เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานเห็นได้ยากยิ่ง 529
 
ท่านพระสารีบุตร กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข
พระอุทายี : ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร
สารีบุตร : ดูก่อนอาวุโส นิพพานนี้ ไม่มีเวทนา นั่นแหละเป็นสุข



 
 
 


นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ไม่มี สุขอื่นนอกจาก ความสงบ (นิพพาน) ก็ไม่มี

ความหิว เป็นเครื่องเสียบแทงอย่างยิ่ง, สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อรู้ความข้อนั้น ตามที่เป็นจริงแล้ว ดับเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง.

ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ความคุ้นเคยกัน เป็นญาติอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

- ธ. ขุ. ๒๕/๔๒/๒๕.

…………………………………………………………………...........................................................……………………………..

นิพพานเห็นได้ยากยิ่ง

ขึ้นชื่อว่า นิพพาน อันบุคคลเห็นได้ยาก ไม่มีตัณหาเครื่องน้อมไป. เพราะว่านิพพานนั้น เป็นธรรมชาติจริงแท้ อันบุคคลเห็นไม่ได้ง่ายเลย.

ตัณหา อันเราแทงตลอดแล้ว เพราะเรารู้อยู่ เห็นอยู่ จึงไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ดังนี้แล.

- อุ. ขุ. ๒๕/๒๐๗/๑๕๙.

…………………………………………………………………...........................................................……………………………..

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๓๕

๓. นิพพานสูตร ว่าด้วยนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
(พระสารีบุตร กล่าวกับอุทายี และภิกษุทั้งหลาย)


[๒๓๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทก-นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตร กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส นิพพานนี้ ไม่มีเวทนา นั่นแหละเป็นสุข

ดูก่อนอาวุโส กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือรูป ที่จะพึงรู้แจ้งด้วย จักษุอันน่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รักยั่วยวนชวน ให้กำนัด เสียง ที่จะพึง รู้แจ้ง ด้วยหู ฯลฯ กลิ่น ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ รส ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ
โผฏฐัพพะ ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการนี้แล ดูก่อนอาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ประการนี้ นี้เรียกว่า กามสุข.

ดูก่อนอาวุโสภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุ นั้น อยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการ อันสหรคต(1) ด้วยกาม ย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้น เป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้น แก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียนฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยกามเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่าน แก่ภิกษุนั้น ข้อนั้น เป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้น เหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เรียกอาพาธนั้นว่า เป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านจะพึงทราบได้โดย ปริยายแม้นี้.
(1) (สหรคต แปลว่า ไปด้วยกัน ร่วมกัน..)

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ถ้าเมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิตกย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็น อาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้น แก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อ เบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิตกเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่าน แก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ นั้น ว่าเป็นทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบ ได้โดยปริยาย แม้นี้.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุตติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหาร-ธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยปีติย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียนฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยปีติ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วยวิหาร-ธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอุเบกขาย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอุเบกขา ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธนั้นว่า เป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้.

อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ฯลฯ ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่าอากาศไม่มีที่สุด ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันหรคตด้วยรูปย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์ พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยรูปย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธ นั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยาย แม้นี้.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วย วิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากาสานัญจายตนะ ย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากาสาณัญจายตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบโดยปริยายแม้นี้.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วย วิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคต ด้วยวิญญาณัญจายตนะย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วย วิญญาณัญจายตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกขดูก่อนอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้ปริยายแม้นี้.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้น อยู่ด้วย วิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใดสัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธ ของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วง เนวสัญญา นาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอาวุโสนิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดย ปริยายแม้นี้ ฯ

จบสูตรที่ ๓


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์