พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๗
สุขุมสูตร
[๓๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีเต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากิน อยู่ที่ ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง ในเวลาเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็ได้เที่ยวหากินอยู่ที่ริมฝั่ง แม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง
ในเวลาเย็นเต่าได้แลเห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินอยู่ แต่ไกล แล้วก็หด อวัยวะ ๕ ทั้งหัว (หดขาทั้ง ๔ มีคอเป็นที่ ๕) เข้าอยู่ในกระดอง ของตนเสีย มีความ ขวนขวายน้อย นิ่งอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็ได้แลเห็นเต่า ซึ่งเที่ยวหากินอยู่แต่ไกล แล้วเข้าไปหาเต่าถึงที่แล้วได้ยืนอยู่ใกล้เต่าด้วยคิดว่า เวลาใดเต่าตัวนี้จักเหยียดคอ หรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา เวลานั้นเราจักงับมันฟาดแล้วกัดกินเสีย เวลาใด เต่าไม่เหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา เวลานั้นสุนัขจิ้งจอกก็หมดความอาลัย ไม่ได้โอกาส จึงหลีกไปจากเต่าฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารผู้ใจบาปอันท่านทั้งหลาย เข้าใกล้อยู่เสมอๆ แล้วก็ คิดว่า บางทีเราจะพึงได้โอกาส ทางจักษุ หู จมูกลิ้น กายหรือใจ ของภิกษุเหล่านี้บ้าง
เพราะฉันนั้นแล ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม ในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความ สำรวมในมนินทรีย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลาใด ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เวลานั้นมารผู้ใจบาป ก็จักหมดความอาลัย ไม่ได้โอกาส หลีกจากท่านทั้งหลายไป ดุจสุนัขจิ้งจอก หมดความอาลัยหลีกจากเต่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๒๑] ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นในมโนวิตก อันตัณหามานะ และทิฐิไม่อิงอาศัย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดับกิเลสได้แล้ว ไม่ติเตียนผู้ใดผู้หนึ่ง เหมือนเต่าหดคอ และขาอยู่ในกระดองของตน ฉะนั้น
|