พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ หน้าที่ ๑๙
ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พระอัญญาโกณฑัญญะสำเร็จเป็นอรหันต์องค์แรก
[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรม แล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจาก ถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของ พระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้ อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น.
............................................................................................
พระวัปปะ และ พระภัททิยะ สำเร็จเป็นอรหันต์องค์ที่ ๒ และ ๓
[๑๙] ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอน ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ จากนั้นด้วยธรรมีกถา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ ท่านพระวัปปะ และ ท่านพระภัททิยะ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.
ท่านทั้งสองนั้น ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระ ผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสองพึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มี พระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งสองจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไป ว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งสองจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุทั้งสองนั้น.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวาย ได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือ จากนั้นด้วยธรรมีกถา.
ภิกษุเที่ยว บิณฑบาต นำบิณฑบาตใดมา ทั้ง ๖ รูป ก็เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนั้น.
............................................................................................
พระมหานามะ และ พระอัสสชิ สำเร็จเป็นอรหันต์องค์ที่ ๔ และ ๕
วันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็น ธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ท่าน พระมหานามะ และท่าน พระอัสสชิ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความ ดับเป็นธรรมดา.
ท่านทั้งสองได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อ พระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสอง พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนัก พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งสองจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งสองจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุทั้งสองนั้น.
ข้อสังเกตุ : ปัจจวัคคีทั้ง5 สำเร็จเป็นอรหันต์แล้วจึงบวช
ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร
[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูป ว่ารูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิดวิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้นวิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิดวิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
.................................................................................
ภ. เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
.................................................................................
ภ. สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
.................................................................................
ภ. สังขารทั้งหลาย เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
.................................................................................
ภ. วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ
[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
เธอทั้งหลาย พึงเห็นรูปนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือ ภายนอก หยาบ หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า เวทนา เธอทั้งหลาย พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือ ภายนอก หยาบ หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า เวทนา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ สังขาร เธอทั้งหลายพึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตนของเรา.
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ ภายนอกหยาบ หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า วิญญาณ เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้นเมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิต ของผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์ พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อนัตตลักขณสูตร จบ
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.
|