ทรงประพฤติอัตตกิลมถานุโยค (วัตรของเดียรถีย์)
(แบบย่อ)
สารีบุตร !
เราตถาคตรู้เฉพาะซึ่ง พรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ ที่ได้ประพฤติแล้ว
- ตปัสสีวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง
- ลูขวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง
- เชคุจฉิวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง
- ปวิวิตตวัตร เราก็ได้ประพฤติอย่างยิ่ง
๑. ตปัสสีวัตร
ในวัตร ๔ อย่างนั้น นี้เป็น ตปัสสีวัตร (วัตรเพื่อมีตบะ) ของเราคือ
- เราได้ประพฤติเปลือยกาย มีมรรยาทอันปล่อยทิ้งเสียแล้ว
- เป็นผู้ประพฤติเช็ดอุจจาระของตนด้วยมือ
- เป็นผู้ไม่รับอาหารที่เขาร้องเชิญว่าท่านผู้เจริญจงมา
- ไม่รับอาหารที่เขาร้องนิมนต์ว่าท่านผู้เจริญจงหยุดก่อน
- ไม่ยินดีในอาหารที่เขานำมาจำเพาะ
- ไม่ยินดีในอาหารที่เขาทำอุทิศเจาะจง
- ไม่ยินดีในอาหารที่เขาร้องนิมนต์เรา
- ไม่รับอาหารจากปากหม้อ
- ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ
- ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู
- ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้
- ไม่รับอาหารคร่อมสาก
- ไม่รับอาหาร ของชนสองคนผู้บริโภคอยู่
- ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์
- ไม่รับอาหารของหญิงที่กำลังให้บุตรดื่มนมอยู่
- ไม่รับอาหารของหญิงผู้ไปในระหว่างแห่งบุรุษ
- ไม่รับอาหารในอาหารที่มนุษย์ชักชวนร่วมกันทำ
- ไม่รับอาหารในที่ที่มีสุนัขเข้าไปยืนเฝ้าอยู่
- ไม่รับอาหารในที่ที่เห็นแมลงวันบินไปเป็นหมู่ๆ
- ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่รับสุรา ไม่รับเมรัย
- ไม่ดื่มน้ำอันดองด้วยแกลบ
- เรารับเรือนเดียวฉันคำเดียวบ้าง
- รับสองเรือนฉันสองคำบ้าง
- รับสามเรือนฉันสามคำบ้าง ....ฯลฯ....
- รับเจ็ดเรือนฉันเจ็ดคำบ้าง,
- เราเลี้ยงร่างกายด้วยอาหารในภาชนะน้อยๆ ภาชนะเดียวบ้าง
- เลี้ยงร่างกายด้วยอาหารในภาชนะน้อย ๆ สองภาชนะบ้าง ..ฯลฯ...
- เลี้ยงร่างกายด้วยอาหารในภาชนะน้อยๆ เจ็ดภาชนะบ้าง
- เราฉันอาหารที่เก็บไว้วันเดียวบ้าง
- ฉันอาหารที่เก็บไว้สองวันบ้าง ....ฯลฯ....
- ฉันอาหารที่เก็บไว้เจ็ดวันบ้าง,
เราประกอบความเพียรในภัตรและโภชนะมีปริยายอย่างนี้ จนถึงกึ่งเดือนด้วยอาการอย่างนี้.
เรานั้น ..
- มีผักเป็นภักษาบ้าง
- มีสารแห่งหญ้ากับแก้เป็นภักษาบ้าง
- มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง
- มีเปลือกไม้เป็นภักษาบ้าง
- มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง
- มีรำข้าวเป็นภักษาบ้าง
- มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง
- มีข้าวสารหักเป็นภักษาบ้าง
- มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง
- มีโคมัย (ขี้วัว) เป็นภักษาบ้าง
- มีผลไม้และรากไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง
- บริโภคผลไม้อันเป็นไป (หล่นเอง) ยังชีวิตให้เป็นไปบ้าง.
เรานั้น ..
- นุ่งห่มด้วยผ้าป่านบ้าง
- นุ่งห่มผ้าเจือกันบ้าง
- นุ่งห่มผ้าที่เขาทิ้งไว้กับซากศพบ้าง
- นุ่งห่มผ้าคลุกฝุ่นบ้างนุ่งห่มเปลือกไม้บ้าง
- นุ่งห่มหนังอชินะบ้าง (หนังสัตว์)
- นุ่งห่มหนังอชินะทั้งเล็บบ้าง
- นุ่งห่มแผ่นหญ้าคากรองบ้าง
- นุ่งห่มแผ่นปอกรองบ้าง
- นุ่งห่มแผ่นกระดานกรองบ้าง
- นุ่งห่มผ้ากัมพลผมคนบ้าง
- นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์บ้าง
- นุ่งห่มปีกนกเค้าบ้าง (ศัพท์นี้แปลกที่ไม่มีคำว่ากัมพล)
- เราตัดผมและหนวด ประกอบตามซึ่งความเพียรในการตัดผมและหนวด,
- เราเป็นผู้ยืนกระหย่งห้ามเสียซึ่งการนั่ง, เป็นผู้เดินกระหย่ง
- เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการเดินกระหย่งบ้าง,
- เราประกอบการยืนการเดินบนหนาม สำเร็จการนอนบนที่นอนทำด้วยหนาม,
- เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการลงสู่น้ำ เวลาเย็นเป็นครั้งที่สามบ้าง,
- เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการทำ (กิเลสใน) กายในเหือดแห้ง ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นนี้ ด้วยอาการ อย่างนี้.
สารีบุตร ! นี่แลเป็นวัตรเพื่อความเป็นผู้มีตบะ ของเรา.
๒.ลูขวัตร
สารีบุตร !
ในวัตรสี่อย่างนั้น นี้เป็น ลูขวัตร (วัตรในการเศร้าหมอง) ของเรา คือ ..
- ธุลีเกรอะกรังแล้วที่กาย สิ้นปีเป็นอันมากเกิดเป็นสะเก็ดขึ้น.
สารีบุตร !
เปรียบเหมือนตอตะโกนานปี มีสะเก็ดขึ้นแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น ธุลีเกรอะกรังแล้วที่กาย สิ้นปีเป็นอันมากจนเกิดเป็นสะเก็ดขั้น.
สารีบุตร !
ความคิดนึกว่า โอหนอเราพึงลูบธุลีนี้ออกเสียด้วยฝ่ามือเถิด ดังนี้ ไม่มีแก่เรา, แม้ความคิดนึกว่าก็หรือชนเหล่าอื่นพึงลูบธุลีนี้ออกเสียด้วยฝ่ามือเถิด ดังนี้ ก็มิได้มีแก่เรา.
ดูก่อนสารีบุตร ! นี้แล เป็นวัตรในความเป็นผู้เศร้าหมองของเรา.
๓.เชคุจฉิวัตร
สารีบุตร !
ในวัตรสี่อย่างนั้น นี้เป็น เชคุจฉิวัตร (วัตรในความเป็นผู้รังเกียจ) ของเราคือ ..
สารีบุตร !
เรานั้นมีสติก้าวขาไป มีสติก้าวขากลับ โดยอาการเท่าที่ความเอ็นดูอ่อนโยนของเราพึงบังเกิดขึ้น แม้ในหยาดแห่งน้ำ ว่าเราอย่าทำสัตว์น้อยๆ ทั้งหลายที่มีคติไม่เสมอกันให้ลำบากเลย.
สารีบุตร ! นี้แลเป็นวัตรในความเป็นผู้รังเกียจของเรา.
๔. ปวิวิตตวัตร
สารีบุตร !
ในวัตรสี่อย่างนั้น นี้เป็น ปวิวิตตวัตร (วัตรในความเป็นผู้สงัดทั่วแล้ว) ของเรา คือ ..
สารีบุตร !
เรานั้นเข้าสู่ราวป่าแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแลอยู่ เมื่อเห็นคนเลี้ยงโค หรือคนเลี้ยงปศุสัตว์ หรือคนเกี่ยวหญ้า หรือคนหาไม้ หรือคนทำงานในป่ามา เราก็รีบลัดเลาะจากป่านี้ไปป่าโน้น จากรกชัฏนี้สู่รกชัฏโน้น จากลุ่มนี้สู่ลุ่มโน้น จากดอนนี้สู่ดอนโน้น เพราะเหตุคิดว่า ขอคนพวกนั้นอย่าเห็นเราเลยและเราก็อย่าได้เห็นชนพวกนั้น.
สารีบุตร !
เปรียบเหมือนเนื้ออันอยู่ในป่า เห็นมนุษย์แล้วย่อมเลาะลัดจากป่านี้สู่ป่าโน้น จากรกชัฏนี้สู่รกชัฏโน้น จากลุ่มนี้สู่ลุ่มโน้น จากดอนนี้สู่ดอนโน้น, ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เราเมื่อเห็นคนเลี้ยงโคหรือคนเลี้ยงปศุสัตว์หรือคนเกี่ยวหญ้า คนหาไม้ คนทำงานในป่ามาก็รีบเลาะลัดจากป่านี้สู่ป่าโน้น จากรกชัฏนี้สู่รกชัฏโน้น จากลุ่มนี้สู่ลุ่มโน้น จากดอนนี้สู่ดอนโน้น ด้วยหวังว่าคนพวกนี้อย่าเห็นเราเลย และเราก็อย่าได้เห็นคนพวกนั้น.
สารีบุตร ! นี้แล เป็นวัตรในความเป็นผู้สงัดทั่วของเรา.
สารีบุตร !
เรานั้น โคเหล่าใดออกจากคอกหาคนเลี้ยงมิได้, เราก็คลานเข้าไปในที่นั้นถือเอาโคมัยของลูกโคน้อยๆที่ยังดื่มนมแม่เป็นอาหาร.
สารีบุตร !
มูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ของตนเอง ยังไม่หมดเพียงใด เราก็ถือมูตร และกรีสนั้นเป็นอาหารตลอดกาลเพียงนั้น.
ดูก่อน สารีบุตร !
นี้แลเป็นวัตรใน มหาวิกฏโภชนวัตร ของเรา.
สารีบุตร !
เราแลเข้าไปสู่ชัฏแห่งป่าน่าพึงกลัวแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแลอยู่. เพราะชัฏแห่งป่านั้นกระทำซึ่งความกลัวเป็นเหตุ ผู้ที่มีสันดานยังไม่ปราศจากราคะ เข้าไปสู่ชัฏป่านั้นแล้ว โลมชาติย่อมชูชันโดยมาก.
สารีบุตร !
เรานั้นในราตรีทั้งหลายอันมีในฤดูหนาวระหว่างแปดวัน เป็นสมัยที่ตกแห่งหิมะอันเย็นเยือกกลางคืนเราอยู่ที่กลางแจ้ง กลางวันเราอยู่ในชัฏแห่งป่า. ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน กลางวันเราอยู่ในที่แจ้ง กลางคืนเราอยู่ในป่า.
สารีบุตร !
คาถาน่าเศร้านี้ อันเราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน มาแจ้งแก่เราว่า :-
"เรานั้นแห้ง (ร้อน) แล้วผู้เดียว, เปียกแล้วผู้เดียว, อยู่ในป่า น่าพึงกลัวแต่ผู้เดียว, เป็นผู้มีกายอันเปลือยเปล่า ไม่ผิงไฟ, เป็นมุนีขวนขวายแสวงหาความบริสุทธิ์." ดังนี้.
สารีบุตร !
เรานั้นนอนในป่าช้า ทับกระดูกแห่งซากศพทั้งหลายฝูงเด็กเลี้ยงโคเข้ามาใกล้เรา โห่ร้องใส่หูเราบ้าง ถ่ายมูตรรดบ้าง ซัดฝุ่นใส่บ้างเอาไม้แหลมๆ ทิ่มช่องหูบ้าง.
สารีบุตร !
เราไม่รู้สึกซึ่งจิตอันเป็นบาปต่อเด็กเลี้ยงโคทั้งหลายเหล่านั้นแม้ด้วยการทำความคิดนึกให้เกิดขึ้น.
สารีบุตร ! นี้เป็นวัตรในการอยู่อุเบกขาของเรา.
สารีบุตร !
สมณพราหมณ์บางพวกมักกล่าวมักเห็นอย่างนี้ว่า "ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร", สมณพราหมณ์พวกนั้นกล่าวกันว่า พวกเราจงเลี้ยงชีวิตให้เป็นไปด้วยผลกะเบา* ทั้งหลายเถิด. สมณพราหมณ์เหล่านั้นจึงเคี้ยวกินผลกะเบาบ้าง เคี้ยวกินกะเบาตำผงบ้าง ดื่มน้ำคั้นจากผลกะเบาบ้าง ยิ่งบริโภคผลกะเบาอันทำให้แปลกๆ มีอย่างต่าง ๆ บ้าง.
สารีบุตร !
เราก็ได้ใช้กะเบาผลหนึ่งเป็นอาหาร.
สารีบุตร !
คำเล่าลืออาจมีแก่เธอว่า ผลกะเบาในครั้งนั้น ใหญ่มากข้อนี้เธออย่าเห็นอย่างนั้น ผลกะเบาในครั้งนั้น ก็โตเท่านี้เป็นอย่างยิ่งเหมือนในครั้งนี้เหมือนกัน.
สารีบุตร !
เมื่อเราฉันกะเบาผลเดียวเป็นอาหาร ร่างกายได้ถึงความซูบผอมอย่างยิ่ง.
- เถาวัลย์อาสีติกบรรพหรือเถากาฬบรรพมีสัณฐานเช่นไร อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา ก็เป็นเหมือนเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
- รอยเท้าอูฐมีสัณฐานเช่นไร รอยตะโพกนั่งทับของเราก็มีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
- เถาวัฏฏนาวฬีมีสัณฐานเช่นใด กระดูกสันหลังของเราก็เป็นข้อๆ มีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
- กลอน (หรือจันทัน) แห่งศาลาที่คร่ำคร่าเกะกะมีสัณฐานเช่นไร ซี่โครงของเราก็เกะกะมีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
- ดวงดาวที่ปรากฏในน้ำในบ่อน้ำอันลึก ปรากฏอยู่ลึกฉันใด ดวงดาวคือลูกตาของเรา ปรากฏอยู่ลึกในเบ้าตาฉันนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
- น้ำเต้าที่เขาตัดแต่ยังอ่อน ครั้นถูกลมและแดดย่อมเหี่ยวยู่ยี่ มีสัณฐานเป็นเช่นไร หนังศีรษะแห่งเราก็เหี่ยวยู่มีสัณฐานเช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
สารีบุตร !
เราตั้งใจว่า ..
- ลูบท้อง ก็ลูบถูกกระดูกสันหลังด้วย,
- ตั้งใจว่าลูบกระดูกสันหลัง ก็ลูบถูกท้องด้วย.
สารีบุตร !
หนังท้อง กับกระดูกสันหลังของเราชิดกันสนิท เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
สารีบุตร !
เราเมื่อคิดว่าจักถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ล้มพับอยู่ตรงนั้น เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
สารีบุตร !
เรา เมื่อจะบรรเทาซึ่งกายนั้นให้มีความสุขบ้าง จึงลูบตัวด้วยฝ่ามือ, เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนที่มีรากเน่าแล้วได้หลุดออกจากกายร่วงไป เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย.
(ต่อจากนี้ มีเรื่องการบริสุทธิ์เพราะอาหารอย่างเดียวกับการบริโภคผลกะเบา ต่างกันแต่แทนผลกะเบา กลายเป็น ถั่วเขียว, งา, ข้าวสาร เท่านั้น. พระองค์ได้ทดลองเปลี่ยนทุกๆ อย่าง. เรื่องตั้งแต่ต้นมา แสดงว่าพระองค์ได้ทรงเคยประพฤติวัตรของเดียรถีย์ ที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค แล้วทุกๆ อย่าง สรุปเรียกได้ว่าส่วนสุดฝ่ายข้างตึง ที่พระองค์สอนให้เว้น ในยุคหลัง. วัตรเหล่านี้สันนิษฐานว่า ทำทีหลัง การไปสำนัก ๒ ดาบส. ถ้าทีหลังก็ต้องก่อนเบญจวัคคีย์ไปอยู่ด้วย ยุติเป็นอย่างไรแล้วแต่จะวินิจฉัย เพราะระยะทำความเพียรนานถึง ๖ ปี ได้เหตุผลเป็นอย่างไรโปรดเผยแผ่กันฟังด้วย).
ตรัสเล่าแก่พระสารีบุตร, บาลี มหาสีหนาทสูตร
สีหนาทวรรค มู.ม. ๑๒/๑๕๕/๑๗๗,
ที่วนสัณฑ์ ใกล้เมืองเวสาลี. |