(เนื้อหาพอสังเขป) ทำทุกกรกิริยา ทรงเล่าการบำเพ็ญจิต บำเพ็ญกายอย่างทรมานด้วยวิธีต่างๆ อย่างชนิดที่ไม่มีมนุษย์คนไหนทำได้ เสมอเหมือน เราพึงกดฟัน ด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ทั้งสอง. เรากลั้นลม อัสสาสะ ปัสสาสะ(ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก) ทั้งทางปากและ ทางจมูก จนมีเสียงออกทางช่องหูทั้งสอง ลมเสียด แทงที่ท้อง เหมือนบุรุษเชือดเนื้อโค เทวดาขอร้อง เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมยังไม่ทำกาละ แต่กำลังทำกาละ. เทวดาบางพวก เข้าใจว่า พระสมณโคดม ทำกาละแล้ว บางพวกเข้าใจว่ากำลังทำกาละ บางพวกเข้าใจ อยู่ใน วิหารธรรมของ พระอรหันต์ ทันใดนั้น เทวดาเหล่านั้นได้เข้ามาหาเรา แล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติเพื่อ อดอาหาร โดย ประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติเพื่อ อดอาหารโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะแทรก ทิพย์โอชา ลงตามขุมขน ของท่าน ท่านจักได้เยียวยาชีวิต ไว้ด้วย ทิพโอชานั้น แต่พระองค์ปฏิเสธ คำขอนั้น เพราะจะ กลาย เป็นการกล่าวมุสา เพราะได้ปฏิญาณไว้แล้วว่าจะอดอาหาร พระองค์มีความคิดว่า จะกินอาหารผ่อนลงทีละน้อยๆ คือวันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพู บ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง จนทำให้ร่างกายซูบผอม อวัยวะ น้อยใหญ่ เป็นเหมือน เถาวัลย์ มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำ ตะโพกของเราเป็นเหมือนดังเท้าอูฐ ซี่โครงของเรา ขึ้นนูนเป็นร่อง ดังกลอนศาลา ดวงตาของเราถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ผิวหนังท้อง กับกระดูกสันหลังติดถึงกัน เมื่อจะถ่าย อุจจาระหรือ ปัสสาวะ ก็เซซวนล้มลง เมื่อเอาฝ่ามือลูบตัว ขนอันมีรากเน่าก็ร่วงตกจากกาย ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ได้เสวยทุกขเวทนา อันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิด เพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ แม้สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในอนาคต จักเสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะ ความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๓สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๐๔ ทำทุกกรกิริยา [๗๔๔] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงกดฟัน ด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น ให้เร่าร้อนเถิด ดังนี้. เราจึงกดฟันด้วยฟันกดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น ให้เร่าร้อนอยู่. เมื่อเรากดฟันด้วยฟันกดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น ให้เร่าร้อนอยู่. เมื่อเรากดฟันด้วยฟันกดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้ให้แน่น เหงื่อไหลออก จากรักแร้ทั้งสอง. ดูกรภารทวาชะ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่ศีรษะ หรือที่คอ แล้วกดบีบไว้แน่น ให้ร้อนจัด ฉันใด เมื่อเรากดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบไว้แน่นให้ร้อนจัด ก็ฉันนั้น เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง. ถึงเช่นนั้น เราก็ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติมั่นไว้ ไม่ฟั่นเฟือน แต่ว่ากายที่ปรารภความเพียรของเรา อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. กลั้นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก [๗๔๕] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌาน อันไม่มีลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ทั้งทางปากและ ทางจมูก. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก และทางจมูก ก็มีเสียงออก ทางช่องหูทั้งสองดังเหลือประมาณ. เสียงลมในลำสูบของนายช่างทอง ที่กำลัง สูบอยู่ ดังเหลือประมาณ ฉันใด เมื่อเรา กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปาก และทางจมูก ก็มีเสียงลมออกทางช่องหูทั้งสอง ดังเหลือประมาณ ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราปรารภ ความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือนแต่ว่ากาย ที่ปรารภความเพียร ของเรา อันความเพียร ที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับ กระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๖] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌาน อันไม่มีลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง ช่องหู ลมก็เสียดแทงศีรษะเหลือทน. บุรุษมีกำลังพึงเชือดกระหม่อมด้วยมีดโกน อันคม ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมก็เสียดแทงศีรษะเหลือทน ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้นเราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่ว่ากาย ที่ปรารภความเพียรของเรา อันความเพียรที่ทน ได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๗] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌาน อันไม่มีลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็ให้ปวดศีรษะเหลือทน. บุรุษมีกำลัง พึงเอาเส้นเชือกเกลียวเขม็ง รัดที่ศีรษะ ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ก็ให้ปวดศีรษะเหลือทน ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้นเราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ ปรารภความเพียรของเรา อันความเพียร ที่ทนได้ยากนั้นแล เสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๘] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌาน อันไม่มีลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง ช่องหู ลมก็เสียดแทง พื้นท้องเหลือประมาณ. นายโคฆาต หรือลูกมือนายโคฆาต ผู้ขยัน พึง เชือดพื้นท้อง ด้วยมีด สำหรับเชือดเนื้อโค ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมก็ เสียดแทงพื้นท้องเหลือประมาณ ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราก็ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อนตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ปรารภ ความเพียรของเราอันความเพียร ที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง จึงกระสับ กระส่าย ไม่สงบระงับ. [๗๔๙] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌาน อันไม่มีลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. เราจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งทางปาก ทางจมูกและ ทางช่องหู ก็มีความร้อน ในกายเหลือทน. บุรุษมีกำลังสองคน จับบุรุษที่มีกำลัง น้อยกว่า คนละแขน ย่างรมไว้ในหลุมถ่านเพลิง ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ทั้งทาง ปาก ทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความร้อนในกายเหลือทน ฉันนั้น. ถึงเช่นนั้น เราก็ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้มั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่กายที่ ปรารภความเพียร ของเราอันความเพียร ที่ตนได้ยากนั้นแล เสียดแทง จึงกระสับกระส่าย ไม่สงบระงับ. ดูกรภารทวาชะ โอ เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ทำกาละแล้ว. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ยังไม่ทำกาละ แต่กำลังทำกาละ. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม แม้กำลังทำกาละก็หามิได้ พระสมณโคดม เป็นพระอรหันต์ ความอยู่เห็นปานนี้นั้น เป็นวิหารธรรมของพระอรหันต์. [๗๕๐] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงปฏิบัติ เพื่ออดอาหารโดยประการทั้งปวงเถิด. เทวดาขอร้อง ทันใดนั้น เทวดาเหล่านั้นได้เข้ามาหาเรา แล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติเพื่ออดอาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติเพื่อ อดอาหารโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะแทรกทิพโอชา ลงตามขุมขน ของท่าน ท่านจักได้เยียวยาชีวิตไว้ด้วยทิพโอชานั้น. เรานั้นมีความคิดเห็นว่า เราเองปฏิญาณการไม่บริโภคอาหารโดยประการ ทั้งปวง แต่ เทวดาเหล่านี้จะแทรกทิพโอชา ลงตามขุมขนของเรา ทั้งเราก็จักเยียวยา ชีวิตไว้ได้ ด้วยทิพโอชานั้น ข้อนั้นพึงเป็นมุสาแก่เรา ดังนี้. เราบอกเลิกแก่เทวดา เหล่านั้น จึงกล่าวว่า อย่าเลย