โพชฌงค์ ๗ คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์ ..เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้บ่อยๆ
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีสติอย่างนั้นอยู่ วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร ความไม่ย่อหย่อน อันภิกษุนั้นพิจารณา ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติ อันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่พระภิกษุ ผู้มีความเพียร อันปรารภแล้ว
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจปีติ ย่อมสงบระงับ
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ จิตของภิกษุผู้มีกายสงบระงับแล้ว มีความสุขสบาย ย่อมตั้งมั่น
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ภิกษุนั้น เป็นผู้เพ่งเล็งอยู่ด้วยดี ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นอย่างนั้น
............................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๑
โพชฌงคบรรพ
[๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ โพชฌงค์ ๗ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ
โพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อ สติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต
ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
หรือเมื่อ สติสัมโพชฌงค์ ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด
ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ...
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณภายในจิต ...
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ...
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ...
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ...
อีกอย่างหนึ่ง
เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต
ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
หรือ เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา.
อนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด
ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด
ย่อมรู้ชัดประการ นั้น ด้วย ดังพรรณนามาฉะนี้.
ภิกษุย่อม
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่
อนึ่งสติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัย ระลึก เท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเป็นธรรมในธรรม คือโพชฌงค์ ๗ |