พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
๗. กามสูตร
[๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลาย หมกมุ่นอยู่ในกาม กุลบุตรผู้ละเคียว และคานหาบหญ้าออกบวชเป็นบรรพชิต ควรเรียกว่าเป็นกุลบุตร ผู้มีศรัทธาออกบวช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาควรได้กามด้วยความเป็นหนุ่ม และกามเหล่านั้น ก็มีอยู่ตามสภาพ คือ เลว ปานกลาง และประณีต
กามเลว (หีนา กามา)
กามปานกลาง (มชฺฌิมา กามา)
กามประณีต (ปณีตา กามา)
กามทั้งหมด ก็ถึงการนับได้ว่าเป็นกามทั้งนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย พึงเอาชิ้นไม้ หรือ ชิ้นกระเบื้องใส่ เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึงสนใจในเด็กนั้นทันที แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องออกโดยเร็ว ถ้าไม่สามารถนำออกโดยเร็วได้ ก็พึงเอามือซ้ายจับ งอนิ้วมือข้างขวา แล้วแยงเข้าไป นำออกมา ทั้งที่มีโลหิต
ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะว่าจะมีความลำบากแก่เด็ก เราไม่กล่าวว่า ไม่มีความลำบาก และพี่เลี้ยงผู้หวัง ประโยชน์ มุ่งความสุขอนุเคราะห์ พึงกระทำอย่างนั้นด้วยความอนุเคราะห์
แต่เมื่อใด เด็กนั้นเจริญวัย มีปัญญาสามารถ เมื่อนั้นพี่เลี้ยงก็วางใจในเด็กนั้น ได้ว่า บัดนี้ เด็กมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรพลั้งพลาด ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ที่เราต้องรักษาเธอ ตลอดเวลาที่เธอยัง
ไม่กระทำ ด้วย ศรัทธา ในกุศลธรรม
ไม่กระทำ ด้วย หิริ ในกุศลธรรม
ไม่กระทำ ด้วย โอตตัปปะ ในกุศลธรรม
ไม่กระทำ ด้วย วิริยะ ในกุศลธรรม
ไม่กระทำ ด้วย ปัญญา ในกุศลธรรม
(กำลังของ เสขบุคคล ๕ ประการ P262)
แต่เมื่อใด ภิกษุ
กระทำ ด้วยศรัทธา ในกุศลธรรม
กระทำ ด้วยหิริในกุศลธรรม
กระทำ ด้วยโอตตัปปะในกุศลธรรม
กระทำ ด้วยวิริยะในกุศลธรรม
กระทำ ด้วยปัญญาในกุศลธรรม
(กำลังของ อเสขบุคคล ๕ ประการ P262)
เมื่อนั้น เราก็ย่อมวางใจในเธอได้ว่า บัดนี้ ภิกษุมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรประมาท
|