เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  มหาอัสสปุรสูตร ว่าด้วยธรรมทำความเป็นสมณพราหมณ์ 270  
 
เนื้อหาในพระสูตรนี้พอสังเขป

สมณะในพุทธศาสนาจะต้องมี
  กายสมาจารย์บริสุทธิ์
  วจีสมาจารบริสุทธิ์
  มโนสมาจารบริสุทธิ์

  อาชีวะบริสุทธิ์ ..ฯลฯ


สรุปโดยย่อในพระสูตรนี้
เราทั้งหลายจักมีกายสมาจารบริสุทธิ์
เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์
เราทั้งหลายจักมีมโนสมาจารบริสุทธิ์
เราทั้งหลายจักมีอาชีวะบริสุทธิ์
เราทั้งหลายจักมีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย
เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณในโภชนะ จักพิจารณา โดยแยบคายแล้วกลืนอาหาร
เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบเนืองๆในความเป็นผู้ตื่น จักชำระจิตให้บริสุทธิ์
เราทั้งหลายจักประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ทำความ รู้สึกตัว
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ซอกเขา


 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๙

๙. มหาอัสสปุรสูตร

ว่าด้วยธรรมทำความเป็นสมณพราหมณ์

         [๔๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
       สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของหมู่อังคราชกุมาร ในอังคชนบท.ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.
 
         พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอ ว่าสมณะๆ ก็แหละพวกเธอ เมื่อเขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร ก็ปฏิญญา (รับ) ว่า พวกเราเป็นสมณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอนั้นมีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้แล้ว ก็ควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม เป็นเครื่องทำความเป็นสมณะด้วย เป็นเครื่องทำความเป็นพราหมณ์ด้วย เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเรา ก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่ เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้น ของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ในเพราะพวกเราอีกอย่างหนึ่งเล่า บรรพชานี้ของพวกเรา ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ.

         [๔๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นเครื่องทำความเป็นสมณะ และเป็นเครื่องทำความเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ. บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะ (มรรค ผล นิพพาน)พวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเสียเลย.

         [๔๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่องและคอยระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอัน บริสุทธิ์นั้น บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่าพวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะ พวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดี ด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควร ทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเสียเลย.

         [๔๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่อง และคอยระวังจักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ นั้น. บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่าพวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้พอละ พวกเราทำเสร็จ แล้ว สามัญญัตถะพวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลายขอเตือน แก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเสียเลย.

         [๔๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักมีมโนสมาจารบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่อง และคอยระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีมโนสมาจาร บริสุทธิ์นั้น. บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริ และ โอตตัปปะ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร และมโนสมาจารบริสุทธิ์แล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะพวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำ ให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอ ทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะ ที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเสียเลย.

         [๔๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักมีอาชีวะบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่อง และคอยระวัง จักไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์นั้น. บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะบริสุทธิ์แล้วด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะพวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆที่ควรทำ ให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอ ทั้งหลายขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะ ที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเสียเลย.

         [๔๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักมีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ ทั้งหลาย เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ จักปฏิบัติเพื่อ สำรวม จักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ทั้งหลายถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์. ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ...ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว จักไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ จักปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ถึงความสำรวมในมนินทรีย์.
บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจารวจีสมาจาร มโนสมาจาร อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว และเป็นผู้มีทวารอัน คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลายเมื่อกิจ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยัง มีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมเสียไปเลย.

         [๔๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณในโภชนะ จักพิจารณา โดยแยบคายแล้วกลืนอาหาร จักไม่กลืนเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อตบแต่ง เพื่อประดับ จักกลืนเพียงเพื่อให้กายนั้นตั้งอยู่ เป็นไปห่างไกลจากความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์ แก่พรหมจรรย์เท่านั้น และจะบำบัดเวทนาเก่าไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และจักให้มี ความดำเนินไป ความไม่มีโทษ ความอยู่สบาย ด้วยประการฉะนี้. บางทีพวกเธอจะมี ความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จัก ประมาณในโภชนะแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำสำเร็จแล้วสามัญญัตถะ พวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดี ด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจควร ทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเลย.

         [๔๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรม และการนั่ง ตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรม และ การนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี จักสำเร็จการนอนดังราชสีห์โดยเบื้องขวา ซ้อนเท้า เหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำไว้ในใจถึงความสำคัญในอันลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยาม แห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว จักชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกีดกั้นด้วยการ จงกรม และการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี. บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่าพวกเรา เป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร อาชีวะ บริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จักประมาณใน โภชนะประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่นแล้วด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละพวกเราทำเสร็จ แล้วสามัญญัตถะพวกเราถึงแล้ว โดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำได้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่ เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเสียเลย.

         [๔๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร? พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ทำความ รู้สึกตัวในการก้าว ในการถอยในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวรในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัวในการเดินการยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง. บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร อาชีวะบริสุทธิ์แล้วเป็นผู้มีทวาร อันคุ้มครอง แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบเนืองๆในความเป็นผู้ตื่น และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะพวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีพวกเธอ ถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนา อย่าได้เสื่อมไป เสียเลย.

         [๔๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร?ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ซอกเขา ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง ลอมฟาง. เธอกลับจากบิณฑบาต ในการ ภายหลังแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า. เธอละความเพ่งเล็ง ในโลกแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็ง ได้. ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้.
ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความสำคัญ หมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้. ละอุทธัจจกุกกุจจะ ได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อุทธัจจะ กุกกุจจะได้. ละวิจิกิจฉาได้แล้วเป็นผู้เข้ามาวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงใน กุศลธรรม ทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์