พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๘๗
๔. จูฬเวทัลลสูตร (ตรัสกับนางวิสาขา)
การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ
[๕๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ ให้เหยื่อ แก่กระแตเขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น วิสาขอุบาสก (๑) เข้าไปหา ธรรมทินนาภิกษุณี(๒) ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
(๑) นางวิสาขา มิคารมาตา (อุบาสก) เอตทัคคะด้าน ผู้ถวายทาน
(๒) ธรรมทินนา (ภิกษุณี) เป็น เอตทัคคะ ด้าน ผู้เป็นธรรมกถึก
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(1)
เรื่องสักกายทิฏฐิ (๑)
[๕๐๖] วิสาขอุบาสกครั้นนั่งแล้ว ได้ถามธรรมทินนาภิกษุณี ว่า ข้าแต่พระ แม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสักกายะ สักกายะดังนี้ (๑) ธรรมอะไรที่พระผู้มี พระภาคตรัสว่า สักกายะ
ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ ๑เวทนูปาทานขันธ์ ๑ สัญญูปาทานขันธ์ ๑ สังขารูปาทานขันธ์ ๑ วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ
วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีว่า ถูกละ พระแม่เจ้าดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหาต่อไปว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย สักกายสมุทัย ดังนี้ (๒) ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ตัณหา อันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วย ความ กำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า สักกายสมุทัย
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ สักกายนิโรธดังนี้ (๓) ธรรมอะไรที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพัน ด้วยตัณหานั้น นี้แล พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า สักกายนิโรธ
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคา มินีปฏิปทา ดังนี้ (๔) ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยะมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า (๕) อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอันเดียวกัน หรืออุปาทานเป็นอย่างอื่น จากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกัน ไม่ อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่ ความกำหนัดพอใจใน อุปาทาน ขันธ์ทั้ง ๕ เป็น อุปาทาน ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(2)
เรื่องสักกายทิฏฐิ (๒)
[๕๐๗] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ สักกายทิฏฐิ มีได้อย่างไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้
ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัปบุรุษ
ย่อมตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ตามเห็นรูป ในตนบ้าง ตามเห็นตนในรูปบ้าง ย่อมตามเห็นเวทนา ... ย่อมตามเห็นสัญญา ... ย่อมตามเห็น สังขารทั้งหลาย ... ย่อมตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามี วิญญาณบ้าง ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในวิญญาณ บ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อย่างไรสักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้
ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
ได้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัปบุรุษ
ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ไม่ตามเห็นรูปในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในรูปบ้าง ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา..ย่อมไม่ตาม เห็นสัญญา ... ย่อมไม่ตามเห็นสังขารทั้งหลาย ...ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณโดยความ เป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิ จึงจะไม่มี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(3)
เรื่องมรรค ๘ กับขันธ์ ๓
[๕๐๘] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ ไฉน
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑
ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ หรือเป็นอสังขตะ
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ขันธ์ ๓ (กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา) พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่า อริยมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ
วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑
ทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์
ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑
ทรงสงเคราะห์ด้วย
สมาธิขันธ์
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วย ปัญญาขันธ์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(4)
เรื่องสมาธิและสังขาร
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็
- ธรรมอย่างไร เป็นสมาธิ
- ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตของสมาธิ
- ธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ
- การทำให้สมาธิเจริญ เป็นอย่างไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
- ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ
- สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ
- สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ
- ความเสพ คุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นการทำให้ สมาธิเจริญ
[๕๐๙] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขาร มีเท่าไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สังขารเหล่านี้ มี ๓ ประการคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขาร เป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ลมหายใจออก และลมหายใจเข้า เป็นกายสังขาร
วิตกและวิจาร เป็นวจีสังขาร
สัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกาย สังขาร วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรม มีในกายเนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร
บุคคลย่อมตรึกย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร
สัญญาและเวทนาเป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้น สัญญาและ เวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(5)
เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ
[๕๑๐] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
มิได้มีความคิดอย่างนี้
ว่า เราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ว่า เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ อยู่
ว่า เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว
ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน ย่อมดับไปก่อน
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
วจีสังขาร ดับก่อน
ต่อจากนั้น กายสังขารก็ดับ
จิตตสังขาร ดับทีหลัง
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิดอย่างนี้
ว่า เราจักออกจาก สัญญาเวทยิต นิโรธสมาบัติ
ว่า เรากำลังออกจาก สัญญาเวทยิต นิโรธสมาบัติ
ว่า เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ แล้ว
ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมคือกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน เกิดขึ้นก่อน
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขาร เกิดขึ้นก่อน
ต่อจากนั้น กายสังขารก็เกิดขึ้น
วจีสังขาร เกิดขึ้นทีหลัง
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้ว จากสัญญา เวทยิตนิโรธสมาบัติ
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ผัสสะ ๓ ประการ คือ
ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง)
ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และ
ผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง)
ย่อมถูกต้องภิกษุ ผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ. มีจิตน้อมไปในธรรมอะไร โอนไปในธรรมอะไร เอนไปในธรรมอะไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
มีจิตน้อมไปในวิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(6)
เรื่องเวทนา(๑)
[๕๑๑] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า เวทนามีเท่าไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เวทนานี้มี ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑.
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนา
เป็นอย่างไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ความเสวยอารมณ์ที่เป็น สุขสำราญ อันเป็นไปทาง กาย หรือเป็นไปทางจิต
นี่เป็นสุขเวทนา
ความเสวยอารมณ์ที่เป็น ทุกข์ไม่สำราญ อันเป็นไปทางกายหรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นทุกขเวทนา
ความเสวยอารมณ์ที่ มิใช่ ความสำราญ และมิใช่ความไม่สำราญ (เป็นส่วนกลาง มิใช่สุขมิใช่ทุกข์) อันเป็นไป ทางกาย หรือเป็นไปทางจิต
นี่เป็นอทุกขมสุขเวทนา
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สุขเวทนา เป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
สุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์ เพราะแปรไป
ทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุข เพราะแปรไป
อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์ เพราะรู้ผิด
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า
ก็
อนุสัยอะไร ตามนอนอยู่ใน สุขเวทนา
อนุสัยอะไร ตามนอน
อยู่ใน ทุกขเวทนา
อนุสัยอะไร ตามนอนอยู่ใน อทุกขมสุขเวทนา
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา
ปฏิฆานุสัย ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด ปฏิฆานุสัยตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หรือหนอแล?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
ปฏิฆานุสัย ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้
อวิชชานุสัย ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอะไรจะพึงละได้ในสุขเวทนา ธรรมอะไร จะพึงละได้ในทุกขเวทนา ธรรมอะไรจะพึงละได้ ในอทุกขมสุขเวทนา?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ราคานุสัย จะพึงละได้ในสุขเวทนา
ปฏิฆานุสัย จะพึงละได้ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัย จะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด ปฏิฆานุสัย จะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หรือหนอแล?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
ปฏิฆานุสัยจะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้
อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมละราคา ด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น
อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไร เราจะได้บรรลุ อายตนะ ที่พระอริยะทั้งหลาย บรรลุแล้วอยู่ในบัดนี้ ดังนี้
เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนา ในวิโมกข์ทั้งหลาย อันเป็น อนุตตรธรรม อย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละ ปฏิฆะได้ด้วย ความโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะ ละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ ในจตุตฌานนั้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(7)
เรื่องเวทนา(๒)
[๕๑๒] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อะไร เป็นส่วนเปรียบแห่ง สุขเวทนา
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคะ เป็นส่วนเปรียบแห่ง สุขเวทนา
วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งทุกขเวทนา?
ธ. ปฏิฆะ เป็นส่วนแห่งเปรียบแห่ง ทุกขเวทนา.
วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา?
ธ. อวิชชา เป็นส่วนเปรียบแห่ง อทุกขมสุขเวทนา.
วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา?
ธ. วิชชา เป็นส่วนเปรียบแห่ง อวิชชา.
วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา?
ธ. วิมุติ เป็นส่วนเปรียบแห่ง วิชชา.
วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ?
ธ. นิพพาน เป็นส่วนเปรียบแห่ง วิมุติ
วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งนิพพาน?
ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ท่านล่วงเลยปัญหาเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาส่วนสุดแห่งปัญหาได้
ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพาน เป็นที่ถึง ในเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด ถ้าท่านจำนงอยู่ ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ทูลถามเนื้อความ นี้เถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างใด ท่านพึงจำทรงพระพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
วิสาขอุบาสก สรรเสริญ ธรรมทินนาภิกษุณี
[๕๑๓] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนา ภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทธรรมทินนาภิกษุณี ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถา กับธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรง ทราบทุกประการ.
เมื่อวิสาขาอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า
ดูกรวิสาขะ ธรรมทินนา ภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หาก ท่านพึง สอบถาม เนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็พึง พยากรณ์ เนื้อความนั้น เหมือนที่ธรรมทินนา ภิกษุณี พยากรณ์แล้ว เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงจำทรงไว้ อย่างนั้น เถิด.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพจน์นี้แล้ว วิสาขอุบาสก ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มี พระภาคแล้ว ฉะนั้นแล.
จบ จูฬเวทัทลสูตร ที่ ๔
พระสูตรเดียวกันนี้ P879
ธรรมทินนาภิกษุณี ผู้ที่เป็นเอตทัคคะ ด้านผู้เป็นธรรมกถึก
ประวัตินางวิสาขา |