เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 สาเหตุ ๔ ประการ ที่พระองค์กลับมาฉันอาหาร 645
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

สาเหตุที่พระองค์กลับมาฉันอาหาร

1. ไม่มีใครต้องทรมานอันแสนสาหัสดังเช่นพระองค์ แม้เพียรเช่นนี้ก็ยังไม่บรรลุ
เรามีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คงไม่มีใครที่ต้องทุกขเวทนา อันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่ง ถึงเพียงเท่านี้ แม้พระองค์จะบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า ก็ไม่ได้บรรลุ ญาณทัศนะอันวิเศษเพื่อการตรัสรู้

2. เคยบรรลุปฐมฌาน สงัดจากกามและอกุศล เกิดปิติสุข คิดว่าหนทางนี้แหละ
เราจำได้ว่าในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้า มีเงาอันเย็น สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้กระมังหนอจะพึงเป็นทาง เพื่อความตรัสรู้ พระองค์พิจารณาแล้ว คิดว่าทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้

3. ไม่ควรกลัวสุขอันเว้นจากกาม และจากอกุศล
เรามีความคิดเห็นว่า เรากลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ? จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุข อันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม.

4. การทรมานกายจนซูบผอม ไม่น่าจะเป็นหนทาง
เรานั้นมีความคิดเห็นว่า อันบุคคลผู้มีกาย อันถึงความซูบผอมเหลือทนอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย จึงควรพึงกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมกุมมาส เถิด
 
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎกหน้าที่ ๕๐๔


สาเหตุที่พระองค์กลับมาฉันอาหาร


          [๗๕๑] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไรเราพึงกินอาหาร ผ่อนลงวันละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้างเถิด.

เราจึงกินอาหารผ่อนลงทีละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง.

เมื่อเรากินอาหารผ่อนลงทีละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อ ถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้างเท่าเยื่อ ในเมล็ดบัวบ้าง กายก็ถึงความซูบผอมลง เหลือเกิน.

เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้นเอง อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา เป็นเหมือนเถาวัลย์ มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำ ฉะนั้น.

ตะโพกของเราเป็นเหมือนดังเท้าอูฐ กระดูกสันหลังของเราผุดระกะ เปรียบเหมือน เถาวัลย์ ชื่อวัฏฏนาวฬีฉะนั้น. ซี่โครงของเราขึ้นนูนเป็นร่อง ดังกลอน ศาลาเก่า มีเครื่องมุงอันหล่นโทรมอยู่ฉะนั้น. ดวงตาของเราถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ปรากฏ เหมือนดวงดาวในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น. ผิวศีรษะของเราที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ราวกับผลน้ำเต้าที่เขาตัดมาแต่ยังสด ถูกลมและแดดแผดเผา ก็เหี่ยวแห้งไปฉะนั้น.

เราคิดว่าจักลูบผิวหนังท้อง ก็จับถูกกระดูกสันหลังด้วย คิดว่าจักลูบกระดูกสันหลัง ก็จับถูกผิวหนังท้องด้วย ผิวหนังท้องของเรา กับกระดูกสันหลังติดถึงกัน. เรานั้น คิดว่า จักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็เซซวนล้มลง ณ ที่นั้นเอง. เรานั้นเมื่อจะให้กายนี้ แลสบาย จึงเอาฝ่ามือลูบตัว เมื่อเราเอาฝ่ามือลูบตัว ขนอันมีรากเน่าก็ร่วงตกจากกาย.

มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมดำไป. บางพวก กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ดำเป็นแต่คล้ำไป. บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า จะว่า พระสมณโคดมดำไปก็ไม่ใช่ จะว่าคล้ำไปก็ไม่ใช่ เป็นแต่พร้อยไป.

ดูกรภารทวาชะ ผิวพรรณอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของเรา ถูกกำจัดเสียแล้ว เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง.


ทุกขเวทนาที่ไม่มีใครยิ่งกว่า ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

(สาเหตุ 1)
          [๗๕๒] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในอดีต ได้เสวยทุกขเวทนา อันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความ เพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ แม้สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในอนาคต จักเสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะ ความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้.

ถึงสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในบัดนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่ง ก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้.


ถึงเช่นนั้นเราก็ไม่ได้ บรรลุญาณทัศนะอันวิเศษของ พระอริยะ อย่างสามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อความตรัสรู้ กระมังหนอ.

(สาเหตุ 2)
เรามีความคิดเห็นว่า ก็เราจำได้อยู่ ในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ ร่มไม้หว้า มีเงาอันเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้กระมังหนอ จะพึงเป็นทาง เพื่อความตรัสรู้.
เราได้มีวิญญาณอันแล่นไปตามสติว่า ทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้.

(สาเหตุ 3)

เรามีความคิดเห็นว่า เรากลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ? จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุข อันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม

(สาเหตุ 4)
          [๗๕๓] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า อันบุคคลผู้มีกาย อันถึงความซูบผอมเหลือทนอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมกุมมาสเถิด เราจึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส. สมัยนั้น ภิกษุ(ปัญจวัคคีย์) ๕ รูป บำรุงเราอยู่ด้วยหวังใจว่า พระสมณโคดม จักบรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้น แก่เราทั้งหลาย.

แต่เมื่อเรากินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมกุมมาส. พวกภิกษุ (ปัญจวัคคีย์) ๕ รูปนั้น เบื่อหน่ายเราหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์