เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  โกฏฐิกสูตร : พระมหาโกฏฐิกะ ถามข้อสงสัย กับพระสารีบุตร 648
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

พระมหาโกฏฐิกะ ถามข้อสงสัย กับพระสารีบุตร
จักษุ เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ
หู เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียง เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหู
จมูก เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกลิ่น กลิ่นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจมูก ฯลฯ ..... หรือ

พระสารีบุตร ตอบว่า
จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ หามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น
เพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น

หูเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียงเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหู หามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในหู และเสียงนั้น
........

โคดำ กับ โคขาว เขาผูกติดกันด้วยสายทาม หรือด้วยเชือก เส้นเดียวกัน หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า โคดำเกี่ยวเนื่องกับ โคขาวโคขาว เกี่ยวเนื่องกับโคดำดังนี้ บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ จักษุจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป หรือรูปจักเป็น เครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดย ชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะจักษุไม่เป็นเครื่องเกาะ เกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็น เครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูป ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น เพราะฉะนั้นการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความ สิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
พระโสตของพระผู้มีพระภาค มีอยู่แท้... พระนาสิกของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ ….พระนาสิกของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ …พระชิวหาของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ ....พระกายของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ ...พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้  แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นแล้ว

 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๓

โกฏฐิกสูตร


          [๒๙๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิกะ อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่พักผ่านแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกรท่านพระสารีบุตร

จักษุ เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ
หู เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียง เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหู
จมูก เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกลิ่น กลิ่นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจมูก
ลิ้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้น
กาย เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกาย
ใจ เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ หรือ

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ดูกรท่านโกฏฐิกะ

จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ หามิได้
ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น

หูเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียงเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหู หามิได้
ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในหู และเสียงนั้น

จมูกเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกลิ่น กลิ่นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจมูก หามิได้
ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจมูกและกลิ่นนั้น

ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้น หามิได้
ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยลิ้นกับรสทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในลิ้น และรสนั้น

กายเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกาย หามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในกายและโผฏฐัพพะนั้น

ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ หามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น

          [๒๙๖] ดูกรท่านโกฏฐิกะ โคดำ กับ โคขาวขาผูกติดกันด้วยสายทาม หรือด้วยเชือก เส้นเดียวกัน หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า โคดำเกี่ยวเนื่องกับ โคขาวโคขาว เกี่ยวเนื่องกับโคดำดังนี้ บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ ฯ

ก. ดูกรท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่อย่างนั้น โคดำไม่เกี่ยวเนื่องกับโคขาว ทั้งโคขาว ก็ไม่เกี่ยวเนื่อง กับโคดำ โคดำกับโคขาวนั้นเขาผูกติดกันด้วยสายทาม หรือด้วยเชือก เส้นเดียวกัน สายทาม หรือเชือกนั้นเป็นเครื่องเกี่ยวเนื่องในโคทั้งสอง นั้นฉันใด ฯ

สา. ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุเป็นเครื่องเกาะ เกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะ เกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ และรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ

ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจ และธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะ เกี่ยวในใจ และธรรมารมณ์นั้น ฯ

          [๒๙๗] ดูกรท่านโกฏฐิกะ จักษุจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป หรือรูป จักเป็น เครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความ สิ้นทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะจักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็น เครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและ รูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น เพราะฉะนั้นการอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ ฯลฯ

ใจจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ หรือธรรมารมณ์จักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ของใจ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ของธรรมารมณ์ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่อง เกาะ เกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความ สิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ

ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายแม้นี้จักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ และ รูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น เพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น

          [๒๙๘] ดูกรท่านโกฏฐิกะ
พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

พระโสตของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ยังทรงฟังเสียงด้วยพระโสต แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

พระนาสิกของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงสูดกลิ่นด้วยพระนาสิก แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

พระชิวหาของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหา แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

พระกายของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกาย แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วย พระมนัส
แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นแล้ว

ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายนี้ จักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ และรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ

ใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว ในใจและธรรมารมณ์นั้น

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์