เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 โรหิตัสสสูตรที่ ๑ และ ๒ ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ได้มีการไป แต่อยู่ในกายที่มีสัญญาและใจนี้เท่านั้น 677
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

โรหิตัสสสูตรที่ ๑

โรหิตัสสเทวบุตร (เทวดา) เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่เชตวันวิหาร ในปฐมยาม มีรัศมีงามยิ่งนัก ถามพระองค์ว่า ที่ใด สัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ หรือเพื่อจะทรงถึงซึ่งที่สุด แห่งโลก ที่ควรรู้ คนเห็น และควรไป

โรหิตัสสเทวบุตร เล่าว่าสมัยเป็นมนุษย์ เคยเป็นฤาษี ชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ ไปในอากาศได้ ความเร็วเปรียบได้กับความเร็วของธนู พึงยิงลูกศรอันเบา ให้ผ่านเงาตาล ด้านขวาง ไปได้ โดยไม่สู้ยาก การยกย่างเท้าแต่ละก้าว เปรียบด้วยสมุทร ด้านตะวันตก ไกลจากสมุทร ด้านตะวันออก ระหว่างที่เป็นมนุษย์(ฤาษี)เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยวการลิ้ม เว้นจากการ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ และ การบรรเทา ความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงที่สุดของโลก เพราะทำกาละเสียก่อน

พระศาสดาตรัสว่า พระองค์จะไม่กล่าวว่า สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเราย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่งโลก แต่เราย่อม บัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และ ปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับ แห่งโลก (อริยสัจ) ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา และมีใจนี้เท่านั้น ฯ

สรุป ที่สุดของทุกข์ คือขันธ์5 หรือกายที่มีสัญญาและใจนี้เท่านั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------

โรหิตัสสสูตรที่ ๒
(เนิ้อหาทั้งหมดเช่นเดียวกับสูตรที่ ๑)




 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๔๗-๕๐

โรหิตัสสสูตรที่ ๑


           [๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล โรหิตัสสเทวบุตร(เทวดา) เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวัน ทั้งสิ้น ให้สว่าง ไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (๑) สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดหนอแล (๒) พระองค์อาจหรือหนอเพื่อ จะทรงทราบ เพื่อจะทรงเห็น หรือเพื่อจะทรงถึงซึ่งที่สุดแห่งโลก ด้วยการเสด็จไป

           ในโอกาสนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

           ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่า เป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป ฯ

           โร. อัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาค ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตายย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็น ฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้น เปรียบได้กับ นายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว เชี่ยวชาญ เคยแสดงให้ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศรอันเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้ โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้น การยก ย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์ เปรียบด้วยสมุทร ด้านตะวันตก ไกลจากสมุทร ด้านตะวันออก ฉะนั้น

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็นปานนี้ว่า เราจักถึงที่สุดแห่งโลก ด้วยการไป เกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์นั้น ผู้ประกอบด้วยกำลังเร็วเห็นปานนั้น และ ด้วยการ ยก ย่างเท้า เห็นปานนั้น ข้าพระองค์นั้นแล เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ และ การบรรเทา ความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี ในคราวที่มนุษย์ มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุดแห่งโลก ได้ทำกาละเสีย ในระหว่างทีเดียว น่าอัศจรรย์พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้นพระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาค ตรัสพระ ดำรัสนี้ว่า

           ดูกรอาวุโสสัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว

           พ. ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อม ไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเราย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุด แห่งโลก

           แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และ ปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มี สัญญา และมีใจนี้ เท่านั้น ฯ


           ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลก อันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป และการเปลื้องตน ให้พ้นจากทุกข์ ย่อมไม่มี เพราะไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดี ถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาป อันสงบ รู้ที่สุด แห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้ และโลกหน้า

ฟังคลิป



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๘

โรหิตัสสสูตรที่ ๒
(เนิ้อหาทั้งหมดเช่นเดียวกับสูตรที่ ๑)

           [๔๖] ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีนั้นผ่านไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว โรหิตัสสเทวบุตร มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเรา ถึงที่อยู่ อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามเราว่า

            ข้าแต่พระองค์เจริญ สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตายย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดหนอแล พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อจะทรงทราบ เพื่อจะทรงเห็น หรือเพื่อจะทรงถึงที่สุดแห่งโลก ด้วยการไปในโอกาสนั้นดังนี้ เมื่อเทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นว่า

           ดูกรอาวุโสสัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว โรหิตัสสเทวบุตร ได้กล่าว กะเราว่า น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุด แห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้านมีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้น เปรียบได้กับ นายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว เคยแสดงให้ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศร อันเบา ให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้นการยกย่างเท้าแต่ละก้าว ของข้าพระองค์ เปรียบด้วยสมุทรด้านตะวันตกไกลจากสมุทรด้านตะวันออกฉะนั้น

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็นปานนี้ว่า เราจักถึงที่สุดแห่งโลก ด้วยการไป ดังนี้ได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์นั้น ผู้ประกอบด้วยกำลังเร็วเห็นปานนั้น และด้วยการยกย่างเท้าเห็นปานนั้นข้าพระองค์นั้นแล เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเว้นจากการหลับ และการบรรเทาความ เหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปีในคราวที่มนุษย์มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุดแห่งโลก ได้ทำกาละเสียในระหว่างทีเดียว น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาค ตรัสพระดำรัสนี้ว่า

           ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป

           ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อเทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะเทวบุตรว่า ดูกรอาวุโสสัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไปและเราย่อมไม่กล่าว การกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่ง โลก แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีจิตนี้เท่านั้น

           ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลกอันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป และการ เปลื้องทุกข์ ย่อมไม่มี เพราะไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดีถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาปอันสงบ รู้ที่สุดแห่ง โลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้ และโลกหน้า

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์