เว็บไซต์ อนาคามี แหล่งเผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 กิรสูตรที่ ๑ ตาบอดคลำช้าง ย่อมคิดว่ารูปร่างช้างแตกต่างกัน 248  
 
  (ย่อ)

กิรสูตรที่ ๑ ตาบอดคลำช้าง ย่อมคิดว่ารูปร่างช้างแตกต่างกัน

พวกที่ได้ ลูบคลำศีรษะช้าง ก็บอกว่า ช้างเหมือนหม้อ
พวกที่ได้ ลูบคลำหูช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนกะด้ง
พวกที่ได้ ลูบคลำงาช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนผาล
พวกที่ได้ ลูบคลำงวงช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนงอนไถ
พวกที่ได้ ลูบคลำตัวช้างช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนฉางข้าว
พวกที่ได้ ลูบคลำเท้าช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนเสา
พวกที่ได้ ลูบคลำหลังช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนครกตำข้าว
พวกที่ได้ ลูบคลำโคนหางช้างได้ ก็บอกว่าช้างเหมือนสาก
พวกที่ได้ ลูบคลำปลายหางช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด

ฉันนั้นเหมือนกันแล
พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เป็นคนบอดไม่มีจักษุ ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหาย ใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม

เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหาย ใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกันวิวาทกัน ทิ่มแทงกัน และกันด้วยหอกคือปาก ว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็น เช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๕

กิรสูตรที่ ๑

          [๑๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

           ก็สมัยนั้นแล สมณะพราหมณ์ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆกัน มีทิฐิ ต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ใน พระนครสาวัตถี

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
๑. โลกเที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า

ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
๒. โลกไม่เที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
๓. โลกมีที่สุด ...
๔. โลกไม่มีที่สุด ...
๕. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ...
๖. ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น ...
๗. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ...
๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก ...
๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี นี้แหละจริง อื่นเปล่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ นี้แหละจริง อื่นเปล่า

          สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกัน และกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้

          [๑๓๗] ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ภิกษุมากด้วยกัน นุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจาก บิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สมณะพราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง นี้แหละจริง ... ธรรมเป็นเช่นนี้ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรมไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จัก ประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอก คือปากว่าธรรม เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้

          [๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครสาวัตถีนี้แล มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นตรัสเรียกบุรุษ คนหนึ่ง มาสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญนี่แน่ะเธอ คนตาบอดในพระนครสาวัตถีมีประมาณเท่าใด ท่านจงบอกให้คนตาบอดเหล่านั้นทั้งหมด มาประชุมร่วมกัน บุรุษนั้นทูลรับ พระราชดำรัสแล้ว พาคนตาบอดในพระนครสาวัตถีทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระราชา ถึงที่ประทับ

          ครั้นแล้วได้กราบบังคมทูลพระราชาพระองค์นั้นว่า ขอเดชะพวกคนตาบอด ในพระนครสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระราชาพระองค์นั้น ตรัสว่า แนะพนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงแสดงช้างแก่พวกคนตาบอดเถิด บุรุษนั้นทูลรับ พระราชดำรัสแล้ว แสดงช้างแก่พวกคนตาบอด คือ

แสดงศีรษะช้าง แก่คนตาบอด พวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงหูช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงงาช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่าช้างเป็นเช่นนี้
แสดงงวงช้าง แก่คนตาบอด พวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงตัวช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่าช้างเป็นเช่นนี้
แสดงเท้าช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงหลังช้าง แก่คนตาบอด พวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงโคนหางช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงปลายหางช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล บุรุษนั้น ครั้นแสดงช้างแก่พวกคนตาบอด แล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชาพระองค์นั้นถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่าขอเดชะ คนตาบอดเหล่านั้นเห็นช้างแล้วแลบัดนี้ ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงสำคัญ เวลาอันควรเถิด พระเจ้าข้า

           ดูกรภิกษุทั้งหลายลำดับนั้นแล พระราชาพระองค์นั้น เสด็จเข้าไปถึงที่ คนตาบอดเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่าดูกรคนตาบอดทั้งหลาย พวกท่านได้เห็น ช้างแล้วหรือ คนตาบอดเหล่านั้น กราบทูลว่าขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ได้เห็นแล้วพระเจ้าข้า

          รา. ดูกรคนตาบอดทั้งหลาย ท่านทั้งหลายกล่าวว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้เห็นช้างแล้วดังนี้ ช้างเป็นเช่นไร

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบ คลำศีรษะช้าง ได้กราบทูล อย่างนี้ว่า ขอเดชะช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนหม้อ พระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ ลูบคลำหูช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่าขอเดชะช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนกะด้ง พระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำงาช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนผาล พระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำงวงช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนงอนไถ พระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำตัวช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนฉางข้าวพระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำเท้าช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนเสา พระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำหลังช้าง ได้กราบทูลว่าอย่างนี้ ขอเดชะช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนครกตำข้าวพระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำโคนหางช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนสาก พระเจ้าข้า

คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำปลายหางช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่าขอเดชะ ช้างเป็น เช่นนี้คือ เหมือนไม้กวาดพระเจ้าข้า

          คนตาบอดเหล่านั้นได้ทุ่มเถียงกันและกันว่า ช้างเป็นเช่นนี้ ช้างไม่ใช่ เป็นเช่นนี้ช้าง ไม่ใช่เป็นเช่นนี้ ช้างเป็นเช่นนี้

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระราชาพระองค์นั้น ได้ทรงมีพระทัยชื่นชมเพราะเหตุ นั้นแล

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เป็นคน บอดไม่มีจักษุ ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหาย ใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหาย ใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกันวิวาทกัน ทิ่มแทงกัน และกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็น เช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้

          ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่าได้ยินว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมข้องอยู่ เพราะทิฐิทั้งหลายอันหา สาระมิได้เหล่านี้ ชนทั้งหลายผู้เห็นโดยส่วนเดียว ถือผิดซึ่งทิฐินิสัยนั้น ย่อมวิวาทกัน

 


 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์