เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 สังคัยหสูตรที่ ๒ (มาลุงกยบุตร) สักแต่ว่า 623
 

สักแต่ว่า
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ(กลิ่น รส สัมผัส) และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น

ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว
เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้ง เธอจักเป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้ง



 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค หน้าที่ ๗๑



สังคัยหสูตรที่ ๒
มาลุกยบุตร

(บางพระสูตรใช้คำว่า มาลุงกยบุตร อ้างอิง )
แต่บาลีใช้คำว่า
มาลุกฺยปุตฺโต



           [๑๓๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตร มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรด แสดงธรรม แก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

          ดูกรมาลุกยบุตร ในการที่เธอขอโอวาทนี้ในบัดนี้ เราจักบอกกะพวก ทหรภิกษุ (ภิกษุหนุ่ม) ทำไม ก็ท่านใดแก่แล้ว เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ย่อมขอโอวาทโดยย่อ เราจักบอกแก่เธอนั้น ฯ

          [๑๓๒] มา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แก่แล้ว เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยแล้วก็จริง ถึงกระนั้นขอพระผู้มีพระภาคผู้สุคต โปรดแสดงธรรม โดยย่อ แก่ข้าพระองค์เถิด ไฉนข้าพระองค์พึงรู้ถึงพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค พึงเป็น ผู้ได้รับพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฯ

พ. ดูกรมาลุกยบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

(1) รูป ที่พึงรู้แจ้งด้วย ตา(จักษุ)เหล่าใด
เธอไม่เห็นแล้ว (อนาคต)
ทั้งไม่เคยเห็นแล้ว (อดีต)
ย่อมไม่เห็นในบัดนี้ด้วย (ปัจจุบัน)
ความกำหนดว่า เราเห็น(ทั้งอนาคต อดีต ปัจจุบัน) มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในรูป เหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ

(2) เสียง ที่พึงรู้แจ้งด้วย หู เหล่าใด
เธอไม่ได้ฟังแล้ว
ทั้งไม่เคยได้ฟังแล้ว
ย่อมไม่ได้ฟังในบัดนี้ด้วย

ความกำหนดว่า เราได้ฟัง มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในเสียงเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ

(3) พ. กลิ่น ที่พึงรู้แจ้งด้วย จมูก เหล่าใด
เธอไม่ได้ดมแล้ว
ทั้งไม่เคยได้ดมแล้ว
ย่อมไม่ได้ดมในบัดนี้ด้วย

ความกำหนดว่า เราได้ดม มิได้มีแก่เธอด้วย 
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในกลิ่นเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ

(4) รส ที่พึงรู้แจ้งด้วย ลิ้น เหล่าใด
เธอไม่ได้ลิ้มแล้ว
ทั้งไม่เคยได้ลิ้มแล้ว 
ย่อมไม่ได้ลิ้มในบัดนี้ด้วย

ความกำหนดว่า เราได้ลิ้ม มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือความรักในรสเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ

(5) โผฏฐัพพะ ที่พึงรู้แจ้งด้วย กาย เหล่าใด
เธอไม่ได้ถูกต้อง
(กาย) แล้ว
ทั้งไม่ได้เคยถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่ได้ถูกต้องในบัดนี้ด้วย
ความกำหนดว่า
เราถูกต้อง มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในโผฏฐัพพะเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ

(6) ธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้งด้วย ใจ เหล่าใด
เธอไม่ได้รู้แล้ว
ทั้งไม่ได้เคยรู้แล้ว
ย่อมไม่รู้ในบัดนี้ด้วย
ความกำหนดว่า
เรารู้ มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
---------------------------------------------------------------------------------

            [๑๓๓] พ. ดูกรมาลุกยบุตร ก็ในธรรมเหล่านั้น คือ
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ (กลิ่น รส สัมผัส)
และ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอจัก
เป็นเพียงแต่ว่าเห็น (ด้วยตา)
ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจัก
เป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง (ด้วยหู)
ในอารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เธอจัก
เป็นเพียงแต่ได้ทราบ (ด้วยจมูก ลิ้น กาย)
ในธรรมที่ได้รู้แจ้ง เธอจัก
เป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้ง (ธรรมารมณ์)

          ดูกรมาลุกยบุตร ในธรรมทั้งหลาย คือ รูป ที่ได้เห็น เสียง ที่ได้ฟัง อารมณ์ ที่ได้ทราบ และ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น
ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง
ในอารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว(กลิ่น รส สัมผัส) เธอจักเป็น เพียงแต่ได้ทราบ
ในธรรมที่ได้รู้แจ้งแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้งแล้ว

ในกาลใด ในกาลนั้น
เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่ถูกโทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะโมหะ
เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่ถูกโทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะโมหะ

ในกาลใด ในกาลนั้น
เธอจักไม่พัวพันในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบ หรือในธรรมารมณ์ที่ได้ รู้แจ้ง

ดูกรมาลุกยบุตร ในโลกนี้ก็ไม่มี ในโลกอื่นก็ไม่มี ในระหว่างโลกทั้งสอง  ก็ไม่มีนี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ
(*โลกนี้ โลกอื่น โลกทั้งสอง หมายถึง โลก อันเป็นภพแห่งการเกิด ย่อมไม่มีอีก)

....................................................................

มา. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารว่า
(มาลุงกยบุตรกล่าว)

          [๑๓๔] สติหลงไปแล้วเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ ในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรูป เป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์ อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าห่างไกลนิพพาน

สติหลงไปแล้ว เพราะได้ฟังเสียง บุคคลเมื่อใส่ใจ ถึงเสียงเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้น ตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีเสียงเป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสา เข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าห่างไกลนิพพาน

สติหลงไปแล้วเพราะได้ดมกลิ่น บุคคลเมื่อใส่ใจ ถึงกลิ่นเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีกลิ่นเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไป กระทบเมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าห่างไกลนิพพาน

สติหลงไปแล้ว เพราะลิ้มรส บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรสเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวย อารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ ในอารมณ์นั้นตั้งอยู่มีเวทนาอันมีรส เป็นแดนเกิดเป็นอเนก ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้
บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน

สติหลงไปแล้วเพราะถูกต้องโผฏฐัพพะ บุคคลเมื่อใส่ใจถึงโผฏฐัพพะเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนา อันมี โผฏฐัพพะเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไป กระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพานสติหลงไปแล้ว

เพราะรู้ธรรมารมณ์บุคคลเมื่อใส่ใจ ถึงธรรมารมณ์เป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวย อารมณ์นั้นทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีธรรมารมณ์เป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และ มีจิต อันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่ อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าห่างไกลนิพพาน ฯ

....................................................................

(มาลุงกยบุตรกล่าว)

          [๑๓๕] บุคคลนั้นเห็นรูปแล้ว มีสติไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย
มีจิตคลายกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจ อารมณ์นั้น ตั้งอยู่บุคคลนั้น เมื่อเห็นรูป และ เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้ มีสติ เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นได้ฟังเสียงแล้ว มีสติไม่กำหนัด ในเสียงทั้งหลายมีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์ นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อ ได้ฟังเสียงและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้ มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นเมื่อดมกลิ่นแล้ว มีสติไม่กำหนัดในกลิ่นทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่บุคคลนั้น เมื่อดมกลิ่นและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มี สติ เที่ยวไปฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นลิ้มรสแล้วมีสติไม่กำหนัดในรสทั้งหลาย
มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อ ลิ้มรสและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ฉันใด บุคคลนั้น เป็นผู้มีสติ เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่ สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นถูกต้องผัสสะแล้ว มีจิตไม่กำหนัดในผัสสะทั้งหลาย
มีจิตคลายกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่บุคคลนั้น เมื่อถูกต้องผัสสะ และ เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ทั้งหลาย
มีจิตคลายกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจ อารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้น เมื่อรู้ธรรมารมณ์และ เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใดบุคคลนั้น เป็นผู้มีสติ เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าใกล้นิพพาน ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาค ตรัส โดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารด้วยประการ ฉะนี้

....................................................................


          [๑๓๖] พ. ดูกรมาลุกยบุตร สาธุๆ เธอรู้ทั่งถึงเนื้อความแห่งธรรม ที่เรา กล่าวโดยย่อ ได้โดยพิสดารดีอยู่แล ว่า (พระพุทธเจ้าทวนคำพูดมาลุงกยบุตร)

          [๑๓๗] สติหลงไปเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิต กำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ อารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรูปเป็น แดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อบุคคล สั่งสมทุกข์ อยู่อย่างนี้ เรากล่าวว่าไกลนิพพาน ฯลฯ

          [๑๓๘] บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ มีจิตคลายกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจ อารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้น เมื่อรู้ธรรมารมณ์ และเสวยเวทนาอยู่ทุกข์สิ้นไป และไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้น เป็นผู้มีสติ เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ฯลฯ เรากล่าวว่าใกล้นิพพาน

          ดูกรมาลุกยบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรม ที่กล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดาร อย่างนี้แล ฯ

          [๑๓๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

          ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรเป็นผู้ๆเดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว ไม่ช้าก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตร ทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้อง การนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลท่านพระมาลุกยบุตร ได้เป็น อรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบสูตรที่ ๒

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์