เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  พรหมนิมันตนิกสูตร พระพุทธเจ้าเสด็จไปชั้นพรหมที่พวกพรหมคิดว่าเป็นอมตะ 371  
 
เนื้อหาในพระสูตรนี้พอสังเขป

ทรงเล่าเรื่องการหายตัวไปชั้นพรหม พบกับพกพรหมผู้เห็นผิด ว่าสถานที่ชั้นพรหมเที่ยง ยั้งยืน ไม่มีการเคลื่อนไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่อุบัติ เข้าใจว่า นี่แหละเป็นที่ออกไปจากทุกข์
พระองค์ใช้คำว่า "ทิฏฐิลามก"
 
 
 


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

๙. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยพกพรหมมีทิฏฐิอันลามก



[๕๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า.

[๕๕๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายสมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคนต้นรังใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐา. ก็สมัยนั้นแล พกพรหม(พรหมชื่อ พกะ) มีทิฏฐิอันลามกเห็นปานฉะนี้กิดขึ้นว่า พรหมสถานนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานนี้แล ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเหตุเป็นที่ ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งนอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี ดังนี้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เรารู้ความปริวิตกแห่งใจพกพรหมด้วยใจแล้ว จึงหายไปที่โคนต้นรังใหญ่ ในสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พกพรหมได้เห็นเราผู้มาแต่ไกล แล้วได้พูดกะเราว่า ดูกรท่านผู้ นฤทุกข์ (ผู้หมดทุกข์) เชิญมา เถิดท่านมาดีแล้ว นานทีเดียวที่ท่านเพิ่งทำปริยาย เพื่อจะมาในที่นี้ ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ พรหมสถานนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้แลไม่เกิด ไม่แก่ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเหตุเป็นที่ออกไปจาก ทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะพกพรหมว่า

ดูกรท่านผู้เจริญพกพรหมไปใน อวิชชาแล้วหนอ พกพรหมไปในอวิชชาแล้วหนอ
(
เห็นผิดไปแล้ว)
เพราะว่าพกพรหม
กล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงนั่นแลว่าเที่ยง
กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนนั่นแลว่ายั่งยืน
กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงนั่นแลว่ามั่นคง
กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรง นั่นแลว่าแข็งแรง
กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดานั่นแล ว่ามีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา ก็แหละสัตว์ทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งตาย ทั้งจุติ ทั้งอุบัติอยู่ในพรหมสถานใด พกพรหม ก็กล่าวพรหมสถานนั้นอย่างนั้นว่า พรหมสถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติไม่อุบัติ และกล่าวเหตุเป็นที่ออกไป จากทุกข์อย่างยิ่งอื่นอันมีอยู่ว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่น ไม่มี.

มารเข้าสิงกายพรหม

[๕๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มารผู้ลามก เข้าสิงกายของพรหมปาริสัชชะ ผู้หนึ่งแล้วกล่าวกะเราว่า ดูกรภิกษุๆ อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย ดูกรภิกษุเพราะว่า พรหมผู้นี้เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ (ปกครองคณะพรหม) อันคณะพรหมไม่ฝ่าฝืนได้โดยที่แท้เป็นผู้ดูทั่วไป ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลกเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้ว และกำลังจะเกิด.

ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้ติเตียนดิน เกลียดดิน เป็นผู้ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม เป็นผู้ติเตียนสัตว์ เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียนปชาบดี เกลียดปชาบดี เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหมในโลก (ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อกายแตกขาดจากลมปราณ ต้องไปเกิดใน หีนกาย.(จตุราบาย)...ทคติภูมิ

ดูกรภิกษุ ส่วนสมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้สรรเสริญดิน ชมเชยดิน เป็นผู้สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม ชมเชยลม เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญเทวดา ชมเชยเทวดา เป็นผู้สรรเสริญปชาบดี ชมเชยปชาบดี เป็นผู้สรรเสริญพรหม ชมเชยพรหม สมณพราหมณ์ เหล่านั้น เมื่อกายแตกขาดจากลมปราณ ก็ไปเกิดใน กายที่ประณีต. (พรหมโลก)

ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้น เราจึงขอบอกกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำตามคำที่พรหมบอก แก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ดูกรภิกษุถ้าท่านจักฝ่าฝืนคำของพรหม. โทษจักมีแก่ท่าน เปรียบเหมือนบุรุษ เอาท่อนไม้ตีไล่ศิริที่มาหา หรือเปรียบเหมือนบุรุษผู้จะตกเหวที่ลึก ชักมือ และเท้า ให้ห่างแผ่นดินเสีย ฉะนั้น.

ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญเถิดท่านจงทำตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่า ฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ดูกรภิกษุท่านย่อมเห็นพรหมบริษัทประชุมกันแล้ว มิใช่ หรือ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารผู้ลามกย่อมเปรียบเทียบเรากะพรหมบริษัทดังนี้แล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะมารผู้ลามกนั้นว่าแน่ะมาร เราย่อมรู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า พระสมณะไม่รู้จักเรา แน่ะมาร ท่านเป็นมารพรหม ก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหมปาริสัชชะก็ดี ทั้งหมดนั่นแลอยู่ในมือของท่าน ตกอยู่ในอำนาจของท่าน และท่านมีความดำริว่า แม้สมณะก็ต้องอยู่ในมือของเรา ต้องตกอยู่ในอำนาจของเรา ก็แต่ว่าเราไม่ได้อยู่ในมือของท่าน ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจ ของท่าน.

พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค

[๕๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พกพรหมได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ก็เรากล่าวสิ่งที่เที่ยง นั่นแลว่าเที่ยง กล่าวสิ่งที่มั่นคงนั่นแลว่า มั่นคง กล่าวสิ่งที่ยั่งยืนนั่นแลว่ายั่งยืน กล่าวสิ่งที่แข็งแรงนั่นแลว่าแข็งแรง กล่าวสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดานั่นแลว่า ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา.

ก็แหละสัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติในพรหมสถานใด เรากล่าว พรหมสถานนั้นแหละว่า พรหม สถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตายไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวเหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่น ไม่มีว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่นไม่มี.

ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกที่มีก่อนท่านได้มีแล้วในโลก อายุทั้งสิ้นของท่าน เท่าไร กรรมที่ทำด้วยตบะ ของท่านมีเท่านั้น. สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นแล พึงรู้ซึ่งเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นมีอยู่ว่า เหตุเป็น ที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่นมีอยู่ หรือพึงรู้ซึ่งเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มีอยู่ว่า เหตุเป็นที่ออกไป จากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มีอยู่.

ดูกรภิกษุ เพราะเหตุไรเราจึงกล่าวกะท่านอย่างนี้ เพราะว่าท่านจักไม่เห็นเหตุ เป็นที่ ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นเลย และท่านจักเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบาก แห่งความ คับแค้นอย่างเดียวเท่านั้น.

ดูกรภิกษุ ถ้าแลท่านจักกลืนกินแผ่นดินได้ไซร้ ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ของเรา เราพึงทำได้ ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้.

ถ้าและท่านจักกลืนกินน้ำ ไฟลม เหล่าสัตว์เทวดา ปชาบดี พรหมได้ไซร้ ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ของเรา เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้ ดังนี้.

เรากล่าวว่า ดูกรพรหม แม้เราแลย่อมรู้เหตุนี้. ถ้าเราจักกลืนกินแผ่นดินได้ไซร้ เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึงห้ามได้. ถ้าและเราจักกลืนกินน้ำ ไฟ ลม เหล่าสัตว์ เทวดา ปชาบดี พรหมได้ไซร้ เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึงห้ามได้.

ดูกรพรหม ใช่แต่เท่านั้น เราย่อมรู้ความสำเร็จ และย่อมรู้อานุภาพของท่านว่า พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหม มีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มาก อย่างนี้. พกพรหมถามเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ก็ท่านย่อมรู้ความสำเร็จ และย่อมรู้ อานุภาพของเราว่า พกพรหม มีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มาก อย่างนี้ อย่างไร?

เรากล่าวว่า

ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมโคจรส่องทิศให้สว่างอยู่เท่าใด อำนาจของท่าน ย่อมเป็นไปในพันจักรวาลเท่านั้น ท่านย่อมรู้จักสัตว์ที่เลวและสัตว์ที่ประณีต รู้จักสัตว์ที่มีราคะและสัตว์ที่ไม่มี ราคะ รู้จักจักรวาลนี้และจักรวาลอื่น และรู้จักความมาและ ความไปของสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้.

ดูกรพรหม เราย่อมรู้ความสำเร็จ และย่อมรู้อานุภาพของท่านอย่างนี้ว่า พกพรหมมี ฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้.

ดูกรพรหม กาย ๓ อย่างอื่นมีอยู่ ท่านย่อมไม่รู้ไม่เห็นในกาย ๓ อย่างนั้น เราย่อมรู้ ย่อมเห็นกายเหล่านั้น.

ดูกรพรหม กายชื่ออาภัสสระมีอยู่. ท่านเคลื่อนแล้วจากที่ใด มาอุบัติแล้วในที่นี้ ท่านมีสติหลงลืมไปเพราะความอยู่อาศัยนานนัก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่รู้ไม่เห็น กายนั้น เราย่อมรู้ ย่อมเห็นกายนั้น.

ดูกรพรหม เราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำ กว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน.

ดูกรพรหม กายชื่อสุภกิณหะ กายชื่อเวหัปผละมีอยู่แล ท่านย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็นกายนั้น เราย่อมรู้ ย่อมเห็นกายนั้น.

ดูกรพรหม เราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่าน ด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้เรานี่แหละเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน.

ดูกรพรหม เรารู้จักดินแลโดยความเป็นดิน รู้จักนิพพานอันสัตว์เสวยไม่ได้ โดยความที่ดินเป็นดิน แล้วไม่เป็นดิน ไม่ได้มีแล้วในดิน ไม่ได้มีแล้วแต่ดิน ไม่ได้มีแล้วว่าดินของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะดิน.

ดูกรพรหม เราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงกว่าท่าน.

ดูกรพรหม เรารู้จักน้ำ ... ดูกรพรหม เรารู้จักไฟ ...
ดูกรพรหม เรารู้จักลม ... ดูกรพรหม เรารู้จักเหล่าสัตว์ ...
ดูกรพรหม เรารู้จักเทวดา ... ดูกรพรหม เรารู้จักปชาบดี .. .
ดูกรพรหม เรารู้จักพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักพวก อาภัสสรพรหม ...
ดูกรพรหม เรารู้จักพวกสุภกิณหพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักพวกเวหัปผลพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักอภิภูพรหม ...
(รู้จักทั้งโลกธาตุ)

ดูกรพรหม เรารู้จักสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นสิ่งทั้งปวง รู้จักนิพพานอันสัตว์เสวยไม่ได้ โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง แล้วไม่เป็นสิ่งทั้งปวงไม่ได้มีแล้วในสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีแล้วแต่สิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีแล้วว่าสิ่งทั้งปวงของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะสิ่ง ทั้งปวง. ดูกรพรหม เราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่าน จะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงกว่าท่าน.

พกพรหมกล่าวกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ถ้าแลเพราะท่านรู้นิพพานที่สัตว์เสวย ไม่ได้ โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง ถ้อยคำของท่านอย่าได้ว่างเสียเลย อย่าได้เปล่าเสียเลย.

นิพพานอันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็น อนิทัสสนะ (ไม่เห็นได้ด้วยจักษุวิญญาณ) เป็นอนันตะ (ไม่มีที่สุด หรือ หายไปจากความเกิดขึ้นและความเสื่อม) มีรัศมีในที่ ทั้งปวง อันสัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน โดยความที่น้ำเป็นน้ำ โดยความที่ไฟเป็นไฟ โดยความที่ลมเป็นลม โดยความที่เหล่าสัตว์เป็นเหล่าสัตว์ โดยความที่เทวดาเป็นเทวดา โดยความที่ปชาบดี เป็นปชาบดี โดยความที่พรหมเป็นพรหม โดยความที่เป็นอาภัสสรพรหมเป็นอาภัสสรพรหม โดยความที่ สุภกิณหพรหมเป็นสุภกิณหพรหม โดยความที่เวหัปผลพรหมเป็นเวหัปผลพรหม โดยความที่อภิภูพรหมเป็น อภิภูพรหม โดยความที่สิ่งทั้งปวง เป็นสิ่งทั้งปวง.

พกพรหมกล่าวกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ มิฉะนั้นบัดนี้เราจะหายไปจากท่าน. เรากล่าวว่าดูกรพรหม ผิฉะนั้น บัดนี้ถ้าท่านอาจจะหายไปได้ ก็จงหายไปเถิด.

ดูกรภิกษุทั้งหลายครั้งนั้นแล พกพรหมกล่าวว่า เราจักหายไปจากพระสมณโคดม เราจักหายไปจากพระสมณโคดม แต่ก็ไม่อาจหายไปจากเราได้โดยแท้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะพกพรหมว่า ดูกรพรหมผิฉะนั้น บัดนี้เราจะหายไปจากท่าน. พกพรหมกล่าวว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ผิฉะนั้น บัดนี้ ถ้าท่านอาจหายไปได้ ก็จงหายไปเถิด.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นเราบันดาล อิทธาภิสังขาร ให้เป็นเหมือนอย่างนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหมปาริสัชชะก็ดี ย่อมได้ยินเสียงเรา แต่มิได้เห็นตัวเรา ดังนี้.

เราหายไปแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า:-

                          เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวง
                          หาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพ
                          อะไรเลย ทั้งไม่ยังนันทิให้เกิดขึ้นด้วย ดังนี้.

[๕๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหม ปาริสัชชะ ก็ดี ได้มีความแปลกประหลาดอัศจรรย์จิตว่า

ดูกรท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ แปลกประหลาดหนอ พระสมณโคดม มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก่อนแต่นี้พวกเราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนพระสมณโคดมนี้ ผู้ออกผนวชแต่ ศากยสกุล ถอนภพพร้อมทั้งรากแห่งหมู่สัตว์ ผู้รื่นรมย์ยินดีในภพ เมาในภพ.

มารเข้าสิงกายพรหม

[๕๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารผู้ลามก เข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่งแล้ว กล่าวกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ถ้าท่านรู้จักอย่างนี้ ตรัสรู้อย่างนี้ ก็อย่าแนะนำ อย่าแสดงธรรมอย่าทำความยินดี กะพวกสาวกและพวก บรรพชิตเลย.

ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าในโลก สมณะและพราหมณ์พวกนั้น แนะนำแสดงธรรม ทำความยินดี กะพวกสาวกและพวกบรรพชิต ครั้นกายแตกขาดลมปราณ ก็ไปเกิดใน หีนกาย.

ส่วนสมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่าน ผู้ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า ในโลก สมณะและพราหมณ์ พวกนั้น ไม่แนะนำ ไม่แสดงธรรม ไม่ทำความยินดี กะพวกสาวกบรรพชิต ครั้นกายแตกขาดลมปราณก็ไปเกิดใน ปณีตกาย.

ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้น เราจึงบอกกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญท่านเป็นผู้ มักน้อย ตามประกอบความ อยู่สบายในชาตินี้ อยู่เถิด เพราะการไม่บอกเป็นความดี ท่านอย่าสั่งสอนสัตว์อื่นๆ เลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงกล่าวว่าดูกรมารผู้ลามก เรารู้จัก ท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า พระสมณะไม่รู้จักเรา ท่านเป็นมาร ท่านหามีความ อนุเคราะห์ ด้วยจิตเกื้อกูลไม่ จึงกล่าวกะเราอย่างนี้ ท่านไม่มีความ อนุเคราะห์ด้วยจิตเกื้อกูล จึงกล่าวกะเราอย่างนี้.

ท่านมีความดำริว่า พระสมณโคดมจักแสดงธรรมแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น จักล่วง วิสัยของเราไป. ก็พวกสมณะ และพราหมณ์นั้น มิได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาว่า เราทั้งหลาย เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

ดูกรมารผู้ลามก เราแลเป็นสัมมาสัมพุทธะ ย่อมปฏิญญาว่า เราเป็นสัมมาสัมพุทธะ.

ดูกรมารผู้ลามก ตถาคตแม้เมื่อแสดงธรรมแก่พวกสาวก ก็เป็นเช่นนั้น แม้เมื่อไม่แสดง ธรรมแก่พวกสาวก ก็เป็นเช่นนั้น ตถาคต แม้เมื่อแนะนำพวกสาวก ก็เป็นเช่นนั้น แม้เมื่อไม่แนะนำพวกสาวกก็เป็นเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะ เหตุอะไร เพราะอาสวะเหล่าใด อันให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อาสวะเหล่านั้น ตถาคตละเสียแล้ว มีรากเหง้าอันถอนขึ้นแล้ว ทำไม่ให้มี ที่ตั้งดังว่าต้นตาล แล้วทำไม่ให้มี ต่อไปแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เหมือนต้นตาลมียอดถูกตัดเสียแล้วไม่อาจงอกงามอีกได้ ฉะนั้น.

ไวยากรณภาษิตนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว โดยมารมิได้เรียกร้อง และโดยพรหม เชื้อเชิญดังนี้ เพราะฉะนั้น ไวยากรณภาษิตนี้ จึงมีชื่อว่า พรหมนิมันตนิกสูตร ฉะนี้แล.

จบ พรหมนิมันตนิกสูตร ที่ ๙

   
 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์