เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  นาคสูตร ทรงอุปมาภิกษุที่หลีกเร้น เช่นเดียวกับช้างป่าที่ออกจากโขลง 502
 
เนื้อหาในพระสูตรนี้พอสังเขป
ช่างที่ประเสริฐ ย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจการกระทำต่างๆของโขลงช้างด้วยกัน จึงหลบหลีกไปอยู่ตัวเดียว เช่นเดียวกับ ภิกษุเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้ห้อมล้อมมากมาย จึงควรหลีกหาเสนาสนะที่สงัด คือป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง เพื่อ ปฏิบัติสมาธิ ละนิวรณ์ 5อันเป็นอุปกิเลส จนสิ้นอาสวะ


 
 
 

พระไตรปิฎกไทยฉบับหลวง เล่ม23 หน้า351-352 ข้อ244

นาคสูตร

             [๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าเที่ยวหากิน ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง เดินไปข้างหน้า กัดปลายหญ้าไว้ด้วน ช้างตัวประเสริฐนั้น ย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าเที่ยวหากิน ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง กัดกินกิ่งไม้ที่ช้างตัวประเสริฐหักลงไว้ ช้างตัวประเสริฐนั้น ย่อมอิดหนาระอาใจรังเกียจเพราะการกระทำนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าลงสู่สระ ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง เดินออกหน้า เอางวงสูบน้ำให้ขุ่น ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจเพราะการกระทำนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าขึ้นจากสระ ช้างพลาย ทั้งหลาย ย่อมเดินเสียดสีกายไป ช้างตัวประเสริฐย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจเพราะการกระทำนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง เรากินหญ้า ยอดด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างทั้งหลายกินแล้วๆ ดื่มน้ำที่ขุ่นมัวและเมื่อเราขึ้น จากสระ ช้างพังทั้งหลาย ย่อมเดินเสียดสีกายไปผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากโขลง อยู่ตัวเดียวเถิด

สมัยต่อมา ช้างตัวประเสริฐนั้น หลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียว กินหญ้า ยอดไม่ด้วน กินกิ่งไม้ที่ไม่มีช้างอื่นเล็มดื่มน้ำที่ไม่ขุ่นมัว เมื่อขึ้นจากสระ ช้างพังก็ไม่เดินเสียดสีกาย

สมัยนั้น ช้างตัวประเสริฐย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเกลื่อนกล่น ไปด้วยช้างพลาย ช้างพังช้างสะเทิ้น และลูกช้างกินหญ้ายอดด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างอื่น เล็มแล้วๆ ดื่มน้ำขุ่นมัว และเมื่อเราขึ้นจากสระ ช้างพังยังเดินเสียดสีกายเราไป

บัดนี้ เราหลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียว กินหญ้ายอดไม่ด้วน กินกิ่งไม้ ที่ช้างอื่น ไม่เล็ม ดื่มน้ำที่ไม่ขุ่นมัว และเมื่อขึ้นจากสระ ช้างพังก็ไม่เดินเสียดสีกายเราไป ดังนี้

ช้างตัวประเสริฐนั้นเอางวงหักกิ่งไม้มาปัดกาย มีใจชื่นชม บำบัดโรคต่อมคัน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด ภิกษุเกลื่อนกล่น ไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชามหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์สาวกของเดียรถีย์ สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่าบัดนี้ เราเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์

ผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียว เธอเสพเสนาสนะที่สงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า โคนไม้ หรือ เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เบื้องหน้า

(1) ละอภิชฌาในโลกเสีย มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
(อภิชฌา คือ ความยินดี-ยินร้าย ความพอใจ-ไม่พอใจ ในอารมณ์อันวิตรในโลก คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือกามคุณทั้ง5 หรืออายตนะ5)

(2) ละความประทุษร้าย คือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาทอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท

(3) ละถีนมิทธะ ปราศจากความง่วงเหงาหาวนอน มีความสำคัญในแสงสว่างอยู่ มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ

(4) ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อุทธัจจะ กุกกุจจะ

(5) ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่เคลือบแคลงสงสัยในกุศลทั้งหลาย ชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

เธอละ นิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว

สงัดจากกาม ... บรรลุปฐมฌาน(ฌาน1) ... เธอมีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้ เธอบรรลุทุติยฌาน(ฌาน2) ฯลฯ ตติยฌาน(ฌาน3) ฯลฯ จตุตถฌาน (ฌาน4)มีใจชื่นชมบำบัดความระคาย ใจได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ฯลฯ

บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ฯลฯ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ฯลฯ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฯลฯ
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ

อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอมีใจชื่นชมบำบัด ความระคาย ใจได้

จบสูตรที่ ๙

 


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์