|
(ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ – หมวดที่ ๖ หน้าที่ ๒๗๑-๓.)
กามทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นอย่างไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณทั้งหลาย ๕ ประการ เหล่านี้ คือ
- รูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วย จักษุ..
- เสียงทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วย โสตะ..
- กลิ่นทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วย จมูก..
- รสทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วย ลิ้น..
- สัมผัสผิวหนัง อันจะพึงสัมผัสด้วย กาย
อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา (อิฏฐา) น่าใคร่ (กนฺตา) น่าพอใจ (มนาปา) มีลักษณะอัน น่ารัก (ปิยะรูปา) เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งความใคร่ (กามูปสญฺหิตา) เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด (รชนิยา) มีอยู่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
อารมณ์ทั้งหลาย ๕ ประการเหล่านี้หาใช่กามไม่ในอริยวินัย เรียกอารมณ์ทั้งหลาย ๕ ประการเหล่านี้ว่า "กามคุณ"(หาเรียกว่ากามไม่) แต่ว่าความกำหนัดไปตามอำนาจ ความตริตรึก (สงฺกปฺปราค) นั่นและคือกามของคนเรา
อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลาย ในโลก นั้น หาใช่กามไม่
ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก นั่นแหละคือกามของคนเรา
อารมณ์อันวิจิตร ก็มีอยู่ในโลก ตามประสาของมันเท่านั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงนำออกเสียซึ่งฉันทะ ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิทานแห่งสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกามทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นิทานสัมภวะแห่งกามทั้งหลาย คือ ผัสสะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็เวมัตตตา(ประมาณต่างๆ) แห่งกามทั้งหลายเป็นอย่างไรเล่า?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เวมัตตตาแห่งกามทั้งหลาย คือ ความใคร่ (กาม)ในรูปารมณ์ก็อย่างหนึ่ง ๆ
ความใคร่ในสัททารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ
ความใคร่ในคันธารมณ์ก็อย่างหนึ่ง ๆ
ความใคร่ในรสารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ
ความใคร่ในโผฏฐัพพารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้เราเรียกว่า เวมัตตตาแห่งกามทั้งหลาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิบากแห่งกาม ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! บุคคลมีความใคร่ในอารมณ์ใดอยู่ ย่อมยังอัตตภาพอันเกิดจากกามในอารมณ์นั้น ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญบ้าง มีส่วนแห่งบุญหามิได้บ้าง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกามทั้งหลาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธแห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกาม มี เพราะความดับแห่งผัสสะ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล คือนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกาม,
ข้อนั้นได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.(มรรคแปด)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล
อริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่งกามทั้งหลายอย่างนี้, (รู้ทุกข์)
ซึ่งนิทานสัมภวะแห่งกามทั้งหลายอย่างนี้, (รู้สมุทัย)
ซึ่งเวมัตตตาแห่งกามทั้งหลายอย่างนี้, (รู้นิโรธ)
ซึ่งวิบากแห่งกามทั้งหลายอย่างนี้, (รู้นิโรธ)
ซึ่งนิโรธแห่งกามอย่างนี้ (รู้นิโรธ)
ซึ่งนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกามอย่างนี้; (รู้มรรค)
ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์ อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสนี้ว่า เป็นที่ดับแห่งกาม (กามนิโรธ).
|