เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  วัชชิยสูตร : เราไม่ปฏิเสธการบำเพ็ญเพียรของปริพาชกเสียทั้งหมด 236  
 
  (ย่อ)
วัชชิยสูตร

ดูกรคฤหบดี
เราไม่กล่าว ตบะทั้งหมด ว่าควรบำเพ็ญ
เราไม่กล่าว ตบะทั้งหมด ว่าไม่ควรบำเพ็ญ

เราไม่กล่าว การสมาทานทั้งหมด ว่า ควรสมาทาน
เราไม่กล่าว การสมาทานทั้งหมด ว่า ไม่ควรสมาทาน

เราไม่กล่าว การเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมด ว่า ควรเริ่มตั้งความเพียร
เราไม่กล่าว การเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมด ว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร

เราไม่กล่าว การสละทั้งหมดว่า ควรสละ
เราไม่กล่าว การสละทั้งหมดว่า ไม่ควรสละ

เราไม่กล่าว การหลุดพ้น ทั้งหมดว่า ควรหลุดพ้น
เราไม่กล่าว การหลุดพ้น ทั้งหมดว่า ไม่ควรหลุดพ้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พระผู้มีพระภาค ไม่ปฏิเสธการบำเพ็ญเพียรของปริพาชกเสียทั้งหมด แต่จะพิจารณาว่า
ข้อปฏิบัตินั้น ทำให้ อกุศลเจริญ หรือทำให้ กุศลเจริญ
หากเป็นข้อปฏิบัติที่ ทำให้ อกุศลเจริญ กุศลเสื่อม ก็จะปฏิเสธในข้อวัตรนั้น (ไม่เห็นด้วย)
แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติแล้ว ทำให้ อกุศลเสื่อม กุศลเจริญ ก็จะไม่ปฏิเสธข้อวัตรนั้น (เห็นด้วย)

 

พระไตรปิฎกไทย(ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๕ ข้อที่ ๙๔

วัชชิยสูตร


             [๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้เมืองจัมปา ครั้งนั้นแล วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้ออกจากเมืองจัมปาแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้มีความคิดว่า มิใช่เวลาเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก่อน เพราะพระผู้มีพระภาคยังทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่กาลเพื่อจะเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังใจให้เจริญ เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด

ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้เข้าไปยังอารามของ อัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก กำลังร่วมประชุมกัน บันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถา หลายอย่าง พวกเขาเห็นวัชชิยมาหิตคฤหบดี กำลังเดินมา แต่ไกล ครั้นแล้วจึงยังกันและกันให้หยุดด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้เปล่งเสียง วัชชิยมาหิตคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังเดินมา

วัชชิยมาหิตคฤหบดีนี้ เป็นสาวกคนหนึ่ง ในบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว ซึ่งเป็น สาวก ของพระสมณโคดม อาศัยอยู่ในเมืองจัมปา ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉน เขาทราบบริษัทผู้มีเสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา

ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ วัชชิยมาหิตคฤหบดีก็เข้าไปหาพวกปริพาชกถึง ที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ได้กล่าวกะท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีว่า

ดูกรคฤหบดี ได้ยินว่าพระมหาสมณโคดม ทรงติเตียนตบะทั้งหมด เข้าไปด่า เข้าไปว่าร้าย ผู้มีตบะ ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยอาการเศร้าหมองทั้งหมด โดยส่วนเดียว จริงหรือ ฯ

วัชชิยมาหิตคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรง ติเตียน ตบะทั้งหมดหามิได้ เข้าไปด่า เข้าไปว่าร้ายผู้มีตบะ ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยอาการ เศร้าหมองทั้งหมด โดยส่วนเดียวก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญ ผู้ที่ควรสรรเสริญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนอยู่ ทรงสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงมีปรกติตรัสแยกกัน ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคนั้นมิใช่มีปรกติตรัสโดยส่วนเดียว ฯ

เมื่อวัชชิยมาหิต คฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่ง จึงกล่าวกะวัชชิยมาหิต คฤหบดีว่า ท่านหยุดก่อน คฤหบดี พระสมณโคดมที่ท่านกล่าวสรรเสริญ เป็นผู้แนะนำ ในทางฉิบหาย เป็นผู้ไม่มีบัญญัติ

วัชชิยมาหิตคฤหบดีตอบว่า ท่านผู้เจริญ แม้ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะกล่าว กะท่านอาวุโส ทั้งหลาย โดยชอบธรรม พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็น อกุศล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิ่งที่เป็นกุศล และอกุศลไว้ดังนี้ จึงชื่อว่า ทรงเป็นผู้มี บัญญัติ พระผู้มีพระภาคนั้นมิใช่ผู้แนะนำในทางฉิบหาย ไม่ใช่ผู้ไม่มีบัญญัติ

เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกทั้งหลายได้เป็นผู้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีทราบว่า ปริพาชก เหล่านั้น เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น ทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทุกประการ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละคฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษ ให้เป็นการ ข่มขี่ ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล
---------------------------------------------------------------------------

ดูกรคฤหบดี
เราไม่กล่าว ตบะ ทั้งหมด ว่าควรบำเพ็ญ
เราไม่กล่าว ตบะ ทั้งหมดว่า ไม่ควรบำเพ็ญ

เราไม่กล่าวการ สมาทาน ทั้งหมดว่า ควรสมาทาน
เราไม่กล่าวการ สมาทาน ทั้งหมดว่า ไม่ควรสมาทาน

เราไม่กล่าวการ เริ่มตั้งความเพียร ทั้งหมดว่า ควรเริ่มตั้งความเพียร
เราไม่กล่าวการ เริ่มตั้งความเพียร ทั้งหมดว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร

เราไม่กล่าว การสละ ทั้งหมดว่า ควรสละ
เราไม่กล่าว การสละ ทั้งหมดว่า ไม่ควรสละ

เราไม่กล่าว การหลุดพ้น ทั้งหมดว่า ควรหลุดพ้น
เราไม่กล่าว การหลุดพ้น ทั้งหมดว่า ไม่ควรหลุดพ้น
---------------------------------------------------------------------------

ดูกรคฤหบดี
เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป
เรากล่าวการบำเพ็ญตบะเห็นปานนี้ว่า ไม่ควรบำเพ็ญ

ก็เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการบำเพ็ญตบะเห็นปานนั้นว่า ควรบำเพ็ญ
---------------------------------------------------------------------------
เมื่อบุคคลสมาทานการสมาทานอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสมาทาน

เมื่อบุคคลสมาทาน การสมาทานอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ควรสมาทาน
---------------------------------------------------------------------------

อีกประการหนึ่ง

เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป
เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรเริ่มตั้ง

เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง
เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ควรเริ่มตั้ง
---------------------------------------------------------------------------

อีกประการหนึ่ง
เมื่อบุคคลสละซึ่งการสละอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป
เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสละ

เมื่อบุคคลสละการสละอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง
เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ควรสละ
---------------------------------------------------------------------------

อีกประการหนึ่ง
เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป
เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรหลุดพ้น

เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่
อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง
เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่า ควรหลุดพ้น
---------------------------------------------------------------------------

ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแล ผู้มีกิเลสเพียงดังว่าธุลีในปัญญาจักษุน้อย ในธรรมวินัยนี้ ตลอดกาลนาน ภิกษุแม้นั้น พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลาย ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยชอบธรรม เหมือนอย่างวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนี้แล

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์