พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๒-๓๑๔
สังโยชนสูตร
[๕๓๗] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากด้วยกัน อยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า มัจฉิกาสณฑ์ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เถระมากด้วยกัน กลับจากบิณฑบาต ภายหลัง ภัตนั่งประชุมสนทนากันที่โรงกลม ได้สนทนากันว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน บรรดาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ภิกษุผู้เถระบางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน บางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดีสังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน
[๕๓๘] ก็สมัยนั้นแล จิตตคฤหบดีได้ไปยังบ้านส่วยชื่อมิคปถกะ ด้วยกรณียกิจ บางอย่าง ได้สดับข่าวว่า ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงกลม ได้สนทนากันว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน บรรดาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นภิกษุผู้เถระบางพวก พยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน บางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดีสังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน
[๕๓๙] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดี ได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เจริญ กระผมได้สดับข่าวว่า ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจาก บิณฑบาต ภายหลัง ภัตแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงกลมได้สนทนากันว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรม ก็ดี
มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่า
มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้น ต่างกัน
จิตตคฤหบดี ได้กล่าวว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลายธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน ถ้ากระนั้น กระผม จักอุปมา ให้ฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมเข้าใจ เนื้อความแห่งภาษิต แม้ด้วยข้ออุปมาฯ
[๕๔๐] ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เปรียบเหมือนโคดำตัวหนึ่ง โคขาว ตัวหนึ่ง เขาผูกด้วยทาม หรือ เชือกเส้นเดียวกัน ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โคดำ ติดกับ โคขาว โคขาว ติดกับ โคดำ ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกละหรือ
ภิ. ไม่ถูก คฤหบดี เพราะโคดำไม่ติดกับโคขาว แม้โคขาวก็ไม่ติดกับโคดำ ทามหรือ เชือกที่ผูกโคทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องผูก
จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
จักษุไม่ติดกับรูป รูปไม่ติดกับจักษุ ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
หูไม่ติดกับเสียง เสียงไม่ติดกับหู ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียงทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
จมูกไม่ติดกับกลิ่น กลิ่นไม่ติดกับจมูก ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูก และกลิ่น ทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
ลิ้นไม่ติดกับรส รสไม่ติดกับลิ้น ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรสทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
กายไม่ติดกับโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะไม่ติดกับกาย ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัย กาย และโผฏฐัพพะทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
ใจไม่ติดกับธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ไม่ติดกับใจ ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจ และ ธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด
ภิ. ดูกรคฤหบดี การที่ปัญญาจักษุของท่าน หยั่งทราบในพระพุทธพจน์ ที่ลึกซึ้ง ชื่อว่า เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว |