย่าเสวยแต่ความเสียใจไปเลย ในเมื่อ จักรแก้วอันเป็น ทิพย์ อันตรธานไปแล้ว ดูกรพ่อ ด้วยว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่สมบัติ สืบมาจาก บิดาของพ่อไม่ ดูกรพ่อ เชิญพ่อ ประพฤติในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แลเมื่อพ่อประพฤติในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการ ทุกอย่าง จักปรากฏมี แก่พ่อผู้สระพระเศียร แล้วรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาท อันประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ

     ร. พระพุทธเจ้าข้า ก็จักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นไฉน ฯ

     ราช. ดูกรพ่อ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม ทำความเคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการ รักษาป้องกัน และคุ้มครองอันเป็น ธรรมในชนภายใน ในหมู่พล ในพวกกษัตริย์ผู้เป็น อนุยนต์ ในพวกพราหมณ์และ คฤหบดี ในชาวนิคมและชาว ชนบททั้งหลาย ในพวกสมณพราหมณ์ ในเหล่าเนื้อ และนก ดูกรพ่อ การอธรรมอย่าให้มีได้ในแว่นแคว้น ของพ่อเลย

     ดูกรพ่อ อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของพ่อ ไม่มีทรัพย์ พ่อพึงให้ทรัพย์ แก่บุคคล เหล่านั้น ด้วยดูกรพ่อ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้นของพ่อ งดเว้นจาก ความเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ และ โสรัจจะ ฝึกตน แต่ผู้เดียว สงบตน แต่ผู้เดียว ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว พึงเข้าไปหา สมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยกาล อันควร แล้วไต่ถามสอบถามว่า ท่านขอรับ กุศลคืออะไร ท่านขอรับ อกุศล คืออะไร กรรมมีโทษคืออะไร กรรมไม่มีโทษ คืออะไรกรรม อะไรควรเสพ กรรมอะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไร อันข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน พ่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้ว สิ่งใด เป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติ ดูกรพ่อ  นี้แล คือจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวเธอรับสนองพระดำรัสพระราชฤาษีแล้ว ทรงประพฤติใน จักกวัตติวัตร อันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรงประพฤติจักกวัตติวัตร อันประเสริฐอยู่ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ซึ่งมีกำพัน หนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ ด้วยอาการทุกอย่าง ปรากฏมีแก่ท้าวเธอผู้สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถ อยู่ ณ ปราสาท อันประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ

ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีพระดำริว่า ก็เราได้สดับมาว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุมบริบูรณ์ด้วยอาการ ทุกอย่าง ปรากฎมีแก่พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ใด ผู้ได้มูรธาภิเษก สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระราชาพระองค์นั้น เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ เราได้เป็น พระเจ้าจักพรรดิ์หรือหนอ ฯ

      [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จลุกจากพระที่แล้ว ทรงทำผ้าอุตตราสงค์ เฉวียงพระอังสา ข้างหนึ่ง จับพระเต้าด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงประคองจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า ขอจักรแก้ว อันประเสริฐ จงเป็นไปเถิด ขอจักรแก้วอันประเสริฐ จงชนะโลกทั้งปวงเถิด ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น จักรแก้วนั้นก็เป็นไปทางทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วยจตุรง คินีเสนา ก็เสด็จติดตามไป ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศบูรพาพากันเสด็จ เข้าไปเฝ้า พระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเชิญเสด็จมาเถิด มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ราชอาณาจักร เหล่านี้ เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ขอ พระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทเถิดมหาราชเจ้า ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า
พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ไม่พึงกล่าวคำเท็จ
ไม่พึงดื่มน้ำเมา
จงบริโภคตามเดิมเถิด


ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศบูรพาได้พากันตาม  เสด็จท้าวเธอไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น จักรแก้วนั้น ก็ลงไปสู่สมุทร ด้านบูรพา แล้วโผล่ขึ้นไปลงที่สมุทร ด้านทักษิณ แล้วโผล่ขึ้นไปสู่ทิศ ปัจฉิม ท้าวเธอพร้อมด้วย จตุรงคินีเสนาก็เสด็จติดตามไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด ท้าวเธอก็เสด็จเข้าไปพักอยู่ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศปัจฉิมก็พากันเสด็จ เข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ได้กราบทูล อย่างนี้ว่า ขอเชิญเสด็จมาเถิด มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราชเจ้า อาณาจักร เหล่านี้เป็นของ พระองค์ทั้งสิ้น มหาราชเจ้า ขอพระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาท เถิด ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า
พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ไม่พึงกล่าวคำเท็จ
ไม่พึงดื่มน้ำเมา
จงบริโภคตามเดิมเถิด

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศอุดร ได้พากันตามเสด็จ ท้าวเธอไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น จักรแก้วนั้นได้ชนะวิเศษยิ่งซึ่งแผ่นดิน มีสมุทรเป็นขอบเขตได้แล้ว จึงกลับคืนสู่ราชธานีนั้น ได้หยุด อยู่ที่ประตูพระราชวัง ของท้าวเธอ ปรากฏเหมือนเครื่องประดับณ มุขสำหรับทำเรื่องราว สว่างไสวอยู่ทั่ว ภายใน พระราชวังของท้าวเธอ ฯ

-------------------------------------------------------------------------------------------------

(พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ต่อๆมา ก็ดำเนินไปเช่นเดียวกัน)

      [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ที่ ๒ ก็ดี องค์ที่ ๓ ก็ดี องค์ที่ ๔ ก็ดีองค์ที่ ๕ ก็ดี องค์ที่ ๖ ก็ดี องค์ที่ ๗ ก็ดี โดยกาลล่วงไป หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ได้ตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่ง มารับสั่ง ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อน จากที่ในกาลใด พ่อพึงบอกแก่เราในกาลนั้น ทีเดียว

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทูลสนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยล่วงไป อีกหลายปี หลายร้อยปีหลายพันปี บุรุษนั้นได้แล เห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พึงทรง ทราบจักรแก้วอัน เป็นทิพย์ของ พระองค์ ถอยเคลื่อนจากที่แล้ว

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่ มารับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร ได้ยินว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ก็พ่อได้สดับมาดังนี้ว่าจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ พระองค์ใด ถอยเคลื่อนออกจากที่ พระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์นั้น พึงทรง พระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ในบัดนี้ ก็กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นสมัยที่จะ แสวงหา กามทั้งหลาย อันเป็นทิพย์ของพ่อ มาเถิดพ่อกุมาร พ่อจงปกครองแผ่นดิน อันมีสมุทรเป็น ขอบเขตนี้ ฝ่ายพ่อจะปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงสั่งสอน พระกุมารองค์ใหญ่ในราช สมบัติเรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้า ย้อมน้ำฝาด เสด็จออกจากเรือน ทรงผนวชเป็น บรรพชิตแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤาษี ทรงพระผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ อันตรธาน ไปแล้ว ฯ

      [๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระราชา ผู้กษัตริย์ ซึ่งได้มูรธา ภิเษกแล้ว ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึง ทรงทราบเถิด จักรแก้ว อันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นท้าวเธอเมื่อ จักรแก้ว อันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ได้ทรงเสียพระทัย และได้ทรงเสวยแต่ความเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไป เฝ้าพระราชฤาษี ทูลถามจึง จักกวัตติวัตรอันประเสริฐ นัยว่าท้าวเธอ ทรงปกครอง ประชาราษฎร์ ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ ก็ไม่เจริญต่อไป เหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ ในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐอยู่

      ดูกรภิกษุทั้งหลายครั้งนั้น คณะอำมาตย์ข้าราชบริพารโหราจารย์ และมหาอำมาตย์ นายกองช้าง นายกองม้า เป็นต้น จนคนรักษาประตู และคนเลี้ยงชีพด้วยปัญญา ได้ประชุมกัน กราบทูลท้าวเธอ ว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ยินว่าเมื่อพระองค์ทรงปกครอง ประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ ไม่เจริญเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติใน จักกวัตติวัตร อันประเสริฐอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีอำมาตย์ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ นายกองช้าง นายกองม้า เป็นต้น จนคนรักษาประตู และคน เลี้ยงชีพด้วยปัญญา อยู่พร้อมทีเดียว

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยและประชาราษฎร์ เหล่าอื่นด้วย จำทรงจักกวัตติวัตร อันประเสริฐได้อยู่ ขอเชิญพระองค์ โปรดตรัส ถามถึงจักกวัตติวัตรอันประเสริฐเถิด พวกข้าพระพุทธ เจ้าอันพระองค์ตรัสถามแล้ว จักกราบทูลแก้จักกวัตติวัตร อันประเสริฐถวายพระองค์ฯ

      [๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมอำมาตย์ราช  บริพารโหราจารย์ และมหาอำมาตย์ นายกองช้าง นายกองม้าเป็นต้น จนคนรักษาประตู และคนเลี้ยงชีพด้วยปัญญา แล้วตรัสถามจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ เขาเหล่านั้นอันท้าวเธอตรัสถามจักกวัตติวัตร อันประเสริฐ แล้วจึงกราบทูลแก้ถวาย ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลแก้ของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง อันชอบธรรม แต่ไม่ได้ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงได้ถึง ความแพร่หลาย เมื่อความขัดสน ถึงความแพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงขโมยทรัพย์ของคนอื่นไป เขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว แสดงแก่ท้าวเธอพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษคนนี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ  เขาพากันกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้ กะบุรุษผู้นั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ยินว่า เธอขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไปจริงหรือ ฯ
      บุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า ฯ
      ร. เพราะเหตุไร ฯ
      บุ. เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขา แล้วรับสั่งว่า พ่อบุรุษ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงาน ทั้งหลาย จงตั้งทักษิณา ที่มีผลในเบื้องบน อันเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไป เพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยทรัพย์นี้เถิด

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขาได้สนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้บุรุษอีกคนหนึ่งก็ได้ขโมยทรัพย์ของคนอื่นไป เขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงแสดง แก่ท้าวเธอ พร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษผู้นี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาพากันกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษผู้นั้นว่าพ่อบุรุษ ได้ยินว่า เธอขโมย เอาทรัพย์ของคนอื่นไป จริงหรือ ฯ
     บุ. จริงพระพุทธเจ้าข้า ฯ
     ร. เพราะเหตุไร ฯ
     บุ. เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขา แล้วรับสั่งว่า พ่อบุรุษ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงชีพมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลายจงตั้ง ทักษิณาที่มีผลในเบื้องบน อันเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ ทั้งหลายด้วยทรัพย์ นี้เถิด

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขาได้สนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลาย ได้ฟังมาว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลายได้ยินว่า คนขโมยทรัพย์ของ คนพวกอื่นไปพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระราชทาน ทรัพย์ให้อีก เขาได้ยินมาจึงพากัน คิดเห็นอย่างนี้ว่า อย่ากระนั้นเลย แม้เราทั้งหลายก็ควรขโมยเอาทรัพย์ ของคนอื่นบ้าง ฯ

      [๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งขโมยเอาทรัพย์ของ คนอื่นไป เขาช่วยกันจับ บุรุษนั้นได้แล้ว จึงแสดงแก่ท้าวเธอพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษผู้นี้ขโมยเอาทรัพย์ ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาพากันกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษผู้นั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ยินว่า เธอขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไปจริงหรือ ฯ
บุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ร. เพราะเหตุไร ฯ
บุ. เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คน ที่ขโมยเอาทรัพย์ ของคนอื่นเสมอไป อทินนาทานนี้จักเจริญทวี ขึ้นด้วยประการอย่างนี้ อย่ากระนั้นเลย เราจะให้คุมตัวบุรุษ ผู้นี้ให้แข็งแรง จะทำ การตัดต้นตอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสสั่ง บังคับราชบุรุษทั้งหลายว่า แน่ะ พนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเอาเชือก เหนียวๆ มัดบุรุษนี้ให้มือไพล่หลังให้แน่น เอามีดโกนๆ ศีรษะให้โล้น แล้ว พาตระเวนตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์ เสียงกร้าว ออกทางประตู ด้านทักษิณ จงคุมตัวให้ แข็งแรง ทำการตัดต้นตอ ตัดศีรษะบุรุษนั้น เสีย นอกพระนครทิศทักษิณ ราชบุรุษทั้งหลาย รับพระราชดำรัส ของเธอแล้ว จึงเอาเชือก เหนียวมัดบุรุษนั้นให้มือไพล่หลังให้แน่น เอามีดโกนๆ ศีรษะให้โล้น แล้วพา ตระเวนตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงกร้าว ออกทางประตูด้าน ทักษิณ คุมตัวให้แข็งแรง ทำการตัดต้นตอ ตัดศีรษะบุรุษนั้น นอกพระนคร ทิศทักษิณแล้ว ฯ

       [๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังมาว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระเจ้าแผ่นดิน ให้คุมตัวบุคคลผู้ขโมยเอาทรัพย์ ของ คนอื่นอย่างแข็งแรง ทำการตัดต้นตอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย เพราะได้ฟังมา พวกเขาจึงมีความคิดเห็น อย่างนี้ว่าอย่ากระนั้นเลย แม้พวกเราควรให้ช่าง ทำศัสตราอย่างคม ครั้นแล้วจะคุมตัว บุรุษที่เราจักขโมย เอาทรัพย์ให้แข็งแรง จักทำการ ตัดต้นตอ ตัดศีรษะ พวกมันเสีย พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราอย่างคม ครั้นแล้วจึงเริ่มทำการปล้นบ้านบ้าง ปล้นนิคมบ้าง ปล้นพระนครบ้าง ปล้นตามถนน หนทางบ้าง คุมตัวบุคคลที่พวกเขา จักขโมยเอาทรัพย์ไว้ อย่างแข็งแรง ทำการตัด ต้นตอ ตัดศีรษะบุคคลนั้นเสีย ฯ

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์