|
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้า ๕๕
พุทธทำนาย
มนุษย์อายุ ๑๐ ปี จนถึง ๘๐,๐๐๐ ปี เมื่อนั้นเมตไตรย์ จักอุบัติ
[๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี ใน เมื่อมนุษย์มี อายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ปี จักสมควรมีสามีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มี อายุ๑๐ ปี รสเหล่านี้คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธาน ไปสิ้นดูกรภิกษุทั้งหลายในเมื่อมนุษย์ มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้* จักเป็นอาหาร อย่างดี *(กับแก้.. เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง)
ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนข้าวสุก ข้าวสาลีระคนกับเนื้อสัตว์ จักเป็นอาหาร อย่างดี ในบัดนี้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้ ก็จัก เป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมด สิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักรุ่งเรืองเหลือเกิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี แม้แต่ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และ คนทำกุศลจักมีแต่ไหน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลาย
จักไม่ปฏิบัติชอบในมารดา
จักไม่ปฏิบัติชอบในบิดา
จักไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ
จักไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์
จักไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล
เขาเหล่านั้นก็จักได้รับการบูชา และ ได้รับการสรรเสริญ เหมือนคนปฏิบัติชอบ ในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติ ชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อม ต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ในบัดนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่านี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยา ของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เปรียบเหมือน แพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตร ก็ดี
บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับ บุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิง กับพี่ชายก็ดี จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิด จะฆ่า กันอย่างแรงกล้า นายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้าเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่า อย่างแรงกล้าฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัปสิ้น ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักกลับได้ความสำคัญกันเองว่าเป็นเนื้อ ศัสตราทั้ง หลายอันคม จักปรากฏมีในมือของพวกเขา พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคม นั้นโดยสำคัญ ว่า นี้เนื้อ ดูกรภิกษุทั้งหลายครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้น บางพวกมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราอย่าฆ่าใครๆ และใครๆก็อย่าฆ่าเรา อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะ หรือซอกเขามีรากไม้ และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิต อยู่ เขาพากันเข้าไปตามป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะหรือซอกเขา มีรากไม้ และ ผลไม้ ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตอยู่ตลอด ๗ วัน เมื่อล่วง ๗ วันไปเขาพากันออก จากป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกัน และกันจักขับร้อง ดีใจ อย่างเหลือเกินในที่ประชุมว่า สัตว์ผู้เจริญ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่ หรือๆ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น สัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่าเราถึง ความ สิ้นญาติ อย่างใหญ่เห็นปานนี้ เหตุเพราะสมาทานธรรมที่เป็นอกุศล อย่ากระนั้นเลย เราควร ทำกุศล ควรทำกุศลอะไร เราควรงดเว้นปาณาติบาต ควรสมาทาน กุศลธรรมนี้แล้ว ประพฤติ เขาจักงดเว้นจากปาณาติบาต จักสมาทานกุศลธรรมนี้ แล้วประพฤติ เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม เขาจักเจริญ ด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อเขาเจริญด้วยอายุบ้างเจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุ ๑๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐ ปี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นสัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเจริญ ด้วยอายุ บ้างเจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม อย่ากระนั้นเลย เราควรทำ กุศลยิ่งๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอะไร เราควรงดเว้นจาก อทินนาทาน ควรงดเว้นจาก กาเมสุมิจฉาจารควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา ควรงดเว้น จากผรุสวาจา ควรงดเว้นจาก สัมผัปปลาปะ ควรละอภิชฌาควรละพยาบาท ควรละมิจฉาทิฐิ ควรละธรรม ๓ ประการ คืออธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉาธรรม
อย่ากระนั้นเลยเราควรปฏิบัติชอบในมารดา
ควรปฏิบัติชอบในบิดาควรปฏิบัติ ชอบ ในสมณะ
ควรปฏิบัติชอบในพราหมณ์
ควรประพฤติอ่อนน้อมต่อท่าน ผู้ใหญ่ ในตระกูล
ควรสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เขาเหล่านั้นจักปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบ ในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อม ต่อท่าน ผู้ใหญ่ ในตระกูล
จักสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ
เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม เหล่านั้น เขาเหล่านั้นจักเจริญด้วย อายุบ้าง จักเจริญ ด้วยวรรณะบ้าง
เมื่อเขาเหล่านั้นเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง
บุตรของคนผู้มีอายุ ๒๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๔๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้น ถึง ๘๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๘๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๑๖๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๑๖๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๓๒๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๓๒๐ ปี จักมีอายุเจริญ ขึ้น ถึง ๖๔๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๖๔๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒,๐๐๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔,๐๐๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๔,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๘,๐๐๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๘,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐,๐๐๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปีจักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔๐,๐๐๐ ปี
บุตรของคนผู้มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญ ขึ้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี จักเกิดมีอาพาธ๓ อย่าง คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้จักมั่งคั่ง และรุ่งเรือง มีบ้านนิคมและราชธานี พอชั่วไก่บินตก
ดูกรภิกษุทั้งหลายในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ประหนึ่งว่า อเวจีนรก จักยัดเยียด ไปด้วยผู้คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าสาลพฤกษ์ฉะนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เมืองพาราณสีนี้ จักเป็นราชธานี มีนามว่า เกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่ง และรุ่งเรืองมีพลเมืองมาก มีผู้คนคับคั่ง และ มีอาหาร สมบูรณ์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ในชมพูทวีปนี้จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นประมุข ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิ์ ทรงพระนาม ว่า พระเจ้าสังขะ ทรงอุบัติขึ้น ณ เกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม
เป็น พระราชาโดย ธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต
ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้วเป็นที่ ๗ พระราชบุตร ของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของ ข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้อง ใช้ศัสตรา ครอบครอง แผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรง พระนาม ว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อม ด้วย วิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษ ที่ควร ฝึกไม่มี ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกพระธรรมเหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดย ชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้ง โลก เป็นสารถีฝึก บุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่น ยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง แล้วทรงสอน หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคต ในบัดนี้ ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วย ตถาคตเองแล้ว
สอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาค พระนามว่า เมตไตรย์พระองค์นั้นจักทรง แสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง บริบูรณ์สิ้นเชิง พระผู้มีพระภาค พระนามว่า เมตไตรย์พระองค์นั้นจักทรง
บริหารภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนตถาคตบริหารภิกษุ สงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้นฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะจัก(มหาจักรพรรดิ์) ทรงให้ยกขึ้น ซึ่งปราสาท ที่พระเจ้า มหาปนาทะ ทรงสร้างไว้ แล้วประทับอยู่ แล้วจักทรงสละ จักทรงบำเพ็ญ ทาน แก่สมณ พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และ ยาจกทั้งหลาย จักทรง ปลงพระเกศาและ พระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากเรือน ทรงผนวช เป็นบรรพชิต ในสำนักของ พระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ท้าวเธอทรงผนวช อย่างนี้แล้ว ทรงปลีกพระองค์ อยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน ส่งไปแล้ว ไม่ช้านักก็จักทรงทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย พากันออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบ ต้องการ อันเป็น ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วย พระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์ เอง ในทิฐธรรมเทียวเข้าถึงอยู่
[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรม เป็นเกาะ มีธรรมเป็น ที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไรเล่าฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็น เกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างนี้แล ฯ
[๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัย อันสืบเนื่องมา
จากบิดาของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัย อันสืบมาจากบิดาของตน จักเจริญทั้งด้วยอายุ จักเจริญทั้งด้วยวรรณะ จักเจริญทั้ง ด้วยสุข จักเจริญทั้งด้วยโภคะ จักเจริญทั้งด้วยพละฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องอายุของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
เจริญอิทธิบาท ประกอบด้วย ฉันทะสมาธิปธาน สังขาร
เจริญอิทธิบาท ประกอบด้วย วิริยะสมาธิปธาน สังขาร
เจริญอิทธิบาทประกอบด้วย จิตตสมาธิปธานสังขาร
เจริญอิทธิบาทประกอบด้วย วิมังสาสมาธิปธาน สังขาร
เธอนั้น เพราะเจริญอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เพราะกระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เมื่อปรารถนา ก็พึงตั้งอยู่ได้ถึงกัป ๑ หรือเกินกว่ากัป ๑
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังใน พระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรมีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่อง วรรณะ ของภิกษุฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องสุขของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแก่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความ ผ่องใส แห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไปไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขามีสติ มี สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์ อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องสุขของภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยมีจิต ประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
ด้วยจิต ประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยมีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
ด้วยจิตประกอบด้วยมุทิตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มี ความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยมีจิตประกอบ ด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้ง เบื้องบนเบื้องล่าง เบื้องขวาง
ด้วยจิตประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความ เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องโภคะ ของภิกษุฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องพละของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ และ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในทิฐธรรมเทียว เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องพละของภิกษฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นแม้กำลังสักอย่างหนึ่งอื่น อันข่มได้แสนยาก เหมือนกำลังของมารนี้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้ อย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นกุศลธรรม ทั้งหลายฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชม พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วดังนี้แลฯ
จบ จักกวัตติสูตร ที่ ๓
|